อายุต่ำกว่า 20 คลอดลูกเฉลี่ยวันละ 370 คน
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร วันที่ 16 มกราคมว่า ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มัธยมศึกษาปีที่ 5 และ ปวช.ปี 2 พบว่า แนวโน้มของวัยรุ่นในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก มีอายุลดลงเรื่อยๆ เฉลี่ย 15-16 ปี
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2550-2554 พบว่าการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 55.1 และร้อยละ 70 ของวัยรุ่นใช้บ้านตนเอง หรือบ้านเพื่อนเป็นสถานที่ที่มีเพศสัมพันธ์ ปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากใช้วิธีคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ใช้วิธีการป้องกัน
เนื่องจากขาดความรู้ มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการร่วมเพศ คิดว่าร่วมเพศครั้งเดียวไม่ตั้งครรภ์ การใช้ถุงยางอนามัยขัดขวางความรู้สึกทางเพศ และไม่รู้ว่าตนเองจะมีโอกาสตั้งครรภ์เมื่อใด นอกจากนี้วัยรุ่นยังไม่กล้าไปขอรับบริการคุมกำเนิด เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีทัศนคติไม่ดีต่อวัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นแม้จะมีความรู้แต่ก็เข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า จากพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย และมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ส่งผลให้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้น จากสถิติสาธารณสุขพบว่าในปี 2554 มีเด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 370 คน และในอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรวันละ 10 คน
จากข้อมูลปี 2554 พบว่าร้อยละ 53 ของผู้ป่วยที่ทำแท้งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเยาวชนและร้อยละ 30 มีสถานภาพเป็นนักเรียนนักศึกษา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 เป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ผลกระทบที่สำคัญพบว่าแม่วัยรุ่นยังขาดโอกาสในการศึกษา เพราะต้องรับภาระในการดูแลบุตรและการสร้างครอบครัว
สำหรับแนวทางแก้ปัญหากระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553-2557) โดยส่งเสริมให้ครอบครัวอบอุ่นมีลูก เมื่อพร้อม สนับสนุนให้โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้เรื่องเพศศึกษา รวมทั้งการพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน อีกทั้งยังส่งเสริมให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เน้นการเข้าถึงการใช้บริการในกลุ่มวัยรุ่น จัดบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน
พร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ในกลุ่มวัยรุ่นทั้งในและนอกสถานศึกษา ด้วยการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษา การดูแลช่วยเหลือเบื้องต้น และระบบส่งต่อเพื่อเชื่อมโยงระหว่างชุมชน สถานศึกษา และคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาล ผ่านการดำเนินการโครงการ 1 โรงเรียน 1 โรงพยาบาล และอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ ตลอดจนสนับสนุนให้ทุกจังหวัดมีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ระดับจังหวัด โดยเฉพาะประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและเยาวชน มีแผนยุทธศาสตร์และนำสู่การปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและอนามัย การเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชนอย่างยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน