อาสาสมัครเยาวชน งานที่ไม่มีค่าตอบแทน
ใช้เพียงจิตสาธารณะอย่างเดียว
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเห็นภาพกลุ่มอาสาสมัครเยาวชนทำงาน “บริการสังคม” ในสถานที่ต่างๆ และอาจสงสัยว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นใคร มาทำอะไรกัน ที่สำคัญวัตถุประสงค์ของการบริการสังคมแท้จริงคืออะไร วันนี้จะไปตามหาความจริงว่า อาชีพที่ไม่มีค่าตอบแทนแบบนี้เขาทำไปเพื่ออะไร?
ด.ญ.พิมนภัส ภู่ทองคำ หรือ น้องไอซ์ นักเรียนชั้น ป.5 จากโรงเรียนวรนาถพิทยา อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อาสาสมัครเยาวชนจากองค์กรเครือภู่ทองคำข่ายงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำงานบริการสังคมหรือการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อาชีพอาสาสมัครเยาวชนนั้น ไม่ต้องยื่นใบสมัคร หรือ ใช้วุฒิการศึกษาใดๆ เพราะใช้ “จิตอาสา” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยนางอัจฉรา สงค์ประเสริฐ อาจารย์ประจำโรงเรียนวรนาถพิทยา ได้เข้าร่วมกับกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
ด.ญ.พิมนภัส กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมซึ่งมีทั้งความสนุกสนาน และสาระความรู้ เช่น แจกสติ๊กเกอร์ รณรงค์ให้ผู้ใหญ่งดการดื่มเหล้า เมาไม่ขับ หรือ หากเลิกไม่ได้ก็ควรดื่มเหล้าอย่างมีสติ ซึ่งในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ที่จะถึงนี้ มีผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างหนาแน่นทั่วทุกจังหวัด และมักจะเกิดอุบัติเหตุที่น่าเศร้าสลดใจอยู่เสมอ จึงอยากให้ทุกคน ตั้งแต่เด็ก เยาวชน ไปจนถึงประชาชนทั่วไป ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการขับขี่อย่างปลอดภัย และมีสติกำกับตลอดเวลา จะได้ไม่เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทั้งนี้ มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เยาวชนมีแนวโน้มการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้นทั้งดื่มเป็นประจำและดื่มชั่วคราว โดยเยาวชน 15-19 ปี ดื่มสุราเป็นประจำเพิ่มสูงถึงร้อยละ 70 และเยาวชน 15-24 ปี ดื่มสุราสูงถึง 2.33 ล้านคน เป็นหญิง 0.2 ล้านคน เป็นชาย 2.13 ล้านคน ซึ่งแต่ละวันมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 700 คนต่อวัน
หลังจากถึง จ.นครสวรรค์ แล้วคิดว่าเวลาเราพูดเรื่อง จิตสำนึกสาธารณะ เราเข้าใจไม่ต่างกันว่า เรากำลังเห็นภาพของการที่ผู้คนมีสำนึกต่อส่วนรวม ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มากกว่า เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว หรือ ให้ มากกว่า รับ ผมเรียกคนเหล่านี้ว่า เป็นคนที่มีหัวจิตหัวใจโตกว่าคนปกติโดยทั่วไป
เพราะการหาคนที่มาทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนให้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่จากกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านมาอาจารย์ของโรงเรียนวรนาถพิทยาเปลี่ยนวิธีการใหม่ด้วยการเข้าไปชักชวนคนที่เห็นว่าน่าจะช่วยได้มาเป็นอาสาสมัคร ทำให้คนคนนั้นรู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่าเป็นที่ต้องการ
ที่สำคัญคือเป็นการกระตุ้นความดีความงามใส่ในใจคน ผลที่ได้กลับมาคือ ความสุขของอาสาสมัครเยาวชนเหล่านั้นนั่นเอง!
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
update 15-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์