‘อีสานตุ้มโฮม’ สื่อพื้นบ้านสานวัฒนธรรมข้ามรุ่น
เสริมคุณค่า ฟื้นศิลปะดั้งเดิมท้องถิ่นไทย
ไม่นานหลังจากท้องฟ้าสดใสแปรเปลี่ยนเป็นอึมครึมไร้แดด เมฆตั้งเค้าทะมึน ฝนห่าใหญ่ก็กระหน่ำเทลงมามอบความชุ่มฉ่ำให้กับหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำมูลแห่งนี้ ชุมชนบ้านค้อใต้ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี วางตัวอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล บนพื้นที่ใต้แก่งสะพืออันอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาที่ชุกชุมมากที่สุด
กระท่อมหลังเล็กๆ ปลูกกระจัดกระจายอยู่ใกล้กันกว่าร้อยหลังคาเรือนเหล่านี้ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านพรานปลา เพราะทุกคนมีอาชีพหลักคือการหาปลา โดยมี ตุ้ม (ขนาดใหญ่) เป็นเครื่องมือการทำประมง อันถือเป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการหาปลา ด้วยวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธี เช่น ใส่ลาน หว่านแห ใส่เบ็ดราว ดักตาข่ายทั้งเล็กและใหญ่ เป็นต้น
วันนี้ดูเหมือนจะเป็นวันพิเศษอีกวันหนึ่งของหมู่บ้านค้อใต้อันเงียบสงบ เพราะเหล่าบรรดาชาวบ้าน นำโดยผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มสาว และเด็กตัวเล็กตัวน้อยต่างพร้อมใจกันตื่นแต่เช้ามืด จัดแจงหุงข้าวปลาอาหารและลงมือทำความสะอาดชุมชนครั้งใหญ่ เพื่อตระเตรียมสถานที่รองรับแขกผู้มาเยือนต่างถิ่น
“อีสานตุ้มโฮม มาระมาโรม สื่อพื้นบ้านสานสุข” เป็นชื่อของงานประเพณีวัฒนธรรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานกันกับโครงการสื่อพื้นบ้านสานสุขภาคอีสาน จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณค่าของสื่อพื้นบ้าน พัฒนาศักยภาพ สืบสานภูมิปัญญา สร้างสุขภาวะเยาวชนและชุมชน ผ่านสื่อพื้นบ้านสานสุข โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบทมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่มดินสอสี
“หลังการสร้างเขื่อนปากมูลทำให้วิถีชีวิตบ้านค้อใต้เปลี่ยนแปลงไป การหาปลายากลำบากมากขึ้น ไหนจะตามมาด้วยปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ปัญหาความยากจน ผลักดันให้คนหนุ่มสาวมุ่งหน้าไปหางานทำยังต่างถิ่น จากนั้นชุมชนก็เกิดปัญหาครอบครัว เด็กติดเกมติดยา ขาดโอกาสทางการศึกษา และเมื่อลงท้ายที่ชุมชนไม่เข้มแข็ง วัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ก็เริ่มขาดช่วงและค่อยๆ เลือนหายไป
เราก็มานั่งคิดว่า เอ๊ะ จะทำอย่างไรดีหนอ ให้บ้านเรากลับมาเป็นปึกแผ่นเหมือนเดิม มานึกได้ว่าเดิมทีบ้านเราแถบนี้ขึ้นชื่อในเรื่องหมอลำ เรามีจุดเด่นตรงนี้เลยมีแนวคิดที่จะย้อนกลับไปหารากเหง้าอันแท้จริงนั่นก็คือ ‘สื่อพื้นบ้าน’ โดยการนำศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาเป็นตัวเชื่อมร้อย เพราะมิติทางวัฒนธรรมนั้นทุกคนสามารถเข้ามาได้หมด” เป็นคำกล่าวของ ทองปน ชัยคำ ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ซึ่งรับหน้าที่บอกเล่าความเป็นมาของการฟื้นฟูสื่อพื้นบ้านดั้งเดิมของท้องถิ่นขึ้นมาอีกครั้ง
ณ ศาลากลางบ้าน ชุมชนบ้านค้อใต้ในยามนี้ เวทีสำหรับการแสดงถูกตั้งขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอบๆ บริเวณมีเต็นท์ซึ่งข้างในจัดเป็นซุ้มกิจกรรมพื้นบ้านของภาคอีสานมากมาย โดยเยาวชนและศิลปินพื้นบ้านจาก 7 โครงการนับร้อยชีวิต เช่น กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์สื่อพื้นบ้านเพลงโคราช จาก จ.นครราชสีมา คืนสู่รากเหง้าวัฒนธรรมพื้นถิ่นกับละครหุ่นเงาอีสาน “สินไซ” จาก จ.มหาสารคาม ฮูปแต้ม : ผลงานของนิสิตชมรมศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณฮูปแต้มอีสานจากสิมโบสถ์โบราณ ผสานวิถีการแสดงละครหุ่นเงาร่วมสมัยไม่เหมือนใคร ค่ายศิลปะตุ้มพี่ตุ้มน้อง นำฮอยฮูปแต้ม แนมเบิ่งมูลมัง ที่สร้างสรรค์ภาพวาดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน
