"อาบน้ำพอเหมาะ-แปรงฟันแห้ง-ล้างมือ" ป้องกัน 6 โรคในฤดูร้อน
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
เเฟ้มภาพ
สธ.เตรียมรับมือภัยแล้ง 13 จังหวัด กำชับ รพ.ประเมินสถานการณ์สำรองน้ำให้เพียงพอ แนะประชาชนจิบน้ำบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อาบน้ำแต่พอเหมาะ เน้นจุดหมักหมม แปรงฟันแห้ง ช่วยประหยัดน้ำ แต่ยังรักษาอนามัยส่วนบุคคล ช่วยสกัด 6 โรคหน้าแล้ง ยันน้ำประปากร่อยไม่กระทบสุขภาพ ส่วนผู้ป่วยไตกินน้ำขวดแทน
นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เเละนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวมาตรการรับมือภัยแล้งและน้ำประปาเค็ม โดย พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในครั้งนี้มาเร็วและอยู่ยาว ซึ่งจริงๆ เริ่มตั้งแต่ช่วงปลาย ธ.ค. 2562 แล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้สึกถึงภัยแล้ง คาดว่าหลัง พ.ค.สถานการณ์น่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2563 พบว่า มีการประกาศเขตความช่วยเหลือภัยแล้ง จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และนครราชสีมา ส่วนของการเตรียมการรับมือ ในส่วนของสถานพยาบาล มีการสั่งการให้ประเมินปริมาณการใช้น้ำทั้งในระดับโรงพยาบาลใหญ่และเล็กว่า แต่ละวันใช้น้ำมากน้อยเท่าใด และให้มีการสำรองน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านการบริการ โดยเฉพาะในส่วนของห้องผ่าตัด ศูนย์โรคไต เป็นต้น
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่ต้องระวัง คือ ในส่วนของสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม เพราะน้ำน้อยหรือช่วงแล้งอาจนำมาซึ่งโรคติดต่อทางเดินอาหารได้ หลัก คือ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย และไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งย้ำว่าแม้ช่วงหน้าแล้ง แต่ก็ยังต้องรักษาอนามัยส่วนบุคคล อย่างเรื่องการอาบน้ำแนะนำว่า ควรใช้น้ำอย่างประหยัดและพอเหมาะ เน้นในส่วนที่หมักหมม อับชื่น จุดซ่อนเร้นต่างๆ อย่างบางคนทำงานในห้องร่างกายก็ไม่ได้สกปรกมาก และเวลาฟอกก็อาจปิดน้ำเพื่อช่วยประหยัด ซึ่งคงไม่ต้องถึงขั้นแบบสิงคโปร์ที่กำหนดให้อาบน้ำภายใน 2 นาที ส่วนการแปรงฟันอาจเป็นการแปรงฟันแห้ง โดยไม่ต้องใช้น้ำล้างแปรงหรือบ้วนปากก่อนแปรง เพราะน้ำลายมีส่วนช่วยอยู่แล้ว เพียงแต่แปรงให้ครบ 2 นาที ทุกด้าน ทุกซี่ โดยไม่ต้องใช้น้ำบ้วนปากตาม ก็สามารถช่วยลดการใช้น้ำลงได้ นอกจากนี้ ที่สำคัญคือกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ ยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ โดยระหว่างวันอาจใช้เจลล้างมือช่วยได้อีก การรักษาสุขอนามัยเช่นนี้จะช่วยป้องกันโรคที่เกิดขึ้นได้
"ช่วงหน้าแล้งมักจะมากับอากาศที่ร้อนด้วย ดังนั้น ที่แนะนำ คือ 1.จิบน้ำบ่อยๆ ขึ้น จิบทีละน้อย ไม่ใช่ครั้งละมาก จะช่วยลดกระหายได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วย อาจขาดน้ำได้ง่ายกว่า ต้องหมั่นสังเกต เช่น ปากแห้ง เลียริมฝีปากบ่อย ต้องให้จิบน้ำบ่อยๆ 2.เตรียมนำบริโภค โดยน้ำดื่มต้องสะอาดอยู่ในมาตรฐาน ส่วนน้ำใช้ก็ต้องดูแลในระดับหนึ่ง 3.หากไม่เพียงพอต้องใช้แหล่งน้ำจากธรรมชาติ เช่น คลอง แม่น้ำ หากเป็นน้ำใช้ต้องมีการแกว่งสารส้มหรือใส่คลอรีน แต่น้ำดื่มยังต้องมาผ่านการกลั่นกรองหรือต้มอีกขั้นหนึ่งก่อน ส่วนน้ำบาดาลใช้เป็นน้ำใช้ได้ เพราะมีการตรวจคุณภาพเหมือนน้ำประปา แต่ไม่ควรน้ำมาใช้ดื่ม และ 4.ดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ทิ้งขยะและสิ้งปฏิกูล เพราะน้ำน้อยสภาพน้ำจะไม่ดีเท่าช่วงปกติ" พญ.พรรณพิมลกล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับเรื่องน้ำประปา การประปาส่วนภูมิภาคยังไม่มีผลกระทบเรื่องน้ำประปารสเค็มกร่อย แต่ทำแผนร่วมกรมชลประทานเพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอในช่วงหน้าแล้ง ส่วนประเด็นน้ำประปาเค็มกร่อยเกิดในส่วนของการประปานครหลวง จากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงจนกระทบแหล่งน้ำดิบจนกระทบค่าเฝ้าระวัง ซึ่งค่าเฝ้าระวังโซเดียมคลอไรด์อยู่ที่ 0.1-0.3 หากโซเดียมและคลอไรด์เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไป หรือ 0.2 จะเริ่มมีรสชาติกร่อยและเค็ม แต่จะเฝ้าไม่ให้เกิน 0.3 แต่จากข้อมูลย้อนหลังพบว่า ค่าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 0.2 เท่านั้น และเป็นค่าที่ขึ้นๆ ลงๆ บางช่วงของวัน ไม่ได้ขึ้นต่อเนื่องตลอดทุกวัน และหากเทียบกับการดื่มน้ำตามปกติของประชาชน ก็ยืนยันว่า แม้จะได้รับโซเดียมคลอไรด์เพิ่มขึ้น แต่ก็เล็กน้อยมาก คือประมาณ 1 ใน 5-6 ของปริมาณ 1 ช้อนชาเท่านั้น ไม่ได้กระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด ซึ่งร่างกายเรารับได้ต่อวันประมาณ 1 ช้อนชา แต่อาจกระทบกับรสชาติบ้างเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหัวใจ จริงๆ จะขึ้นกับสภาพไตของแต่ละคนว่ารับเกลือเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแพทย์ที่ดูแลจะให้คำแนะนำ แต่ช่วงนี้แนะนำว่า อาจใช้น้ำดื่มบรรจุขวดก่อน เพราะเครื่องกรองน้ำแบบ RO ที่กรองแร่ธาตุต่างๆ ออกได้ทั้งหมดมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบคือ เหตุการณ์น้ำประปากร่อยเกิดแค่โซนกรุงเทพตะวันออก ซึ่งก็มีการแจกน้ำดื่มบรรจุวดที่ผ่านการกรองด้วยระบบ RO ที่สามารถกรองเอาแร่ธาตุทั้งหมดออกไปได้มาแจกฟรีแก่ประชาชน ผู้ป่วยก็สามารถรับมาบริโภคได้ ส่วนใน รพ.มีระบบกรองน้ำด้วย RO อยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวล
นพ.โอภาส กล่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำน้ำดื่มสำหรับประชาชน ที่ผ่านมาจึงมีการส่งตัวอย่างน้ำมาให้กรมฯ ตรวจคุณภาพ ซึ่งพบว่า น้ำบรรจุขวดได้คุณภาพมาตรฐาน ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาโรคติดต่อทางน้ำในช่วงภัยแล้งต่างๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจแก่ผู้ผลิตและประชาชน กรมฯ ได้ออกหนังสือคู่มือการผลิตน้ำดื่มเหมาะสำหรับผู้ผลิตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับทราบถึงวิธีในการผลิต การทดสอบต่างๆ หากมีปัญหาจะแก้ไขอย่างไร และประชาชนได้รับความรู้ในขั้นตอนการผลิตน้ำดื่มที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งมีแจกฟรีที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 12 แห่งทั่วประเทศ