‘อินทรีย์’ เพื่อความยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟนเพจสามพรานโมเดล
เพราะทุกคนต้องทานอาหาร ไม่ว่าจะใช้ชีวิตตามปกติ หรือออกไปท่องเที่ยวพักผ่อน ซึ่งอย่างหลังเรื่องอาหารการกินดูจะเป็นเรื่องหลักมากกว่าการใช้ชีวิตในวันปกติ อื่น ๆ ด้วยซ้ำ นั่นจึงทำให้เกิดแนวคิดในการทำให้การท่องเที่ยวมารวมกับวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ทุกคนได้เที่ยวและสุขภาพดีปลอดจากสารเคมีไปพร้อมกัน
ก่อนหน้าที่จะมีแนวคิดเรื่อง Organic Tourism แนวคิดที่ใช้การท่องเที่ยวสร้างระบบพัฒนาอาหารอย่างยั่งยืน เป็นการท่องเที่ยวที่ให้มากกว่ารายได้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เคยมีนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจากภาครัฐ แต่ก็เป็นเพียงการเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่เพาะปลูก อาจจะมีช้อปและชิมรวมเข้าไปด้วย ทว่ากลับไม่เคยมีเรื่องของการเกษตรปลอดภัยสำหรับผู้มาเยือนซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วย บริษัท แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) จำกัด (Sustainable Food Lab Thailand) จึงเริ่มขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยได้รับทุนมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านกิจกรรม "กระบวนการร่วมออกแบบการขับเคลื่อน Organic Tourism เพื่อความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อาหาร"
"มาจากแม่แตง ไร่ชารักษ์ มาเพราะเจ้านายส่งมา"
"เป็นรีสอร์ท มีแปลงนา มีสวนครัว มีผลผลิตบ้างไม่ได้บ้าง ที่มาวันนี้เพราะหาช่องทางที่หาผลผลิตเข้ารีสอร์ท"
"อยากขับเคลื่อนเชียงใหม่เป็นต้นแบบของ Organic Tourism"
"เป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบผักและผลไม้ที่เป็นธรรมชาติ อยากให้คนอื่นกินของ ดี ๆ เหมือนที่เรากิน"
แม้จะมาเข้าร่วมด้วยเหตุผลแตกต่างแต่ทุกคนก็มีเป้าหมายไม่ต่างกัน นั่นคือผลักดันให้เกษตรอินทรีย์มีที่ยืน อยู่ได้ ขายได้ และจะยิ่งดีหากว่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ทั้งผู้ที่อยู่ในฝ่ายให้บริการ และผู้ที่มาใช้บริการ ภายใต้แนวคิด "การท่องเที่ยวที่ให้มากกว่ารายได้…เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับระบบอาหาร องค์ประกอบที่สำคัญ 3 เรื่อง ความร่วมมือ การค้าที่เป็นธรรม ความโปร่งใส โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ"
"เมื่อเริ่มต้นทำสามพรานโมเดลเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ภาพเหล่านี้คือปัญหาของทั้งระบบ เป็นปัญหาที่ทุกคนร่วมกันแก้ไขได้ ไม่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกคนในระบบอาหารร่วมกันแก้ไขได้ เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้ออกนอกกรอบเดิม ๆ มาทำธุรกิจแบบใหม่ คือ ธุรกิจเกื้อกูลสังคม ผมอยากเห็นธุรกิจที่เกิดขึ้นได้จริงจากการค้าที่เป็นธรรม ผมไม่ได้เก่งกว่าใคร แต่ผมเป็นอะไรที่ทำได้ตอนนี้ ถ้าเราเข้าไปสนับสนุนโดยที่ไม่มีตลาดรองรับก็ป่วยการ ให้ผู้บริโภคไปหาเองก็ไม่รู้ว่าจะเจอที่เป็นอินทรีย์จริงหรือเปล่า ในเรื่องนี้ผู้ประกอบการคือจุดคานงัดที่เชื่อมตรงกับผู้บริโภค" อรุษ นวราช ผู้ก่อตั้งสามพรานโมเดล บอกเล่า
