อาสา ‘CMS’ รับมือภาวะวิกฤติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
จากส.ค.ส.พระราชทาน ปี 2547 ถูกนำมาถอดรหัสได้ว่าประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญ 4 วิกฤติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง "มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ" จึงนำศาสตร์พระราชาด้านเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ถ่ายทอดสู่ชาวบ้าน พร้อมสร้างเครือข่าย "CMS" ป้องกันเตือนภัยเพื่อให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้มีการจัดงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินครั้งที่ 13 เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง Money is only illusion, Food is real ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งมีเครือข่าย CMS เข้าร่วมเรียนรู้การออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำและเครือข่ายป้องกัน เตือนภัยและฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติจำนวนมาก
ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า จาก ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ปี 2547 พระองค์ท่านทรงเตือนว่ามีระเบิดอยู่ทั่วโลก ในภาพจะเห็นว่ามีระเบิด 4 ทิศ หมายถึงวิกฤติ 4 ประการ ได้แก่ วิกฤติสิ่งแวดล้อม วิกฤตสังคม วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง เป็นคำเตือนสำคัญว่าเราจะเตรียมรับมืออย่างไร
ซึ่งมูลนิธิได้ทำมาตลอด 20 กว่าปี ตั้งแต่อาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมา คือ สอนให้คนพึ่งตนเองเป็นหลักด้วยศาสตร์พระราชา มีศูนย์ฝึกอบรมเศรษฐกิจพอเพียงราว 50 กว่าศูนย์ และมีเครือข่ายกระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และรวมกลุ่มเป็นพลังสามัคคีเพื่อฝ่าวิกฤติต่างๆ ไปได้ โดยการพึ่งเทคโนโลยีให้น้อยลง และพึ่งตนเองให้ได้ระหว่างที่รอความช่วยเหลือจากทางราชการ
สร้างคน-เครือข่ายรับมือภัยพิบัติ
ที่ผ่านมาได้มีการออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำประยุกต์จากเกษตรทฤษฎีใหม่ที่วัดมงคลชัยพัฒนา เพื่อเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กให้ประชาชน รวมไปถึงมุ่งสร้างพื้นที่ป่าในพื้นที่ส่วนบุคคลด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อเป็นแหล่งอาหาร (ป้องกันและฟื้นฟู) พร้อมเร่งสร้างกองกำลังอาสาสมัครภาคประชาชน (เตือนภัยและเผชิญเหตุ) ด้วยการอบรมอย่างเข้มข้นให้มีทักษะ จิตสาธารณะ และรู้เท่าทันเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ชุมชนของตนเอง และเชื่อมโยงเครือข่ายอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน "โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครเพื่อการป้องกัน เตือนภัยและฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติ" (Crisis Management and Survival camp) หรือ CMS โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เริ่มสนับสนุนโครงการ CMS ประมาณปี 2549 จากที่คิดว่าเมืองไทยภัยพิบัติต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ความจริงแล้วจากสถิติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีการผลักดันในหลายฝ่าย เช่น ภาครัฐ เกิดพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 อย่างไรก็ตามเนื่องจากความหลากหลายของภัยพิบัติแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นชุมชนต่างๆ จะต้องรู้ความเสี่ยงของตัวเองว่ามีความเสี่ยงจากภัยพิบัติอะไรบ้าง
"ภัยพิบัติที่มีคนและองค์กรช่วยมากที่สุด คือ ตอนที่เกิดเหตุแล้ว บางทีแห่เข้าไปจนล้น หลังจากนั้นก็ขาดการช่วยเหลือแม้กระทั่งฟื้นฟูให้กลับมา ในกระบวนการรับมือกับภัยพิบัติ "กำลังคน" เป็นหัวใจสำคัญ เรามักจะขาด2P2R คือ Prevention (การป้องกัน) Planned (วางแผนรับมือ) Rescue (กู้ภัยโดยเร็ว) Restoration (ฟื้นฟู) ดังนั้นเราจึงต้องใช้วิธีการฝึกอบรมคนเพื่อให้ความรู้ และไปจัดกระบวนการต่างๆ ในชุมชนของตนเอง ในช่วงที่โลกภายนอกช่วยเราได้น้อยลงชุมชนที่พึ่งตัวเองได้สูงจะอยู่รอดได้ดีกว่า"
"สสส.มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดงานส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคประชาชนมีความพร้อมทั้งตัวชุมชน ขยายไปยังระดับจังหวัด ผสานความร่วมมือกับภาครัฐ รวมถึงหนุนเสริมความต่อเนื่องบวกกับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อเพิ่มเติมการอบรมให้สมบูรณ์ต่อไป"
รู้จักธรรมชาติ รู้จักเอาตัวรอด
ด.ต.นิรันดร์ พิมล ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง และประธานโครงการ CMS ประจำภาคใต้ หรือ ลุงดาบ วัย 72 ปี ซึ่งใช้เวลาหลังเกษียณทำงานกับมูลนิธิ เล่าว่า สมาชิกของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชนบท เมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น ดินสไลด์ น้ำท่วม สึนามิ ภาครัฐเข้าช่วยแต่บางครั้งไม่ตรงเป้าหมายและไม่ทั่วถึงจึงสร้างเครือข่ายขึ้นมาเองที่มีอยู่ทุกตำบลและหมู่บ้าน เมื่อเกิดภัยพิบัติสามารถแจ้งมายังศูนย์กลางซึ่งมีการระดมสิ่งของจากผู้ที่ใจบุญ แพ็กเป็นถุงแจกจ่ายให้ทุกครัวเรือน และหากของไม่พอ จึงจะแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังภาครัฐ
ในเรื่องภัยพิบัติ ตั้งแต่ ส.ค.ส. พระราชทานปี 2547 จึงมีการเตรียมพร้อมกำลังคนเรื่อยมา และมาใช้ชื่อว่า CMS ในภายหลังมีการจัดอบรมปีละ 3 รุ่น ใช้เวลา 4 คืน 5 วัน โดยให้ความรู้ทั้งด้านกสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา รวมถึงธรรมชาติพยากรณ์จากมด แมลง สัตว์ต่างๆ หรือต้นไม้ที่สามารถบ่งบอกได้ถึงฤดูกาลและภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้น การหุงหาอาหารโดยไม่ใช้ภาชนะ การทำคลังอาหารในช่วงภัยพิบัติ เป็นต้น รวมถึงบางรุ่นที่มาจากพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติโดยเฉพาะภาคใต้ เราจะเพิ่มเป็น 5 คืน 6 วัน เพื่อให้ความรู้ให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้ เมื่อตนเองมีชีวิตรอดจะได้ช่วยคนในครอบครัว และคนในชุมชนต่อไป
"ในช่วงเกิดสึนามิ ธันวาคม 2547 ลูกศิษย์ที่ผ่านการอบรมอยู่ชายทะเลเป็นชาวมอแกน บรรพบุรุษเขาสอนว่าหากไม้ไผ่ที่ลอยขนานในน้ำเกิดตั้งโด่ขึ้นมาให้ระวังจะเกิดสึนามิ นี่คือธรรมชาติพยากรณ์ ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อ ปรากฏว่าเขาสามารถช่วยเหลือคนในชุมชน คือ บ้านเกาะกลาง อ.เมือง จ.กระบี่ และหลายพื้นที่ได้ การมีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นโอกาสให้เด็กและประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางไปอบรมไกล เพราะมนุษย์เราอยู่กับธรรมชาติ ดังนั้นต้องศึกษาเรียนรู้" ด.ต.นิรันดร์ กล่าว
ทั้งนี้ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 มีที่ทำการที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ทดลองเกี่ยวกับการทำกสิกรรมธรรมชาติและอยู่อย่างพอเพียงได้จริง ตั้งแต่การผลิตเอนไซม์สมุนไพรธรรมชาติใช้เองในนาข้าว พืชชนิดอื่นๆ ทั้งพืชผักและไม้ผล รวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยและนำประสบการณ์ที่ปฏิบัติจริงไปเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกร โดยทำการทดลองและเผยแพร่ในพื้นที่ของเกษตรกรมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นที่ประจักษ์ว่ากว่า 4 ปีที่ผ่านมาได้ให้ความรู้ช่วยเหลือเกษตรกรได้ในหลายๆ จังหวัด