อาหารสำหรับโรคอ้วน
มุมมองนักวิทยาศาสตร์การอาหาร
อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คนเราควรกินอาหารอย่างเพียงพอ ให้ร่างกายได้รับพลังงานที่เหมาะกับเพศ อายุ และกิจกรรมประจำวัน ในแต่ละวันควรได้รับปริมาณสารอาหารหลักที่สมดุล คือ พลังงานจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน คิดเป็นสัดส่วน 10 ต่อ 60 ต่อ 30
แนวทางการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพดีและป้องกันน้ำหนักเกิน ประกอบด้วย 1.กินให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย 2.กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ 3.กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ 4.กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ 5.ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย 6.กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร ลดการบริโภคของทอดและผัด 7.หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัดเค็มจัด 8.กินอาหารสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน และ 9.งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ปริมาณการกินอาหารในแต่ละกลุ่มให้พอเหมาะได้แสดงไว้บน “ธงโชนาการ”
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อลดน้ำหนักมุ่งเน้นที่ผลิตภัณฑ์อาหารลดพลังงาน 3 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารลดไขมัน ลดน้ำตาล และอาหารที่มีใยอาหารสูง สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารลดปริมาณไขมัน และมีจำหน่ายทางการค้า ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม ไอศกรีม น้ำสลัดและมายองเนส การลดปริมาณไขมันในอาหาร อาจใช้เทคนิคการผลิตเข้ามาช่วย เช่น ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ใช้เทคนิคการปั่นแยกไขมันออก ทำให้แบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 3 ประเภท คือ นมชนิดเต็มมันเนย มีไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.2 ในน้ำนม 100 มิลลิลิตร นมชนิดพร่องมันเนย มีไขมันมากกว่าร้อยละ 0.1 แต่ไม่ถึงร้อยละ 3.2 ส่วนในชนิดขาดมันเนยมีไขมันไม่เกินร้อยละ 0.1 ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน ควรเลือกบริโภคนมสองชนิดหลัง ทั้งนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการลดปริมาณไขมันลงเป็นประจำ อาจเสี่ยงต่อการขาดวิตามินกลุ่มที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ ดี อีและเค) ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการลดปริมาณไขมัน มักจะเสริมวิตามินกลุ่มนี้ในอาหารนั้นๆ ด้วย
ผลิตภัณฑ์อาหารลดปริมาณน้ำตาล การกินน้ำตาลเป็นปริมาณมาก เมื่อเข้าสู่ร่างกายน้ำตาลจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมอยู่ตามระบบทางเดินอาหาร ทำให้น้ำตาลถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว จึงมีผลต่อการขึ้นลงของระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็วด้วย องค์การอนามัยโลกกำหนดการบริโภคน้ำตาลไว้ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานที่ได้รับใน 1 วัน ผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี แนะนำให้ควรกินไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมใน 1 วัน ทั้งนี้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิยมใช้ มี 2 ประเภท คือ 1.สารให้ความหวานที่อยู่ในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ จุดเด่นคือมีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลแต่มีความหวานน้อยกว่า และให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลประมาณครึ่งหนึ่ง 2.เป็นสารให้ความหวานสูงกว่าน้ำตาลหลายร้อยเท่า บางชนิดไม่ให้พลังงานกับร่างกาย บางชนิดให้พลังงานเท่ากับน้ำตาล
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีใยอาหารสูงที่กำลังได้รับความนิยม คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ อาหารว่างประเภท snack Bar ผลิตภัณฑ์นมและนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม ทั้งนี้ใยอาหารที่เสริมในผลิตภัณฑ์อาหารอาจอยู่ในรูปพืช ผักและผลไม้ที่สดหรือแห้ง อย่างไรก็ตามการลดขนาดของใยอาหาร การใช้เทคนิคการผสมในขั้นตอนการเตรียม และ/หรือการเติมสารอิมัลซิไฟเออร์ ช่วยปรับปรุงลักษณะของอาหารให้ดีขึ้นได้
ที่มา : ผศ.สิติมา จิตตินันทน์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย สุนันทา สุขสุมิตร
Update : 24-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร