อิทธิพลบริษัทน้ำอัดลมและอาหารขยะ

 

 

ได้ข่าวว่าขณะนี้ที่เมืองไทย พวกบริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ค่ายต่างๆ กำลังทุ่มงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์เจาะกลุ่มลูกค้าทุกระดับ ระดับเด็กๆ และวัยรุ่นก็ไม่เว้น แข่งขันกันถึงขนาดประกาศแจกน้ำอัดลม และโยนเศษสตางค์เข้าไปช่วยสร้างกิจกรรมในสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมทางด้านการกีฬาของเยาวชน

 ประเทศที่รัฐบาลปล่อยให้โฆษณาบ้าเลือดพวกนี้สู่สายตาประชาชนคนของตนได้ง่ายๆ และยอมให้บริษัทน้ำอัดลมโยนเศษเงินช่วยสร้างกิจกรรมเยาวชน ประเทศนั้นจะเต็มไปด้วยพลเมืองที่เป็นโรคอ้วน ฟันผุ เบาหวาน ฯลฯ รัฐบาลได้ภาษีจากบริษัทน้ำอัดลมมากเท่าไร ต้องเอาไปใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้คนของตนเกือบทั้งหมด บริษัทพวกนี้เอาโรคร้ายมาใส่ร่างกายประชาชนคนของเราแล้ว ก็ยังขนสตางค์ซึ่งเป็นกำไรจำนวนมากมายมหาศาลออกไปให้ผู้ถือหุ้นในประเทศของตนเอง

 ที่ผมไม่เข้าใจ ก็คือทำไมไม่ไกลจากสถาบันการศึกษาของประเทศเราจึงมีร้านเหล้า ถ้าเป็นสถานศึกษาระดับโรงเรียนก็เต็มไปด้วยร้านขายขนม ตั้งกันด้านหน้าหรือข้างโรงเรียนกันเลย เด็กเลิกเรียนแล้ว ก่อนกลับบ้านก็เข้าร้านขนมกินขยะ

 บริษัทน้ำอัดลมนั่นแหละตัวดี เพราะรู้ว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่จะสร้างความภักดีต่อตราสินค้า จึงหันไปเล่นกับเด็กนักเรียน โดยเห็นว่าเด็กถูกชักจูงได้ง่าย บริษัทน้ำอัดลมพวกนี้รู้ครับ ว่างบประมาณของโรงเรียนไม่ค่อยจะพอกับการทำกิจกรรม ก็จึงโยนเศษสตางค์ลงไปให้โรงเรียน เพื่อแลกกับการเข้าถึงตัวนักเรียน

 การต่อสู้เพื่อให้เยาวชนคนของชาติมีสุขภาพดีนี่ เคยซัดกันในหลายประเทศ รัฐบาลอเมริกันเคยสั่งให้ยูเอสดีเอ บ้านเราก็เท่ากับกระทรวงเกษตรฯนั่นแหละ ออกระเบียบเข้มงวดกับการเอาอาหารขยะและน้ำอัดลมเข้าไปขายในโรงเรียน เพราะทำให้นักเรียนอเมริกันจำนวนไม่น้อยกินขนมกับดื่มน้ำอัดลมแทนอาหารกลางวัน

 แล้วความอำมหิตของบริษัทน้ำอัดลมก็โผล่ออกมาให้เห็น ด้วยการฟ้องคัดค้านการออกระเบียบของยูเอสดีเอของสหรัฐฯ อิทธิพลของบริษัทน้ำอัดลมที่แผ่ไปในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการยุติธรรม ศาลอเมริกันเห็นว่าสำนักงานยูเอสดีเอทำเกินขอบเขตหน้าที่ และสั่งให้ยกเลิกระเบียบห้ามนำขนมและน้ำอัดลมเข้าไปขายในโรงเรียน

