อียูระงับนำเข้า ผัก-สมุนไพรสดของไทย 8 ชนิด

สถาบันอาหารเตือนอันตรายจากเชื้อโรคเสี่ยงอาหารเป็นพิษ

 อียูระงับนำเข้า ผัก-สมุนไพรสดของไทย 8 ชนิด

          สถาบันอาหารชี้สมุนไพร พืชผักสด เสี่ยงเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ท้องร่วงเฉียบพลัน  เตือนเกษตรกร ผู้ประกอบการเข้มงวดหลักการปฏิบัติการเกษตรที่ดี ลดการปนเปื้อน สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก่อนถูกอียู ระงับนำเข้าสินค้าผักและสมุนไพร

 

          ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปี 2548  นอร์เวย์ตรวจพบเชื้อก่อโรค ซาลโมเนลลา และ อี.โคไล ปนเปื้อนในสมุนไพรและผักสดที่นำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยต่อเนื่องหลายครั้ง ส่งผลให้นอร์เวย์ระงับการนำเข้าผักและสมุนไพรสดของไทย 8 ชนิดชั่วคราว ได้แก่ ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ใบกะเพรา ใบโหระพา ผักคะแยง ใบสะระแหน่ ผักแพวและต้นหอม  และในปีเดียวกันอังกฤษและฟินแลนด์ตรวจพบเชื้อ ซาลโมเนลลา และ อี.โคไล ปนเปื้อนในผักสดที่นำเข้าจากไทย  ส่งผลให้ไทยต้องจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมการปนเปื้อนเพื่อทำให้อียูมั่นใจว่าสินค้าไทยมีมาตรการควบคุมการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคที่ดีเพียงพอ และในปี 2550 เดนมาร์กมีผู้ป่วยด้วยอาการปวดท้องนำส่งโรงพยาบาลกว่าร้อยคน หลังรับประทานข้าวโพดอ่อนนำเข้าจากไทย

 

          ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า พืชผักสดจะเป็นต้นตอสำคัญที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาด และสร้างความเสียหายในวงกว้างได้ในอนาคต เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมและพฤติกรรมการบริโภคของหลายประเทศรวมถึงไทยจะรับประทานสมุนไพรและพืชผักดิบๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ และท้องร่วงเฉียบพลันได้

 

          เชื้อก่อโรคสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดในพืชผักและสมุนไพรสดมี 2 ชนิดคือ ซาลโมเนลลา ทำให้อาหารเป็นพิษ และเชื้อ อี.โคไล 0157:h7  ทำให้เกิดท้องร่วงเฉียบพลัน วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในพืชผักสด ผู้บริโภคควรเลือกซื้อพืชผักสดที่ไม่ช้ำและไม่มีรอยถลอกปอกเปิก เก็บรักษาพืชผัก สมุนไพรสด ในตู้เย็น หรือแช่เย็นในที่สะอาดและมีอุณหภูมิต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส และแยกพื้นที่เก็บจากเนื้อสัตว์สด  ล้างมือ 20 วินาทีด้วยน้ำอุ่นและถูสบู่ก่อน ล้างพืชผักสดผ่านน้ำไหลและปรุงสุกทุกครั้งทั้งพืชผักปกติ และพืชผักอินทรีย์”

 

          ส่วนเกษตรกรและผู้ประกอบการควรนำหลักการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (good agricultural practices : gaps) สำหรับพืช และหลักเกณฑ์วิธีที่ดีใน การผลิต (good manufacturing practices : gmps) ไปใช้ เพื่อให้รู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และหาวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงการปนเปื้อน รวมทั้งจัดการต้นตอสำคัญที่ทำให้เชื้อปนเปื้อน ได้แก่ การปลูก  ดินและน้ำที่ใช้ปลูก สถานที่เก็บ ร้านค้าจำหน่ายดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update : 03-10-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code