‘อินทรีย์’ มีส่วนร่วม…ทางรอดของคนน่าน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ผลการเก็บข้อมูลด้านผลผลิตจากแผงแม่ค้าในตลาดท้องถิ่น เทศบาลเมืองน่าน โดยทีมสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน พบว่า 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นการนำเข้าอาหารจากภายนอก ซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางจากพิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ซึ่งหมายถึงอาหารที่คนเมืองน่านบริโภคเกือบทั้งหมดเป็นการผลิตมาจากที่อื่น
แต่ไม่ใช่จากในท้องถิ่นของคนเมืองน่านซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจว่า เพราะเหตุใดคนพื้นที่จึงไม่ผลิตอาหารบริโภคเอง ในเมื่อ "น่าน" ก็เป็นพื้นที่ทำการเกษตรเช่นจังหวัดอื่น
ดร.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ให้ข้อมูลเพื่อความกระจ่างในเรื่องดังกล่าวว่า ข้อมูลที่ทีมฯ เก็บได้นั้น สอดคล้องกับผลสำรวจสถิติจาก สำนักงานสถิติ จังหวัดน่าน ซึ่งพบว่า กลุ่มประชากรที่มีปริมาณการซื้อพืชผักมากสุดคือ กลุ่มเกษตรกร นั่นหมายถึงเกษตรกรใช้ทุกพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพด มุ่งหวังได้เงิน แต่ไม่ได้ปลูกพืชที่ตัวเองจะรับประทานเลย
นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเกษตรกรเมืองน่านสมัยก่อน ปลูกพืชอาหารไว้กิน หรือขายในท้องถิ่น แต่ด้วยกระแสของพืชเศรษฐกิจที่สนับสนุนเชิงรุกทำให้วิถีการเพาะปลูกแบบนี้หายไป เกษตรกร ไม่ปลูกพืชเอาไว้รับประทาน แต่ซื้อสิ่งที่ตัวเองต้องรับประทานจากที่อื่นทั้งหมด ด้วยความเชื่อที่ว่า ซื้อผลผลิตจากที่อื่น ซึ่งไม่ทราบที่มาของแหล่งอาหาร จะรู้สึกมั่นใจมากกว่าซื้อผลผลิตในพื้นที่ เนื่องจากทราบดีว่าผลผลิตในพื้นที่ที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวนั้นเต็มไปด้วยสารเคมี
ที่ผ่านมาการส่งเสริมให้ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกข้าวโพด ส่งผลให้เกษตรกรมุ่งหวังเพียงผลผลิต มองเห็นยอดการขาย ขยายการใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ลืมมองระหว่างทางก่อนได้ผลผลิตว่าต้องใช้ต้นทุน สารเคมี ค่าจ้างแรงงาน
ท้ายสุดเมื่อเก็บเกี่ยวและขาย รายได้ที่คิดว่ามาก กลายเป็นภาระหนี้สินพอกพูน เพราะเมื่อหักลบกลบหนี้ค่าใช้จ่ายระหว่างทางแทบไม่เหลือ หรืออาจติดลบ ทำให้เกิดการกู้ยืมต่อเนื่อง เป็นวัฏจักรซ้ำ ๆ ไม่รู้จบ จนเกิดภาพเกษตรกรยิ่งทำยิ่งยากจน
ดร.ธัญศิภรณ์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าระบบการเกษตรในมิติของการสร้างปริมาณผลผลิต เพื่อตอบโจทย์รายได้โดยไม่คำนึงคุณภาพ ทั้งใช้สารเคมีและรุกขยายพื้นที่นั้นเกี่ยวพันกับเกษตรกร เพราะพื้นที่ทำงานของเกษตรกรคือ แปลงเกษตร เมื่อทำเกษตรแบบทำลายสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่ตามมาจึงหนักหน่วง เช่น จังหวัดน่านเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ในโลกใบนี้ แต่ถ้าหลายพื้นที่ในโลกร่วมกันทำลาย ส่งผลให้พื้นที่องค์รวมใหญ่ถูกทำลาย ผลกระทบก็จะยิ่งใหญ่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ร้อนเพิ่มมากขึ้นทุกขณะดังที่เป็นอยู่
ซึ่งในเรื่องของสภาพอากาศที่ร้อนนั้นมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจน เพราะสภาพอากาศและดีกรีความร้อนของปีนี้ ดีกรีความร้อนพุ่งปรี๊ดเลย 40 องศาเซลเซียส มาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เดือนเมษายน และมีตัวเลขยืนยัน จาก กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนเพิ่มอีกว่า ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนผ่านมาถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับกรุงเทพฯ ส่งผลให้สภาพอากาศร้อน ทำให้หลายพื้นมีอุณภูมิสูงขึ้นอยู่ในระดับดับ 43-44 องศาเซลเซียส ร้อนแบบพุ่งสูงมากขึ้นไปอีก
"โดยส่วนตัวเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ได้เป็นแค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดให้กับเกษตรกร และการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในจังหวัดน่านได้อย่างดี เพราะตอบโจทย์ในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อคนใช้พื้นที่น้อยลง พื้นที่ป่าก็จะเพิ่มมากขึ้น"