ต่อด้วยกันตรึมวัยใสใจสุขภาวะชุมชนจากจ.สุรินทร์ สืบสานการเรียนรู้โส้ทั่งบั้ง (ชนเผ่าพื้นเมืองของภาคอีสาน) เพื่อสุขภาวะเยาวชนจาก จ.นครพนมและโครงการเยาวชนฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน เจ้าบ้านในวันนี้ ที่จะมาพลิกฟื้นคืนวิถีชีวิตชุมชนคนหาปลาแห่งลำน้ำมูล สร้างห้องเรียนธรรมชาติ สานต่อภูมิปัญญาไทบ้าน และแสดงศิลปะพื้นบ้านโปงลางโฮแซวและหมอลำน้อยแห่งบ้านค้อใต้
“อีสานตุ้มโฮม คำว่าตุ้มโฮม ก็หมายถึงการที่ผู้คนมารวมตัวกันเยอะๆ อีกคำคือ มาระมาโรม เป็นภาษาโคราช ก็มีความหมายเดียวกัน คือร่วมแรงร่วมใจกัน” เป็นคำตอบเสียงใสจาก เซียง เด็กน้อยวัย 8 ขวบ ที่ให้ความกระจ่างในความหมายของคำพื้นถิ่นอีสาน
แดดร่มลมตก ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำลงก่อนจะค่อยๆ หายไปพร้อมกับการมาถึงของความมืด แสงจากเทียนเล่มน้อยหลายเล่มสว่างวับแวมเรียงรายไปตามทาง นำไปสู่เวทีใหญ่อันจัดจ้าด้วยสปอตไลต์หลากหลายสีสันประกอบกับเสียงเพลงท้องถิ่นอีสานที่บรรเลงมอบความครึกครื้นมีชีวิตชีวาให้กับบรรยากาศโดยรอบ พ่อค้าแม่ค้าหาบตะกร้าใส่ขนม ทั้งข้าวหลาม ข้าวโป่ง ข้าวต้มมัด ดึงดูดความสนใจได้ไม่น้อย ผู้คนอาบน้ำแต่งตัวสวยงามหอมฟุ้งเริ่มทยอยเดินทางกันเข้ามาจนแน่น รอชมการแสดงที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในไม่ช้า
พาฝัน คำหล้า สาวน้อยวัย 17 ปี สมาชิกวงกันตรึมวัยใสจาก จ.สุรินทร์ บอกเสียงดังฟังชัดว่า นี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วในสมัยนี้ ที่จะรวมเอาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานในแต่ละท้องถิ่นนำมาแสดงให้คนได้ดูพร้อมๆ กันเหมือนงานนี้
“รู้สึกประทับใจมากค่ะ ที่เกิดมาได้มีโอกาสเห็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น หลายอย่างหาดูแทบไม่ได้แล้วในปัจจุบัน มันทำให้รู้สึกว่าภาคอีสานเรามีของดีอยู่มากมาย มีมานานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่มันค่อยๆ หายไปจนไม่มีให้เห็นในรุ่นนี้ การที่พวกเราเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้นำศิลปะพื้นบ้านของตัวเองกลับมาฟื้นฟูสืบสานอีกครั้งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยค่ะ”
ขณะที่ รศ.ดวงพร คำนูณวัฒน์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ยืนสังเกตการณ์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม กล่าวสั้นๆ แต่กินใจว่า วันนี้เป็นวันดี แต่ละคนต่างเดินทางมาไกล เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันทำสิ่งดีๆ กันที่นี่ จนรู้สึกว่าเหมือนทุกคนมีหัวใจเป็นดวงเดียวกัน
“งานนี้เยาวชนทุกคนคือพระเอกนางเอกของงาน น้องๆ เขาทำให้พวกเราได้รู้ว่าสื่อพื้นบ้านทรงพลังเป็นอย่างมาก อย่าดูถูกศิลปวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาในท้องถิ่นของเรา เพราะในเมื่อเรามีพลังอยู่ในมือ เราก็สามารถสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงชุมชนไปในทางที่ดีได้ด้วยสื่อพื้นบ้านเหล่านี้แหละค่ะ” เธอว่า
