อาหารที่ควรเลี่ยงเมื่อมีโรคประจำตัว
ที่มา : โรงเรียนผู้สูงอายุ ชุดความรู้ การพัฒนาเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
แฟ้มภาพ
การเลือกกินอาหารให้เหมาะสมจะทำให้โรคร้ายทุเลาลง ช่วยเสริมการรักษาและฟื้นฟูร่างกาย แต่ในทางกลับกัน การเลือกอาหารไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมย่อมทำให้โรคร้ายรุนแรงกำเริบ และบั่นทอนสุขภาพมากขึ้น
ไข้หวัด ไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก อาหารที่เย็นมาก หรืออาหารทอด อาหารมัน ซึ่งล้วนแต่ทำให้ย่อยยาก ซึ่งจะทำเกิดความร้อนสะสม เปรียบเสมือน “อาหารเชื้อเพลิง” หรือการเติมน้ำมันเข้าไปในกองไฟ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล หรือระบบการย่อยไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ชาแก่ กาแฟ ของเผ็ด ของทอด ของมัน เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมความร้อนในร่างกาย ทำให้โรคหายยาก แนะนำให้กินอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง กินอาหารตามเวลา และเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย
โรคความดันเลือดสูง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาหลอดเลือดแข็งตัว (ตามภาวะความเสื่อมของร่างกาย) ทำให้หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น ควรหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น หมูสามชั้น ตับ สมอง ถั่ว น้ำมันหมู ไขกระดูก ไข่ปลา โกโก้ น้ำมันเนย รวมทั้งเหล้า เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้เกิดความร้อนชื้นสะสมในร่างกาย (ความชื้นมีผลให้เกิดความหนืดของการไหลเวียนต่อร่างกายทุกระบบ ความร้อนทำให้ภาวะร่างกายถูกกระตุ้น ทำให้ความดันสูง) นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด (ฤทธิ์กระตุ้น) หรืออาหารหวานมาก เช่น ลำไย ขนุน ทุเรียน ฯลฯ (คุณสมบัติร้อน) โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่อกินทุเรียนร่วมกับเหล้าจะหมดสติจนเสียชีวิตจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก
โรคตับ หรือโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกเหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารมัน เนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทอด ๆ มัน ๆ อาหารหวานจัด เพราะแพทย์แผนจีนถือว่า ตับ ถุงน้ำดี มีความสัมพันธ์กับระบบย่อยอาหาร ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานของการรับสารอาหารเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกายให้เกิดเลือด พลัง การทานอาหารประเภทดังกล่าวมากเกินไปจะทำให้เกิดความร้อน ความชื้น ทำให้สมรรถภาพของการย่อยอาหารอ่อนแอ ซึ่งจะทำให้เกิดโทษต่อตับและถุงน้ำดีอีกทอดหนึ่ง
โรคหัวใจ โรคไต หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด เพราะรสเค็มทำให้เกิดการเก็บกักน้ำ การไหลเวียนเลือดจะช้า หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น ไตต้องทำงานขับเกลือแร่มากขึ้น ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียน ทำให้ต้องสูญพลังงานมาก และหัวใจทำงานหนักขึ้น โดยสรุปคือ ต้องลดการทำงานของหัวใจและไตโดยไม่เพิ่มปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นโทษเข้าไป
โรคเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน หรืออาหารประเภทแป้งที่มีแคลอรีสูง เช่น มันฝรั่ง มันเทศ แนะนำอาหารพวกถั่ว เช่น เต้าหู้ นมวัว เนื้อสันไม่ติดมัน ปลา ผักสด ฯลฯ
นอนหลับไม่สนิท ควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกชา กาแฟ หรือการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเวลาก่อนนอน เพราะอาหารเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้ไม่ง่วงนอน หรือทำให้หลับไม่สนิท
โรคริดสีดวงทวารหรือท้องผูก ต้องหลีกเลี่ยงอาหารประเภทกระเทียม หอม ขิงสด พริกไทย พริก ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้มีความร้อนในตัวสะสมมาก ทำให้ท้องผูก ทำให้เส้นเลือดแตก และอาการริดสีดวงทวารกำเริบ
อาการลมพิษ ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นโรคหอบหืด ควรเลี่ยงเนื้อแพะ เนื้อปลา กุ้ง หอย ปู ไข่ ผลิตภัณฑ์นม หรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ รวมทั้งรสเผ็ด เพราะสารเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นและทำให้มีผื่น ผิวหนังอักเสบกำเริบ
เป็นสิวหรือมีต่อมไขมันอักเสบ ควรงดอาหารเผ็ดและอาหารมัน เพราะทำให้สะสมความร้อนชื้นของกระเพาะอาหาร ม้าม และไปอัดตันพลังของปอด (ควบคุมผิวหนัง ขนตามร่างกาย) ทำให้เกิดสิว
การเลือกอาหารให้สอดคล้องเหมาะสมไม่ใช่สูตรตายตัว แต่ต้องยืดหยุ่นพลิกแพลงและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นจริงของแต่ละบุคคล เวลา (เช่น ภาวะปกติ ภาวะป่วยไข้ กลางวัน กลางคืน ฤดูกาล) และสถานที่ (ภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อม) เพื่อให้เป็นธรรมชาติและยังคงไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