อาสา 5ส ‘วัดสร้างสุข’ สู่บันได 3 ขั้นพัฒนาชีวิต
เดี๋ยวนี้ไม่ว่าอะไรก็ขอให้สะดวกสบายไว้ก่อน สะสมจนกลายเป็นนิสัยเสียติดตัว ฉุดตัวเองให้ดิ่งลงเหวไม่รู้ตัว แม้กระทั่งเรื่องการทำบุญก็ยังเป็นการทำบุญแบบสำเร็จรูป จนลืมแก่นแท้ของหลักธรรมอันเป็นกุศโลบายให้คนเข้าวัด เพื่อจะได้น้อมนำคำสอนของพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ เหนือสิ่งอื่นใดคือการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการให้กลับมา “พัฒนาตนเอง”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สมาคม ส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. จัดกิจกรรม “การทำความสะอาดใหญ่” ภายใต้โครงการ “วัดสร้างสุข” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ วัดสุทธิวราราม โดยยึดหลักพัฒนา 5ส ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย เป็นหัวใจสำคัญของ โครงการฯ ซึ่งได้เหล่าอาสาสมัคร
นักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเขตสาทร และพนักงานบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์วัด ให้น่าอยู่ โดย ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม อธิบายว่า การเข้าร่วมกิจกรรมโครงการวัดสร้างสุขเป็นจุดเริ่มต้นของวัดสุทธิวราราม ที่มีดำริว่า การเรียนรู้ของบุคคลนั้นเริ่มต้นจากสิ่งที่มองเห็นได้ง่าย การสร้างสถานที่ที่เป็นสัปปายะ หมายถึงสถานที่เอื้อต่อการเรียนรู้และบรรลุธรรมของส่วนรวมจึงเป็นสิ่งควรทำก่อนสิ่งแรก ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการว่าเป็นสิ่งดีงามอันจะนำไปสู่ห้วงนิพพาน สืบต่อไป จึงนำเอาหลักการทางพระพุทธศาสนามาผสานกับหลักพัฒนา 5ส เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนในอนาคต พร้อมกับบ่มเพาะนิสัยความโอบอ้อมอารี เสียสละ และรับผิดชอบต่อสังคม
สำคัญที่สุดคือผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้พัฒนาชีวิตของตนเองอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาแบบบันได 3 ขั้น ดร.พระมหาสุทิตย์ อธิบายเพิ่มเติมว่าบันไดขั้นแรก คือ “การพัฒนาเรียนรู้ตน” นอกจากเราจะได้ร่วมกันสร้างสถานที่เรียนรู้ที่สะอาดสะดวกสบายน่าอยู่แล้วเรายังสามารถนำหลักพัฒนา 5ส มาปรับใช้กับตัวเองซึ่งจะทำให้เรามีสติอยู่กับตัวเอง โดยเฉพาะ ส ตัวสุดท้ายคือ “สร้างวินัย” จะทำให้เรามีความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
บันไดขั้นต่อมา คือ “การพัฒนาจิตใจ” การได้ทำจิตอาสาร่วมกันนั้น จะช่วยยกระดับจิตใจเมตตาของผู้ให้ ก่อให้เกิดความสามัคคีและมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมโลก บันไดขั้นสุดท้ายคือ “การพัฒนาสติปัญญาของบุคคล” เมื่อเกิดสถานที่เรียนรู้ที่เป็นสัปปายะ เกิดมิตรไมตรีอันดีระหว่างกัน รวมถึงจิตใจผ่องแผ้วปราศจากการคิดร้าย ทั้งหมดจะหลอมรวมกันเพื่อนำไปสู่การคิดดีทำดีในที่สุด
“งานอาสานี้ จึงไม่เพียงก่อเกิดประโยชน์ที่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงชุมชน สังคม และประเทศชาติไปพร้อมกันด้วย” เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ทิ้งท้าย
ด้าน น.ส.ปารมี แซ่หลี หรือ หลุยส์ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในอาสาสมัครที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่าวัดคือศูนย์รวมความสุข การได้มาอาสาทำความสะอาดวัดในครั้งนี้นอกจากวัดจะสะอาดและสวยงามแล้ว เรายังได้ความสุขจากการลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ซึ่งนำกลับไปปรับใช้ที่บ้านได้อีกด้วย สุขทั้งคนสุขทั้งวัด ดังชื่อโครงการวัดสร้างสุข
ท้ายที่สุดแล้วหลักพัฒนาใดๆ ก็ตาม จะได้ผลหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของตัวบุคคล หากมีเพียงแต่คำพูดลอยๆ หลักการพัฒนา ขั้นสูงใดๆ ก็คงไม่อาจฉุดดึงชีวิตให้ก้าวหน้าขึ้นมาได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด