อาชีวะจับมือพันธมิตร ดันนักศึกษาฝึกทักษะอาชีพนานาชาติ
กว่า 4 หมื่นโรงงานขานรับ ร่วมส่งเสริมฝีมือแรงงานไทย
“ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ปฏิรูปวิธีสอบ”…นโยบายที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาอาชีวะ ให้มีขีดความสามารถเป็นที่ต้องการต่อตลาดแรงงาน ล่าสุดกับการลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาการฝึกอบรมทักษะอาชีพนานาชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา
โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการจับมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สำนักความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกองทุนเพื่อการพัฒนาการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพให้กับเยาวชนประเทศไทย และเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ในสถานประกอบการในประเทศไทยและต่างประเทศ
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้รับการเปิดเผยโดย นายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่า สอศ.ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรที่จะออกไปเป็นแรงงานสำคัญของประเทศในอนาคต เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านอาชีวศึกษาในภูมิภาค
“ความร่วมมือในครั้งนี้ มีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะอาชีพนานาชาติ เสริมสร้างประสบการณในการทำงานกับสถานประกอบการ เป็นการเรียนการสอนแบบ โรงเรียน โรงงาน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานจนสามารถเข้าสู่สถานประกอบการทั้งในและต่างประเทศได้ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะร่วมกำหนดหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และ ตลาดแรงงาน” เลขาธิการ สอศ. เล่า
เลขา สอศ. เล่าถึงความร่วมมือในแต่ละหน่วยงานว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมอำนวยความสะดวกตามกฎหมายด้านพิธีการตรวจคนเข้า-ออกเมืองสำหรับเยาวชน สำนักความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศจะส่งเสริมเยาวชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ารับการฝึกทักษะอาชีพทั้งในและต่างประเทศ และกองทุนเพื่อพัฒนาการอาชีพ จะให้การสนับสนุนให้เยาวชนได้รับการฝึกทักษะอาชีพ นอกจากนี้ ยังจับมือกับโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น 39 กลุ่มอาชีพ เพื่อรองรับนักศึกษาในโครงการนี้
“ที่ผ่านมา เราได้นำร่องโครงการโดยการส่งนักศึกษาจำนวน 200-300 คนไปศึกษาดูงานที่ประเทศอิสราเอล ในภาควิชาการเกษตร โดยให้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ติดตามผล ทำการทดสอบเพื่อควบคุมคุณภาพของนักศึกษา นอกจากนี้ยังอบรมฝึกทักษะให้กับครูชาวเวียดนามและพม่า และนำนักศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่ามาฝึกทักษะในโรงงานจริงอีกด้วย” เลขา สอศ. เล่าถึงโครงการนำร่องที่เกิดขึ้น
ด้านการดำเนินงานสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะแต่งตั้งผู้แทนประสานงานเพื่อกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ และแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ติดตามดูแล ให้คำปรึกษาในการดำเนินงานความร่วมมือ ซึ่งภายหลังจากการลงนามความร่วมมือในวันนี้แล้ว จะมีการประชุมหารือในรายละเอียดต่อไป โดยบันทึกข้อตกลงนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2551ถึง วันที่ 18 ก.ย. 2554
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อธิบดีกรมการจัดหางาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทย มีปัญหาเรื่องศักยภาพของแรงงาน ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และปริมาณนักศึกษาที่เรียนในสายอาชีพหรืออาชีวะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน อันเนื่องมาจากวัฒนธรรม ความเชื่อเดิม ๆ ที่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่าเรียนสายอาชีพ ดังนั้น ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทย เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้
“ประสิทธิภาพทางด้านการทำงานยังเป็นปัญหาของแรงงานไทยที่กำลังประสบขณะนี้ ซึ่งเราสามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพได้ โดยการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเน้นทฤษฎีควบคู่กับปฏิบัติงานจริง โดยนำนักศึกษาอาชีวะไปพัฒนา อบรม ฝึกทักษะในสถานประกอบการจริง ให้มีความสามารถที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ทางด้าน นายทวีกิจ จตุรเจริญกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมจะเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตร และพัฒนาหลักสูตรจากเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ดีและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญหลักสูตรที่นักศึกษาอาชีวะจะได้เรียนนั้น ต้องเป็นสายวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
“โดยเฉพาะในสาขาช่างเชื่อม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก แต่กลับไม่มีแรงงานที่มีคุณภาพรองรับอย่างเพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น การสร้างคน เพื่อพัฒนาประเทศ ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งของ สอศ.เช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าต้องอาศัยทั้งพลังอุดมศึกษา และพลังอาชีวะ เพื่อสร้างและพัฒนาทักษะแรงงานที่มีคุณภาพ และเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน” นายทวีกิจ กล่าว
เป็นที่น่าจับตามองกับยุทธศาสตร์ของการเรียนการสอนแบบ “โรงเรียน โรงงาน” ของอาชีวะศึกษา โดยเฉพาะการผนึกกำลังกันของเหล่าพันธมิตรที่มีเป้าหมายในการพัฒนาแรงงานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีและมีศักยภาพ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้…การขับเคลื่อนขุมพลังทางด้านการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป…คงต้องจับตามองกันต่อไป…
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 24-09-51