อาวุโส(จะ)โอเค ถ้าเราไม่เท และใส่ใจ
ที่มา : Good Factory
แฟ้มภาพ
จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ปี 2557 พบว่า คนไทยมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น เมื่ออายุสูงขึ้น และพบมากในเพศหญิงมากกว่าชาย ขณะที่ผลการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุ(60 ปีขึ้นไป) และวัยก่อนเกษียน(50–59 ปี) พบว่า ยิ่งรู้สึกว่าชีวิตเต็มไปด้วยกิจกรรมน่าสนใจมากเท่าไหร่ ความพึงพอใจในชีวิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
นั่นหมายความว่า คงไม่เป็นการดีนัก ถ้าเราปล่อยให้ผู้สูงวัย หยุดทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต ด้วยมองว่า อายุมากแล้ว ควรพักผ่อนอยู่กับบ้านเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกัน ความรู้สึกมีชีวิตชีวา กลับกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนสูงวัย ยิ่งรู้สึกมีชีวิตชีวา ยิ่งรู้สึกดีกับชีวิต มีคุณค่า ไม่ใช่ภาระของของสังคม
โจทย์สำคัญสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ คือ จะทำอย่างไรที่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกดีกับชีวิต ไม่กลายเป็นโรคซึมเศร้า อยู่ในภาวะที่สามารถช่วยเหลือตนเอง ซึ่งอาจจะต้องเริ่มตั้งแต่
- เปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้สูงวัย: ผู้สูงอายุ ไม่ใช่คนอ่อนแอเสมอไป สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่ภาระของลูกหลาน มีคุณค่า และสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้
- ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการออกไปใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ: ไม่ว่าจะเป็น ทางเดิน ทางข้าม ระบบขนส่งสาธารณะ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ถ้าคิดถึงผู้ใช้งานที่เป็นผู้สูงอายุสักนิด โลกจะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ
- สร้างความรู้สึกมีชีวิตชีวาให้กับผู้สูงอายุ: อาจจะเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้สูงอายุโดยตรง ออกแบบกิจกรรมแล้วอย่าลืมออกแบบเรื่องการเข้าถึงกิจกรรมของผู้สูงวัยด้วย แน่นอนว่าการมีสภาพแวดที่เอื้ออำนวย ย่อมส่งผลให้ผู้สูงอายุอยากออกไปทำกิจกรรมมากขึ้น
- ส่งเสริมการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุ: การที่ผู้สูงอายุจะช่วยเหลือตนเองได้ ออกไปใช้ชีวิต ทำกิจกรรมด้วยตนเองได้ ย่อมหนีไม่พ้น การส่งเสริมให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะการไม่มีโรคย่อมเป็นลาภอันประเสริฐ
เมื่อผู้สูงอายุมีร่างกายดี จิตใจดี ช่วยเหลือตนเองได้ ย่อมออกไปมีส่วนร่วมกับสังคมได้ และมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่บุคคลที่ถูกปล่อยให้ไร้ค่าอีกต่อไป ถ้าเราช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา รับรองว่า ผู้สูงวัยแฮปปี้ ลูกหลานแฮปปี้ สังคมก็แฮปปี้ รู้สึกดีดีกันทุกฝ่ายแน่นอน