อิ่มท้อง สมองแล่น ด้วย ‘วิชาผัก’
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เนื่องจากพื้นที่ตำบลแหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวน ค้าขาย และทำประมง เป็นหลัก เศรษฐกิจอยู่เกณฑ์ค่อนข้างดี โดยเฉพาะระบบการศึกษาเนื่องจากตัวไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก พ่อแม่ผู้ปกครองที่ฐานะดีหน่อยก็จะส่งลูกหลานไปเรียนในเมือง หรือโรงเรียนใหญ่ในพื้นที่
แต่สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งที่เป็นแรงงานจากต่างถิ่น รวมถึงต่างด้าวที่มีอาชีพรับจ้างซึ่งอาศัยในพื้นที่หมู่ 5 ต.แหลมกลัด และไม่ได้มีฐานะดีนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเลือกโรงเรียนวัดสะพานหิน ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสประจำชุมชน เป็นที่เล่าเรียนให้กับลูกหลาน
ด้วยความจำเป็นของชีวิต ที่จะต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน ทำให้เด็กๆ ขาดโอกาส และขาดสิ่งที่ดีที่ชีวิตควรจะได้รับในวัยนี้ เพราะแม้แต่เงินมาโรงเรียนก็ยังไม่มี บางรายข้าวเช้ายังไม่ได้ทานมาจากบ้าน เด็กๆ จึงเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ
ทางโรงเรียนวัดสะพานหินจึงประสาน หน่วยงานทั้งส่วนราชการและภาคเอกชนในการของบประมาณมาสนับสนุนเพื่อให้เด็กๆ ทั้ง 143 คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในปี 2560 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดทำโครงการ "การส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้เพื่อ สุขภาพภายในโรงเรียน" โดยเชื่อว่า เมื่อเด็กได้กินอิ่ม เล่นอย่างสมวัย ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่ดี การเรียนก็มีสุขได้ตามมา
ดร.มุทิตา แพทย์ประทุม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสะพานหิน กล่าวว่า โรงเรียนมีอาหารมื้อกลางวันให้เด็กรับประทานตามปกติ แต่สำหรับพื้นที่ให้บริการของโรงเรียน พบว่า เด็กหลายราย ทางบ้านมีฐานะยากจน ไม่ได้กินข้าวเช้ามาจากบ้าน เมื่อเด็กไม่อิ่ม การเรียนก็ไม่มีประสิทธิภาพ
"เราก็บอกว่า มาโรงเรียนเถอะมาที่นี่ไม่มีอด เรามีอาหารเช้าและกลางวันให้ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบและงบประมาณค่อนข้างเยอะ จึงได้เข้าร่วมโครงการกับ สสส. เพื่อจัดสรรพื้นที่เป็นแปลงผักและเพื่อเป็นการส่งเสริม การบริโภคผักและผลไม้มากกว่าการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์" ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสะพานหิน บอก
ผักบุ้ง ถั่วพลู มะเขือ ถั่วงอก ถั่วฝักยาว กะเพรา ตะไคร้ ใบยี่หรา ข้าวโพด พริก แตงกวา และ เห็ดนางฟ้า คือ ผลผลิตที่ได้และนำไปทำเป็นเมนูอาหารให้เด็กรับประทาน "ทุกเมนูต้องมีผักเป็นส่วนประกอบ" โดยเมนูยอดฮิตที่เด็กๆ ชอบมากที่สุด คือ ผัดกะเพรา ผลผลิตเหลือกินก็เอาไปขาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะพอควร "เรามุ่งหวังให้แปลงผักนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย และกระตุ้นให้เด็กๆ หันมาบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น และที่สำคัญนำความรู้ที่ได้จาการช่วยกันปลูกเอาไปปลูกกินที่บ้าน และเป็นทักษะชีวิตที่สามารถต่อยอดสร้างอาชีพได้ในอนาคต" ผอ.โรงเรียนวัดสะพานหินกล่าว
การบูรณาการเข้ากับการเรียน เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้เด็กใกล้ชิดผัก ได้กินผักที่สะอาดปลอดภัยแล้วยังได้ความรู้ "วิชาจากผัก" ศิริกานต์ เวชชกรรม ครูชำนาญการพิเศษ กล่าวถึงการบูรณาการผักและ ผลไม้เข้ากับการเรียนการสอนว่า ครูผู้รับผิดชอบทุกชั้นเรียน ทุกวิชา จะต้องนำเอาผักและผลไม้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน เช่น สุขศึกษา เรื่องของการบริโภคผักและผลไม้ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง วิชาศิลปะ ครูก็จะให้เด็กวาดรูปผักและผลไม้ที่ชอบทาน วิชาคณิตศาสตร์จะเป็นเรื่องของการนับจำนวน ปริมาณ ภาษาไทย ครูก็จะให้โจทย์เขียนบรรยายชื่อและสรรพคุณของผักและผลไม้ เด็กก็จะไปสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็จะได้เรื่องของไอทีด้วย
ส่วนงานวิชาคหกรรมการงานอาชีพ ก็จะให้เด็กจัดประกวดอาหารจานผัก และ แน่นอนว่าวิชาเกษตรเด็กๆ จะได้ฝึกปลูก ดูแล แปลงผักด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กยังได้ฝึกเรื่องของกล้ามเนื้อ เราจะให้เด็กๆ มีส่วนร่วมที่เหมาะสมตามวัย
สำหรับครูผู้ช่วยอย่าง นิรนุช ประนันโต ได้สะท้อนมุมมองจากที่สังเกตเห็นว่า หลังจากทำโครงการมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งมีทั้งกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การประชาสัมพันธ์จากนักเรียนแกนนำในการให้ความรู้หน้าเสาธง และเสียงตามสายช่วงพักกลางวัน กิจกรรมแข่งขันต่างๆ พบว่า เด็กๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดี มีการทานผักและผลไม้ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากเศษอาหารที่เหลืออยู่ในถาดข้าวมีน้อยมาก ในบางราย หรือแทบจะไม่เหลือเลย ขณะเดียวกันยังมีสมุดบันทึกการกินผักให้เด็กๆ ได้บันทึกว่าแต่ละวันได้ทานผักและผลไม้อะไรไปบ้าง
วันนี้เด็กๆ จาก ร.ร.วัดสะพานหิน นอกจากจะได้ทานอาหารที่สะอาดปลอดภัยแล้ว ยังมีความสุขสนุกกับ การเรียนด้วยผักและผลไม้ "ท้องอิ่ม เล่นอย่างสนุก เรียนอย่างมีความสุข"