 พวกผู้อำนวยการโรงเรียนก็แฮปปี้มีความสุขกับคำตัดสินของศาล ต่างกระดี๊กระด๊าขอทำสัญญา Pouring rights ระหว่างโรงเรียนกับผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่ม สัญญานี้ก็คือการให้สิทธิผู้จัดจำหน่ายในการขายเครื่องดื่มในโรงเรียนแต่เพียงผู้เดียว โดยโรงเรียนได้รับเงินค่าตอบแทนจากการคำนวณยอดขาย โรงเรียนได้เงินบริจาคเอาไปทำกีฬาสี ไปซื้อเต็นท์เข้าค่าย โถ ไอ้ผู้อำนวยการโง่ เอ็งมองไม่ออกบอกไม่ถูกหรือ ว่าระหว่างเศษเงินที่บริษัทน้ำอัดลมโยนให้โรงเรียน กับสุขภาพของนักเรียนนั้น อะไรสำคัญกว่ากัน?

 แม้ว่ายกแรก ฝ่ายผู้ปกครองและนักรณรงค์ด้านโภชนาการจะแพ้ แต่ก็ไม่ย่อท้อ และต่อมา ระหว่าง พ.ศ.2546–2548 มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติจำกัดการขายน้ำอัดลมและอาหารขยะในโรงเรียนกันอีก จาก 50 รัฐ มีเพียง 21 รัฐเท่านั้นแหละครับ ที่รัฐสภาของระดับรัฐสามารถผ่านร่างพระราชบัญญัติออกมาได้ แต่พระราชบัญญัติทางด้านนี้ของ 10 รัฐ จาก 21 รัฐ ก็โดนบริษัทน้ำอัดลมและบริษัทขายอาหารขยะไปวิ่งเต้นกับพวก ส.ส.จน ส.ส.ออกกฎหมายอ่อน อ่อนจนไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 ในสหรัฐฯ มีจีเอ็มเอ (สมาคมผู้ผลิตของชำ) ที่มีสมาชิกผลิตอาหารบรรจุเสร็จอย่างคราฟส์ มาร์ส แป๊ปซี่ ฯลฯ ที่มียอดขายรวมเฉพาะในสหรัฐฯ ประเทศเดียวก็ปีหนึ่งเกือบ 7 แสนล้านดอลลาร์ สมาคมนี้เข้าไปคุยกับ ส.ส. และคัดค้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจำกัดเรื่องอาหารและเครื่องดื่มในโรงเรียนของรัฐต่างๆ พ.ศ.2547 สมาคมผู้ผลิตของชำเก่งขนาดมีส่วนคว่ำร่างพระราชบัญญัติกำหนดมาตรฐานโภชนาการว่าด้วยอาหารในโรงเรียนของรัฐแคลิฟอร์เนียตกไป

 บริษัทน้ำอัดลมและขนมขยะจะลงโฆษณาในสื่ออย่างต่อเนื่อง สื่อไหนค้านก็จะใช้วิธีโยนโฆษณาให้ หากไม่รับก็จะใช้อิทธิพลสั่งให้ถอดคอลัมน์ ถอดหรือย้ายรายการ โชคดีที่เจ้าของสื่อบ้านเรามีคุณธรรม อย่างรายการเปิดเลนส์ส่องโลกของครอบครัวของผมประกาศตั้งแต่เริ่มทำรายการทางช่อง 3 เมื่อ พ.ศ.2545 ว่า

 “จะไม่ยอมให้บริษัทน้ำอัดลมและอาหารขยะมาลงโฆษณาในรายการอย่างเด็ดขาด” เราก็ยังทำรายการมาได้เรื่อยๆ โดยไม่โดนอิทธิพลบริษัทน้ำอัดลมและอาหารขยะสั่งให้ถอดรายการ หรือย้ายเวลา นี่ถ้าเป็นที่อเมริกา เปิดเลนส์ส่องโลกโดนถอดผัง หรือย้ายเวลาไปนานแล้ว.

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดย คุณนิติ นวรัตน์
 

 

Shares:
QR Code :
QR Code