อิ่มและดี 2030 (Healthy Diets for All) ขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืนสู่เวทีโลก
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ยังมีอีกหนึ่งภัยด้านสุขภาพที่คุกคามคนทั้งโลก โดยเฉพาะ คนไทยไปอย่างเงียบ ๆ นั่นคือ พฤติกรรมการไม่กินผักและผลไม้ แม้ผลการศึกษาจะพบว่าคนไทยกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงกินไม่ถึงตามเกณฑ์ที่แนะนำในแต่ละวัน โดยในปี 2562 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบคนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป รับประทานผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 400 กรัมต่อวัน ถึงร้อยละ 65.5
ยิ่งในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ย่างกรายเข้ามาทุกพื้นที่ของประเทศไทยและทั่วโลก ยิ่งเพิ่มความท้าทายในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการกินผักและผลไม้ เมื่อพบว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยกลุ่มที่มีรายได้น้อยกินผลไม้ลดลงถึงร้อยละ 47.1 เหตุผลสำคัญ คือ มีเงินไม่พอซื้ออาหาร โดย คนไทยกลุ่มนี้ ร้อยละ 53.7 มีอาหารไม่พอรับประทาน เพราะมีเงิน ไม่พอ
เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงการบริโภคผักและผลไม้ให้เพียงพอในแต่ละวัน และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน "อิ่มและดี 2030" (Healthy Diets for All) เพื่อต่อยอดพันธกิจและผลการดำเนินงาน และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการสนับสนุนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021)
จุดเริ่มต้นของความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานครั้งนี้ มาจากเวที ชวนคิด…ชวนคุย ระดับชาติ (National Dialogues) ที่จัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง จนเกิดแนวทางและมาตรการที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการพลิกโฉมระบบอาหารไทย เพื่อไปสู่ระบบอาหารที่ดี ยั่งยืน และเป็นธรรมมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals 2030 : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้าน "การยุติความหิวโหย การบรรลุ ความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน" ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกต่อไป
การขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน มีภารกิจที่สำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ "Healthy Diets for All" เพื่อต่อยอดความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2. การสร้าง องค์ความรู้และระบบรองรับการดำเนินงาน 3. การพัฒนาระบบ การจัดการร่วมกันเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ และ 4. การสื่อสารสังคม เพื่อเสนอประเด็นสำคัญต่อสาธารณะ จนเกิดการรับรู้ ตระหนัก และสานเสริมพลังขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน
นอกเหนือจากนี้ ด้วยความมุ่งมั่น และการรขับเคลื่อนงาน สร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ที่ดำเนินงานตลอด 20 ปี มีจุดมุ่งหมาย ในการสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพดี 4 มิติสำคัญ คือ กาย จิต ปัญญา สังคม โดยอาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จากคำกล่าวของผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ว่า ถ้ากินอาหารดีต่อสุขภาพ ก็ช่วยป้องกันโรค ทำให้เราสุขภาพแข็งแรง ซึ่ง สสส. มียุทธศาสตร์การทำงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต้นแบบระบบห่วงโซ่อาหาร โดยบูรณาการทำงานระหว่างภาคีเครือข่าย ในการรวบรวมองค์ความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดทำฐานข้อมูลวิชาการ การพัฒนานโยบายสาธารณะ ถอดบทเรียน และสื่อสารความรู้สู่สังคม เพื่อให้ผู้บริโภค เข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยในครัวเรือน โรงเรียน และองค์กร
"ข้อสำคัญสำหรับความร่วมมือครั้งนี้ คือ มุ่งเน้นขับเคลื่อน บังคับใช้ และประเมินผลนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดอาหารเพื่อสุขภาวะ ที่ส่งผล ต่อการปรับปรุงเชิงโครงสร้างทั้งการควบคุม และส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงสิทธิความเป็นพลเมืองอาหาร ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อน ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ"
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ" เป็นมติจากคณะรัฐมนตรี ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วม และเห็นชอบการวางกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับทุกภาวะวิกฤติ โดยมีสาระสำคัญในการดำเนินการในระดับนโยบาย เช่น การบัญญัติ "สิทธิในอาหาร" ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดเป้าหมายร่วม เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการปัญหาเพื่อ "ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ" ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13
สำหรับ กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ที่เป็นแนวทางการจัดการด้านอาหารของประเทศในด้านความมั่นคงอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และอาหารศึกษา ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหารจากภาคการเกษตร การแปรรูป การบริการ สู่โภชนาการ สุขภาพผู้บริโภค ตลอดจนถึงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การบริการและการค้า ซึ่งมีการนำหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นหลักคิดพื้นฐานในการวางกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติอย่างสมดุล
ซึ่งรวมถึงยุทธศาสตร์ ด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่ มีหลักการที่สำคัญ คือ การก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน มุ่งเน้น ขับเคลื่อนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศที่ครอบคลุมตั้งแต่ ความมั่นคงและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัย การผลิต การบริหารจัดการในห่วงโซ่อาหารให้เกิดการผลิตและระบบการกระจาย อาหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการกระจายอาหารที่ส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อโภชนาการ และสุขภาวะของประชาชน
ท้ายที่สุดแล้ว การร่วมมือครั้งสำคัญของ 3 หน่วยงานครั้งนี้ จะเป็นการพลิกโฉมระบบอาหารไทย ไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้การสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับพื้นที่ สังคมและประเทศ เพื่อประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยอย่างทั่วถึง อิ่มอย่างมีคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้