Organic Tourism เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการเป็นทางที่จะไปถึงเป้าหมายเร็วสุด ได้ทั้งทางธุรกิจสิ่งแวดล้อม และสังคม ถือเป็นการทำ CSR ขององค์กรไปในตัว พนักงานในองค์กรได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนให้สังคมดีขึ้น การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ไม่ใช่แค่การพาไปดูฟาร์ม แต่คือการที่เกษตรกรผู้ประกอบการมาทำธุรกิจร่วมกันแล้วผู้ประกอบการไปอธิบายผู้บริโภคต่อว่าการขับเคลื่อนเป็นมาอย่างไร เป็นเรื่องของสุขภาพกับสังคม และผู้ประกอบการพาผู้บริโภคไปพบเกษตรกรเป็นปลายทาง ของระบบ
ปัญหาที่พบไม่ใช่เพียงความเข้าใจที่ยังสับสนระหว่างผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์กับปลอดสาร การเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีใด ๆ เลยพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก
"ปัจจุบันบ้านเรายังมีความสับสนในเกษตรอินทรีย์ ยกตัวอย่างเช่น ผักอินทรีย์ ผักปลอดภัย ผักปลอดสาร คนจะเข้าใจสับสน ก่อนที่เราจะขับเคลื่อนต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานเดียวกันว่า ผักปลอดภัย คือ ผักที่ยังมีการใช้สารเคมีอยู่ เก็บขายเมื่อได้ระยะปลอดภัยที่เราเรียกว่า GAP ผักไร้สารเป็นผักที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี แต่แตกต่างจากผักอินทรีย์ที่ผักอินทรีย์มีระบบรับรอง มีข้อบังคับ เช่น ปัจจัยการผลิตต้องสามารถบอกแหล่งที่มาได้ รักษาสิ่งแวดล้อม คนที่ทำอินทรีย์ต้องรักษาความเป็นอินทรีย์ตั้งแต่การปลูกถึงมือผู้บริโภค ถ้าพูดถึงเรื่องอินทรีย์ ผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจอาจจะเกิดความสับสนได้ ถ้าเราจะก้าวไปด้วยกัน ทั้งผู้ผลิตผู้บริโภค และนักขับเคลื่อน ควรรวมตัวเข้าด้วยกัน และเคลื่อนด้วยระบบ PGS เพื่อให้เรื่องราวระหว่างทางที่เกิดขึ้นมีคุณค่า และจะสามารถถ่ายทอดถึงผู้บริโภคเพื่อเพิ่มมูลค่าได้"ชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้จัดการโครงการสามพรานโมเดล เสนอแนะ
การขาดตัวกลางที่จะเชื่อมประสานระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของขบวนการเกษตรอินทรีย์ การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายและให้ผู้ผลิตมาพบกับผู้ประกอบการโดยตรงจึงเป็นสิ่งที่หลายคนนำเสนอ เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดไปในตัว
องค์ความรู้เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อน เพราะมีเพียงความตั้งใจแต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่มีคนช่วยชี้แนะ การกลับไปใช้เคมีในแบบเดิม ๆ ที่ง่ายกว่า สะดวกกว่าก็จะหวนกลับมา
"ผู้ปลูกไม่มีความรู้ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ว่าคืออะไร เกิดความไม่รู้จริง ตั้งแต่วิธีการที่เริ่มจากการปลูกไปจนถึงผู้บริโภค อีกทั้งผู้ซื้อไม่รู้ว่าอินทรีย์ 100% มีลักษณะอย่างไร" หนึ่งในผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
"เชียงใหม่เมืองออร์แกนิก" คือหนึ่งในข้อเสนอด้วยการสร้างเมืองเชียงใหม่โดยใช้ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อที่จะสร้างเป็นเมืองออร์แกนิก แต่การที่จะเคลื่อนชุมชนใหญ่ต้องมีกรอบร่วมกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งเกษตรกร โรงแรม ร้านอาหาร มีส่วนกลางในการขับเคลื่อนให้เป็นเมือง Chiangmai Health Hub เมืองที่มีความสนใจด้านสุขภาพ พร้อมเปิดประตูให้ผู้ที่รักษาสุขภาพเข้ามาร่วม โดยสามารถเข้ามาด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ด้วยความเป็นธรรม มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเชื่อม นักท่องเที่ยวที่เข้ามาได้อาหารปลอดภัยนอกจากได้มาเที่ยว และมีความมั่นใจที่มาเที่ยวเชียงใหม่
นี่คืออีกหนึ่งความพยายามในการร่วมกันขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์