ด้วยบริบทของจังหวัดน่าน ไม่ได้มีพื้นที่มากจึงไม่เหมาะกับการทำเกษตรแบบใหญ่มาก แต่เหมาะกับการทำแบบเกษตรอินทรีย์ เพราะเกษตรกรไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ใช้แค่พื้นที่ที่สามารถทำงานและดูแลเอาใจใส่ได้อย่างทั่วถึง ภายใต้เงื่อนไขคือ ห้ามใช้สารเคมี และไม่ให้ เผาในพื้นที่ ส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาหมอกควันตามมา ปัญหาด้านสภาพอากาศที่ร้อนอยู่เช่นปัจจุบันก็จะกระทบน้อยลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่ตอบโจทย์แค่การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจของเกษตรกร คือ เขาไม่ต้องเสียต้นทุนระหว่างทาง ผลผลิตที่ได้รับเต็มที่ ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ดี และได้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า
"ในระบบเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นโมเดลที่เราพยายามขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาว่า เกษตรกร หรือครอบครัว เขาควรจะอยู่ในพื้นที่ที่เขาดูแลได้ดี ทำอย่างไรให้ได้มูลค่าสูงสุด ซึ่งสิ่งนี้ตอบโจทย์ได้ทุกมิติ"
เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์นี้ "ลุงไทย" หรือ กฤต อินต๊ะงาม หนึ่งในเกษตรกรน่านที่เคยทำเกษตรแบบใช้สารเคมีบนภูเขาหัวโล้น เล่าย้อนให้ฟังว่า กลัวตายเพราะสารเคมี จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ยอมทิ้งพื้นที่มากมายที่เคยมีมาพลิกฟื้นผืนดินแค่ ดูแลไหว แต่ก็แห้งผากจากเคยใช้สารเคมี ตนได้ใช้เวลา 6 เดือนในการพลิกฟื้นที่ดินจนกลับมาสมบูรณ์ ทำแปลงผักไร้สารเคมี ปลูก "มะนอย หรือ บวบเล็ก" ส่งขายทางออนไลน์ และมีพ่อค้ามารับตรงถึงบ้าน
การเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปลูกข้าวโพดใช้สารเคมี มาเป็นวิถีเกษตรกร PGS (Participatory Guarantee Systems-PGS หรือ การรับรองการทาเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม) น่าน ของลุงไทย เริ่มเมื่อปี 2559 ลุงไทยเคยปลูกข้าวโพด 53 ไร่ เปลี่ยนมาใช้เพียง 2 ไร่ ผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์ โดยมี เลมอนฟาร์ม สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. เป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา และให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในทุกด้าน
ปัจจุบันมีรายได้จากการเก็บผักที่ปลูกประมาณ 800-1,000 บาทต่อวัน ไม่รวมรายได้หลักพัน ถึงหมื่นบาทต่อสัปดาห์ เมื่อมีการเก็บพืชผักบางชนิดที่ออกผลผลิตเป็นรอบการเก็บเกี่ยว ลุงไทยบอก ชีวิตทุกวันนี้มีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้สินหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา และปลอดภัยจากสารเคมีด้วย
ทางด้าน สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษากรรมการกองทุน สสส. กล่าวหลังจากได้เห็นวิถีการผลิตผลเกษตรของเกษตรกรอินทรีย์ จ.น่าน ว่า จากปัญหาที่คนน่านบริโภคอาหารจากนอกพื้นที่ หากมีการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์เช่นนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่า เห็นทางรอดของคนเมืองน่านแล้ว
หลังจากได้เห็นการทำงานของเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ PGS น่าน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะเคยคิดว่าเมื่อพูดถึงอาหารสุขภาพก็น่าจะเจาะจงแค่เรื่องของอาหาร แต่สิ่งที่ได้เห็นครั้งนี้กลายเป็นเรื่องของกระบวนการ การขับเคลื่อนที่มีความเชื่อมโยงทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทรัพยากร ชุมชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามารวมตัวกันโดยมีระบบ PGS เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน
ในความคิดเห็นส่วนตัวของลุงสุรินทร์มองว่า รูปแบบการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แบบ PGS เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ตลาดจนถึงการผลิตของเกษตรกรเช่นนี้เป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนทั้งระบบเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงจนเกิดระบบโลจิติกส์
การเกษตรแบบ PGS เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมและรับรองด้วยตัวชุมชนเอง เมื่อมีระบบโลจิติกส์เป็นตัวขับเคลื่อน จึงเป็นการตอบโจทย์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้เห็นทางรอดของการผลิตอาหารที่สะอาด และ มองเห็นทางรอดของคนเมืองน่าน