อากาศเปลี่ยนอย่าประมาท หวัดระบาด
ที่มา: มติชน
แฟ้มภาพ
อากาศประเทศไทย ระยะนี้ค่อนข้างแปรปรวน ทั้งร้อน หนาว ฝน สลับกันมาเยือน หลังจากกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ประกาศเตือน 7 โรคที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคตาแดง โรคอาหารเป็นพิษ โรคไข้ฉี่หนู และโรคเมลิออยโดสิส แต่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงหน้าหนาว หรือช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง คงหนีไม่พ้น "โรคไข้หวัดใหญ่" พบผู้ป่วยพุ่งสูงในช่วง อากาศเปลี่ยนแปลงเช่นนี้
เห็นได้จาก นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวพยากรณ์โรคปี 2561 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า โรคไข้หวัดใหญ่พบได้ 2 ช่วง คือ ช่วงต้นปีประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และช่วงฤดูฝน คือ เดือนมิถุนายน-ตุลาคม แน่นอนว่าช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้จะเป็นช่วงต้องเฝ้าระวัง เพราะเสี่ยงป่วยเป็นไข้หวัดได้ สถานการณ์ในปี 2561 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 220,000 ราย โดยช่วงเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ จะมีผู้ป่วยประมาณ 8,500 รายต่อเดือน ขณะที่สูงสุดจะอยู่ที่เดือนมิถุนายนตุลาคม มีผู้ป่วยประมาณ 13,000 รายต่อเดือน
สำหรับในปี 2560 ตัวเลขผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-12 ธันวาคม 2560 มีผู้ป่วย 189,870 ราย มีผู้เสียชีวิต 54 ราย สายพันธุ์ปี 2560 ปลายปีเริ่มเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ B และแนวโน้มปีหน้าก็น่าจะเป็นสายพันธุ์นี้ พื้นที่ต้องระวังที่สุด คือ 23 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา พิษณุโลก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อ่างทอง ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ ตราด นครพนม หนองคาย นครราชสีมา อุบลราชธานี ภูเก็ต และกรุงเทพฯ
แม้กรมควบคุมโรคย้ำว่า สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยนไปในปี 2561 ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ และไม่ได้รุนแรงจนต้องวิตกกังวล แต่ก็ต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยเน้นป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยใช้มาตรการ "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" คือ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอจาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด
ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ต้องย้ำว่าไม่ได้ป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ลดความรุนแรงได้ จึงรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีนฟรี คือ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม 6.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 7.ผู้ป่วยโรค ธาลัสซีเมีย 8.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดธรรมดาจะทำอย่างไร สามารถดูแลตัวเองได้หรือไม่ หลายคนมักเข้าใจว่า เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดต้องทานยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกกันผิดๆ ว่ายาอักเสบ จริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็น หนำซ้ำยังเสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยาที่จะเป็นปัญหาในอนาคตอีก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะโฆษก สธ. กล่าวว่า จริงๆ แล้วโรคไข้หวัดมีตั้งแต่อาการน้อยๆ ไปจนถึงมาก หากปอดบวม ก็จะเสี่ยงเสียชีวิตได้ แต่พบไม่มาก อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัดทั่วไป โดยมีอาการไอ น้ำมูก แต่หากไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส ปวดเนื้อปวดตัว โดยทั่วไปสาเหตุการป่วยโรคไข้หวัด พบกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัส ขณะที่เชื้อจากแบคทีเรียน้อยมาก ยกเว้นบางคนอาจเกิดจากเชื้อไวรัส จนทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ และอาจเกิดแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ซึ่งก็จะใช้ยาปฏิชีวนะ
"เดิมการเป็นหวัดแพทย์เคยให้ยาปฏิชีวนะ ไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะเป็นเชื้อไวรัส แต่ปัจจุบัน สธ.มีนโยบายให้ใช้ยาสมเหตุสมผลขึ้น หากป่วยด้วยไข้หวัดทั่วไปจะไม่ให้ยาปฏิชีวินะ แต่อาจมียาลดน้ำมูก หรือหากเป็นไข้ก็ให้ยาลดไข้ แต่จริงๆ แล้ว การดื่มน้ำอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ หรือการหันมาทานยาสมุนไพร อย่างฟ้าทะลายโจร หรือแม้แต่การทานผักผลไม้ ส้ม ซึ่งมีวิตามินซีก็ช่วยได้ หรือดื่มน้ำมะนาว น้ำผึ้ง ส่วนคนที่มักเชื่อว่าการทานวิตามินซีจะช่วยป้องกันไข้หวัดนั้น จริงๆ ยังไม่มีงานวิจัยชัดเจนเรื่องนี้