นาฬิกาบอกเวลาทุ่มตรง ก็มาถึงไฮไลต์อันสุดแสนวิเศษของงานนั่นคือการแสดงสื่อพื้นบ้านของเยาวชนจากทั้ง 7 โครงการ เริ่มจากการครวญเพลงโคราชอันหาดูได้ยากเย็นยิ่งในยุคนี้ โดยเหล่าหมอเพลงโคราชตัวน้อย ลีลาไม่ธรรมดา เนื้อหาพูดเกี่ยวกับการรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้าบุหรี่ ตามมาด้วยการบรรเลงเพลงชีวิต กันตรึมวัยใสจาก จ.สุรินทร์ สะท้อนวิถีชุมชนได้อย่างถึงแก่น ก่อนจะหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็งด้วยคณะหมอลำฮูปแต้ม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มาถึงตรงนี้เสียงกรี๊ดสะใจจากผู้ชมดังสนั่นไปทั่ว จากนั้นกลุ่มละครเงาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามก็จะมาสืบสานฮูปแต้มอีสานจากสิม (อุโบสถ) ผ่านการแสดงละครเงาร่วมสมัย
ยิ่งดึกคนยิ่งคึกคัก อากาศก็เป็นใจเย็นสบายไม่ร้อนอบอ้าวดังที่หลายคนคาด กลุ่มหมอลำน้อยแห่งบ้านค้อใต้และโปงลางโฮแซวเจ้าถิ่น ก็ขึ้นเวทีโชว์ศิลปะพื้นบ้านอันเลื่องชื่อของตัวเองให้พ่อแม่พี่น้องและแขกผู้มาเยือนได้ยล และต่อด้วยการแสดงของชาวเผ่าไทโส้ ผ่านดนตรีพื้นบ้านและเครื่องแต่งกายพื้นเมือง โดยกลุ่มโรงเรียนบ้านโพนจาน จ.นครพนม และรำฟ้อนดาบแบบล้านนาโบราณ โดยอาคันตุกะจากโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่
และสุดท้ายที่ทุกคนรอคอย กับการคืนสู่รากเหง้าวัฒนธรรมพื้นถิ่นละครหุ่นเงาอีสาน “สินไซ” จากมหาสารคาม นำหนังบักตื้อ หรือหนังตะลุงอีสาน มาร้อยเรียงเรื่องราวนิทานพื้นบ้านเรื่องตำนานเจ้าชายสินไซแสนสนุก มาโชว์ให้ดูท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องด้วยความชื่นชมยินดี
“ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น ล้วนเป็นมรดกอันล้ำค่าที่เรามีมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ถ้าเราไม่รู้จักรักษาสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้เอาไว้ วัฒนธรรมต่างถิ่นจากข้างนอกก็อาจจะเข้ามากลืนวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราจนหมดไป เรื่องสื่อพื้นบ้านเป็นเรื่องที่ลืมมิได้ การใช้สื่อพื้นบ้านเป็นตัวเชื่อมให้เด็กเริ่มหันมาเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ถือเป็นพลังที่ทำให้เขามีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของเขา และนำไปสู่วิถีสุขที่ยั่งยืน
เราก็หวังว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จะฟื้นฟูสืบสาน และพัฒนาสื่อพื้นบ้านของท้องถิ่นตัวเองให้เจริญงอกงามต่อไป จากที่เราได้เห็นงานในวันนี้เราได้รู้แล้วว่าเราทำมันสำเร็จ แต่งานนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าชุมชนเล็กๆ ลงมือทำเพียงชุมชนเดียว แต่นี่เรามาร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสานอันดีงามให้คงอยู่ต่อไป” ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. สรุปไว้ชัดเจนถึงความสำเร็จของงานในวันนี้
การแสดงสุดท้ายจบลงในเวลาเกือบเที่ยงคืน ผู้คนทยอยกันเดินทางกลับบ้าน ทำเอาลานนั่งชมหน้าเวทีแลดูว่างเปล่าเงียบเชียบ
วันนี้คงเป็นวันอันสุดแสนวิเศษอีกวันหนึ่งของชุมชนบ้านค้อใต้เพราะนอกจากจะได้เพลิดเพลินกับการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานอย่างจุใจแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านได้รู้ว่าสื่อพื้นบ้านของพวกเขาและพี่น้องท้องถิ่นอื่นๆ นั้นมีคุณค่างดงามเพียงใด
เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นและจบลงในค่ำคืนนี้ ทุกคนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะติดตรึงอยู่ในหัวใจทุกดวง ตราบนานเท่านาน
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 24-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก