‘อาหารกลางวัน’ ต้านโรคซีด ปลูกจากบ้านสู่จานในโรงเรียน

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 


'อาหารกลางวัน' ต้านโรคซีด ปลูกจากบ้านสู่จานในโรงเรียน thaihealth


โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ  โรงเรียนต้นแบบจัดการอาหารกลางวัน  ปลูกจากบ้านสู่จานในโรงเรียน


รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.กองทุนเพื่ออาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษาในปี 2535 เพื่อจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้เด็กเป็นรายหัว  ปัจจุบันอยู่ที่ 20 บาทต่อคนต่อวัน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับโครงการอาหารกลางวัน กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ตระหนักว่าภาวะเด็กอ้วนจะส่งผลให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีโรคติดต่อเรื้อรัง และส่งเสริมการบริโภคให้กินผักวันละ 400 กรัมจะช่วยป้องกันโรคดังกล่าวได้ ร่วมด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมให้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Thai School Lunch Program และคู่มืออาหาร  5 ภูมิภาค


ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย นำร่องกันขับเคลื่อนอาหารในโรงเรียนระดับพื้นที่นำร่องในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เพื่อพัฒนาไปสู่ พื้นที่ต้นแบบ โดย จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่ต้นแบบ ร่วมกับ อบต. จำนวน 12 แห่ง


โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ  ใน ต.ตานี อ.ปราสาท เป็นหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบที่มีระบบการจัดการอาหารกลางวันที่ทำให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน ภายใต้งบประมาณที่จำกัด สุวพร ศรีเอก เจ้าหน้าที่อาหารกลางวันรร.บ้านโคกจำเริญ บอกเล่าว่า ระบบบริหารจัดการกองทุนอาหารกลางวันที่นี่จะจัดซื้อผ่านระบบสหกรณ์ของโรงเรียน เริ่มต้นจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นก่อน โดยให้ชาวบ้านมาขายตรงกับเรา เช่น ฟัก แฟง ฟักทอง ข้าวสาร เด็กที่นี่จะได้รับประทานข้าวหอมมะลิทุกมื้อ ที่ เหลือประเภทเนื้อสัตว์จึงไปซื้อที่ตลาด ซึ่งการกำหนดเมนูในแต่ละสัปดาห์จะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ตลอดสัปดาห์ 5 วัน จะมีเมนูอาหารจานเดียวหนึ่งจาน บางครั้งเราจะถามเด็กว่าอยากทานอะไร เขาอยากทานส้มตำ เราทำส้มตำ ไก่ทอด แต่ตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าทำส้มตำเด็กต้องกินผักบุ้งดิบแกล้มด้วยนะ เท่ากับปลูกฝังการกินผักให้กับเด็กด้วย ยกตัวอย่างเมนูเช่นเกาเหลา จะให้เด็กเพาะถั่วงอกเก็บไว้ หรือเมนู น้ำพริก เด็ก ๆ ที่นี่จะชอบกินน้ำพริก แปลงผักในโรงเรียนจะปลูกถั่วฝักยาว มะเขือ ผักบุ้ง ในหน้าหนาวจะปลูกผักคะน้า กวางตุ้ง เราก็มาทำจับฉ่าย


'อาหารกลางวัน' ต้านโรคซีด ปลูกจากบ้านสู่จานในโรงเรียน thaihealth


"งบต่อหัวที่ได้ 20 บาทจากจำนวน นร. 300 คนถือว่าเพียงพอที่จะจัดเมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ ซึ่งใน 1 สัปดาห์จะมีผลไม้ให้ เด็กกิน 4 วัน และยังเหลือเป็นค่าจ้างแม่ครัวได้วันละ 250 บาท จำนวน 2 คน บางครั้งผู้ปกครองก็นำมาบริจาค เช่น กล้วย ข้าวสารเพราะเห็นว่าลูกหลานเรียนอยู่ที่นี่ก็จะได้กินอาหารดี ๆ ด้วย นอก จากนี้ยังมีแปลงผัก บ่อเลี้ยงปลาดุก สวนกล้วย โรงเลี้ยงไก่ ซึ่งชาวบ้านได้มาช่วยเด็กบุกเบิกตั้งแต่แรก ๆ"


ขณะเดียวกัน รพ.สต.ตานี ได้สนับสนุนให้เด็กในชุมชนมีสุขภาพดี เสริมด้วยการให้ความรู้ผู้ปกครองสนับสนุนให้ลูกกินผัก แนะนำวิธีทำเมนูผักทั้งที่บ้านและโรงเรียน  นางมนทกานต์ โสมกุล ผู้อำนวยการ รพ.สต.ตานี กล่าวว่าในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดว่าเป็นสามเหลี่ยมโรคซีด จากสาเหตุของกรรมพันธุ์ ครอบคลุมบางอำเภอ จ.นครราชสีมา และชายแดนกัมพูชา ดังนั้นเด็กในพื้นที่จะได้รับประทานยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในโรงเรียน โดยที่ รพ.สต.จะเข้ามาเจาะเลือดและหาความเข้มข้นของเลือด ตั้งแต่เข้าชั้น ป. 1 ซึ่งเด็กในโรงเรียนตานี 300 คนมีโรคซีด ไม่ถึง 10% นอกจากนั้นจะให้ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กสัปดาห์ละ 1 ครั้งแล้วยังกระตุ้นให้ปรุงเมนูอาหารเพื่อเสริมธาตุเหล็ก ให้ความรู้และวิธีทำ เช่นเมนูผักชุบแป้งทอดให้ใช้แป้งท้าวยายม่อม จะช่วยทำให้แป้งกรอบนาน เด็กจะชอบมากกว่า หรือเมนูแกงจืดตำลึงต้มเลือดหมู น้ำพริกเช่นกัน แนะนำให้ใส่มะเขือพวง บางครั้งเด็กไม่ทานแนะนำให้นำมะเขือไปคั่วไฟจะช่วยลดอาการเหม็นเขียว เพราะมะเขือพวงมีธาตุเหล็กสูง


ภาวะโรคซีดนั้นจะส่งผลเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ ลูกมีความเสี่ยงต่อโรคธาลัสซีเมีย ปากแหว่ง เพดานโหว่  หรืออาจเกิดความพิการร่วมด้วย ส่วนผู้ชายจะเกิดความอ่อนเพลีย ส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา ไม่เกิดโรคซีดจึงเป็นปราการป้องกันโรค


"แม้จะมีหลายหน่วยงานเข้าไปจัดการ แต่ความจริงแล้วการจัดการอาหารในโรงเรียนมีความซับซ้อนมากกว่าเด็กได้กินอาหารอิ่มท้อง แต่ทำอย่างไรก็ต้องให้เด็กได้กินอาหารที่มีคุณค่า ปลอดภัย และอาหารที่กินเข้าไปต้องสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยนอกจากนั้นจะมีความมั่นคงทางอาหาร วัตถุดิบต่าง ๆ ต้องได้มาอย่างต่อเนื่อง" นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระบุ


รูปแบบการจัดการอาหารกลางวันโรงเรียนบ้านโคกจำเริญ จึงเป็นต้นแบบให้พื้นที่เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้…เพราะทุกชุมชนในประเทศไทยมีวัตถุดิบท้องถิ่นหลากหลายที่จะไปตั้งต้นทำอาหารให้มีโภชนาการดีได้

Shares:
QR Code :
QR Code