"ดังนั้น หากเราดูแลตัวเองแล้วอาการยังไม่ ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยอาการ เพราะหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จะต้องทายาโอเซลทามีเวียร์" นพ.โอภาสกล่าว และว่า ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง ยิ่งอากาศเย็นๆ จะมีความแห้ง ทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง ก็สามารถดื่มน้ำอุ่นๆ ช่วยได้ หรือทานอาหารที่มีพืชสมุนไพร อย่างพวกต้มยำ ต้มข่า มีหอมแดงก็ช่วยได้เช่นกัน
เมื่อถามถึงกรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้ป่วยเชื้อไวรัสลงกระเพาะ หรือหวัดลงกระเพาะ นพ.โอภาสกล่าวว่า น่าจะหมายถึงเชื้อไวรัสลงกระเพาะ เกิดได้ทั้งจากการปนเปื้อนของอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หรืออาจมาจากทางอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้พบมาก
ด้านกรุงเทพมหานคร นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ไวรัสลงกระเพาะ หรือที่เรียกกันว่า ไข้หวัดลงกระเพาะ มักพบผู้ป่วยจำนวนมากเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวของทุกปี โดยปกติแล้วไวรัสจะมี 4-5 ชนิด จะก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ แต่ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ไวรัสโรตาและไวรัสโนโร โดยเฉพาะไวรัสโรตามักมากับฤดูหนาว ไวรัสชนิดนี้จะมากับเชื้อโรคและอากาศ คือ เมื่อมีอาการ ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ เชื้อไวรัสดังกล่าวจะออกมาด้วย จากนั้นเชื้อไวรัสจะเกาะอยู่บริเวณต่างๆ ตามสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร ลูกบิดประตู ของเล่นเด็ก ฯลฯ
ขณะเดียวกันสามารถติดเชื้อไวรัสโรตาได้โดยตรง เมื่อสัมผัสเชื้อ อยู่ใกล้หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย ก่อนเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจทำให้เกิดอาการไอ จามก่อน จากนั้นติดเชื้อไปยังกระเพาะอาหาร เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน สภาพอากาศเย็นทำให้เชื้อโรคก่อตัวในอาหารได้ง่ายขึ้น เมื่อกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ไม่ได้ใช้ช้อนกลางขณะกินอาหารร่วมกับบุคคลอื่น จะติดเชื้อไวรัสได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องหมั่นกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ
นพ.เมธิพจน์กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส คือ กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนกลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปีจะพบว่าป่วยมากที่สุด ฉะนั้น ผู้ปกครองต้องทำความสะอาดของเล่นเด็กด้วยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนตามสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนเด็กเล็ก ต้องทำความสะอาดสิ่งของและของเล่น 3 วันต่อ 1 ครั้ง ด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอกและนำไปตากแดด สถานที่พบเชื้อมากที่สุด คือ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และบ้านบอล
เมื่อติดเชื้อไวรัส เบื้องต้นจะมีอาการไอ จาม มีไข้เล็กน้อย น้ำมูก และมีอาการเด่นชัดคือ คลื่นไส้และอาเจียน ลักษณะอาการคล้ายไข้หวัด เพราะเป็นเชื้อโรคกลุ่มเดียวกัน แต่ไวรัสลงกระเพาะนี้จะมีการติดเชื้อลงสู่กระเพาะอาหาร หากมีการติดเชื้อลงสู่ลำไส้ก็จะมีอาการท้องร่วงหรือท้องเสีย พบว่าในปี 2560 พบผู้ใหญ่ติดเชื้อไวรัสจากการกินอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ใกล้เทศกาลปีใหม่ที่จัดงานเลี้ยงต่างๆ
นพ.เมธิพจน์กล่าวถึงการรักษาอาการในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะรักษาตามอาการ เมื่อพบว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หากเกิดอาการคลื่นไส้รุนแรงให้กินเกลือแร่ทดแทนการขาดน้ำในร่างกายทันที พบว่าผู้ใหญ่ยังไม่น่าห่วงมากนัก แต่ในเด็กเล็กอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานโรคที่มากพอ
ทั้งนี้ หากเด็กมีอาการอาเจียน ให้ผู้ปกครองพยายามป้อนอาหารอ่อน น้ำสะอาด นมหรือน้ำหวาน ผ่านการใช้ช้อนชา ไม่ควรสัมผัสกับมือโดยตรง พยายามป้อนอาหารทีละนิด รอดูอาการภายใน 30 นาที แล้วค่อยป้อนใหม่
หากมีอาการอาเจียนน้อยลง พยายามป้อนอาหารให้มากขึ้น เพราะอาหารจะทำให้ร่างกายมีพลังงาน สร้างภูมิต้านทานและลดเชื้อโรคลงได้ในที่สุด สังเกตว่าเด็กมีอาการดีขึ้นได้จากอาการหิว ถ้าอาการแย่ลง กินอาหารไม่ได้และอาเจียนรุนแรงขึ้น ต้องส่งพบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือทันที
"จากการสุ่มตรวจอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2559 เพื่อตรวจหาเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร พบว่า ข้าวมันไก่ เป็นแชมป์อาหารที่พบการปนเปื้อนของเชื้อโรคมากที่สุด เป็นสาเหตุการเกิดโรคต่างๆ รองลงมาได้แก่ อาหารอีสาน ขนมจีน และอาหารทะเล ตามลำดับ ดังนั้น อยากให้ประชาชนระมัดระวังในการกินอาหารที่มีความเสี่ยง ไม่ใช่ว่าห้ามกิน แต่ให้ระวัง ส่วนข้อมูลการสำรวจอาหารปี 2560 อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล