อากาศแปรปรวนส่งผลชาวตรังล้มป่วย 3 โรค
สาธารณสุขจังหวัดตรังเตือน จากสภาพอากาศที่แปรปรวน และมีฝนตกลงมาในระยะนี้ ส่งผลให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย ล้มป่วยด้วยโรคปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก
นายแพทย์วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีฝนตกลงมาในระยะนี้ ส่งผลให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีปัญหาสุขภาพ ทั้งที่ป่วยแล้วและที่กำลังเริ่มจะป่วยมีมากขึ้น ซึ่งจากรายงานการป่วยด้วยโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐขณะนี้ พบว่า มีประชาชนป่วยแล้วใน 3 โรคสำคัญ คือ โรคปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก
อันดับที่ 1 คือ โรคปอดบวม มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 140 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุแรกเกิด-4 ปี จำนวน 126 ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี กลุ่มอายุ 10-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ตามมาด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 25 ราย พบมากที่สุดกลุ่มอายุแรกเกิด-4 ปี จำนวน 9 ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี จำนวน 4 ราย, กลุ่มอายุ 10-14 ปี จำนวน 8 ราย และกลุ่มอายุ 15-24 ปี จำนวน 4 ราย และโรคไข้เลือดออก มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 18 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี จำนวน 6 ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี กลุ่มอายุ 15-24 ปี กลุ่มอายุแรกเกิด- 4 ปี นอกจากนั้น ยังพบการกระจายในกลุ่มอายุ 35-44 ปี กลุ่มอายุ 45-54 ปี และกลุ่มอายุ 55-64 ปี ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีรายงานพบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวไม่มากนักและไม่พบการเสียชีวิตก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญคือ โรคดังกล่าวอยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ โดยเกิดตั้งแต่จมูก หู คอกล่องเสียง หลอดลมและปอด มีอาการไม่เกิน 28 วัน ได้แก่ โรคหวัด โรคคออักเสบ โรคหูอักเสบกล่องเสียงอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส และบางส่วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งหากรุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ และที่น่าเป็นห่วงคือ สามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่าย จากการสูดอากาศที่มีเชื้อหวัดหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย
สำหรับการดูแลเด็ก หรือดูแลตนเองขณะป่วย ควรปฏิบัติใน 3 ด้าน คือ การดูแลทั่วไปเรื่องรับประทานอาหารตามปกติ หรืออาหารอ่อนย่อยง่าย โดยให้ทานทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานยาลดไข้ และดูแลตามอาการ เช่น มีไข้หมั่นเช็ดตัว หรือหากเป็นเด็กเล็ก ให้ใช้น้ำผึ้งผสมมะนาวป้ายลิ้น หรือชงดื่มบ่อยๆ และมีการเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน เช่น หายใจผิดปกติ หอบเร็ว มีเสียงหวีด ซึม มีไข้สูงไม่ลด ซึ่งกรณีเช่นนี้ผู้ป่วยจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที
ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์