อาสาสมัครดูแลผู้ด้อยโอกาส ต.วังแสง
อบต.วังแสง จ.มหาสารคาม เป็นกองทุนต้นแบบ เพื่อสร้าง "ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนสุขภาพดี"
อบต.วังแสง จ.มหาสารคาม เป็นหนึ่งใน อบต. ที่ได้วางนโยบายการบริหารงานครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณูปโภค ส่งเสริมอาชีพ โดยเฉพาะนโยบายด้านสาธารณสุข ร่วมมือภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อสร้างชุมชน "อยู่ดีมีสุข" เช่น วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม ม.มหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม มูลนิธิสุขภาพไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และยังจับมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น เพื่อจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น เมื่อปี 2551 หวังให้คนในชุมชนมี "ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนสุขภาพดี"
นายสมนึก ไชยสงค์ นายก อบต.วังแสง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม บอกว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ต.วังแสงนั้น เป็นกองทุนต้นแบบของมหาสารคาม และเป็น "ศูนย์เรียนรู้กองทุน หลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น" เป็นแหล่งศึกษาดูงาน และถ่ายทอดความรู้ให้กับ อบต./เทศบาล ที่เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพราะ อบต.วังแสงให้ความสำคัญกับการจัดทำประชาคมหมู่บ้าน ทำงานเป็นทีม สร้างแกนนำรับผิดชอบในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายก อบต. เล่าว่า การจะทำโครงการใดๆ โดยใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ นั้น ต้องยึดความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ให้คนในชุมชน ได้คิด และนำเสนอโครงการกันเอง จากนั้นจะดูงบประมาณ ตามความเหมาะสม เพื่อคน ในชุมชนได้ประโยชน์จากโครงการที่ทำมาชุมชนก็จะมีความภาคภูมิใจและกิจกรรมนั้นจะบรรลุผลตามที่ต้องการ
ที่ผ่านมา กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ด้วยยาสมุนไพร และภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน การลดละเลิกอบายมุข งดเหล้าในงานบุญแล้ว กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ยังสนับสนุนให้เกิด "อาสาสมัครดูแลผู้ด้อยโอกาสตามบ้าน (อสด.)" เข้ามาเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน และยังช่วยทำหน้าที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชนได้ดีที่สุด เพราะใกล้ชิดคนในชุมชนที่สุด
ด้าน นางอรสา ศรีบุญเรือง ประธานอาสาสมัครดูแลผู้ด้อยโอกาสตามบ้าน (อสด.) ของตำบลวังแสง เล่าว่า เห็นคนด้อยโอกาสก็อยากช่วยเหลือ เพราะเห็นว่า อสม. อบต. มีภารกิจหลายด้านอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง ถ้ามี อสด. ลงไปช่วยดูแลโดยตรงจะช่วยสร้างความอุ่นใจให้คนด้อยโอกาสได้มากขึ้น โดย อสด. เกิดจาก อบต.วังแสง คัดเลือกจิตอาสา หมู่บ้านละ 2 คน ทั้งตำบลมี 20 หมู่บ้าน ได้ อสด. 40 คน ขณะที่ ต.วังแสง มีผู้พิการ 76 คน ผู้สูงอายุ 700 คน ผู้ด้อยโอกาส 3-4 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้รับการดูแลจาก อสด.เป็นอย่างดี
นางสมบัติ จันปัญญา ประธาน อสม. บ้านวังแสง หมู่ 1 เล่าว่า ในการไปเยี่ยมแต่ละครั้ง จะมีของติดไม้ติดมือไปด้วย พร้อมสอบถามว่าอยากได้รับช่วยเหลือด้านใดบ้าง เช่นผู้สูงอายุอยากให้ปรับปรุงห้องน้ำ ห้องนอน ปรับบ้านให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ผู้พิการที่ยังไม่มีรถเข็น และจำเป็นต้องได้รถเข็น ทาง อสด.จะรายงานพร้อมสอบถาม อบต. ว่าจะช่วยเหลือตรงไหนได้บ้าง
ขณะนี้มีผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสได้รับความช่วยเหลือในการปรับปรุงสภาพบ้านกว่า 20 คน การซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านของ อบต.วังแสง จะหางบมาจัดซื้อวัสดุเท่านั้น ส่วนแรง คนในหมู่บ้านจะมาช่วย "ลงแขก" ใครมีความสามารถด้านช่างไม้ ช่างปูน ปูกระเบื้อง มุงหลังคา ก็มาช่วยกันทำ อาหารก็ทำมาเลี้ยงกันเอง
พ่อบุญ พิละคร อายุ 80 ปี เผยความรู้สึกว่า ดีใจที่มีคนมาเยี่ยมเยียน ไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวถึง จะอาศัยอยู่กับยายเฉลียวเพียง 2 คน ซึ่งหลังจากที่ อสด. ไปเยี่ยมเยียน หลายครั้ง สังเกตเห็นว่า สองตายายต้องไปเข้าห้องน้ำที่อยู่ห่างไปจากบ้านมาก จึงปรับปรุงสภาพบ้าน ทำห้องน้ำ ฝาเรือนให้ใหม่
…อยากเห็นสังคมเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ในยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้น กระจายทั่วผืนแผ่นดินไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต