อากาศเปลี่ยนยอดผู้ป่วยปอดบวมพุ่ง
สธ.เผยสถิติป่วยปวดบวมแล้วกว่า 1.6 แสนราย ตายเกือบ 800 ราย พบมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คาดพุ่งถึง 2 แสนรายหลังสิ้นฤดูหนาว
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 12 พฤศจิกายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) กำหนดให้เป็นวันโรคปอดบวมโลก เพื่อให้ทั่วโลกรณรงค์ลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงเฉียบพลัน คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบสูงที่สุด ต่อปีมีรายงานเสียชีวิต 1.1 ล้านคน ร้อยละ 99 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยในปี 2557 นี้ เน้นการรณรงค์ป้องกันและให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้น้อยลง
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคปอดบวมตลอดปี จำนวนผู้ป่วยในปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังโรคปอดบวมตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 ถึง 2 พฤศจิกายน 2557 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 164,955 ราย เสียชีวิต 772 ราย ขณะที่ในช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคปอดบวม 159,150 ราย ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศในบางพื้นที่ เช่น ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มหนาวเย็น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสได้ดี จะส่งผลให้ประชาชนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจมากขึ้น และโรคปอดบวมมักเป็นภาวะแทรกซ้อนตามมา คาดว่าตลอดฤดูหนาวจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ยอดผู้ป่วยทั้งประเทศจะสูงขึ้นกว่า 2 แสนราย
กลุ่มผู้ป่วยและเสียชีวิตพบได้ทุกวัย แต่กลุ่มที่พบว่าป่วยสูงที่สุด คือ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 49,542 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไปพบร้อยละ 74 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด จึงได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักวิธีการป้องกันการเจ็บป่วย และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนหลังเจ็บป่วยจากโรคอื่นๆ
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคติดเชื้อระบบหายใจชนิดรุนแรง เกิดได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส อาการเริ่มต้นของโรค ได้แก่ มีไข้ ไอจาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หลังจากนั้นจะเริ่มหายใจเหนื่อยหอบ หายใจเร็วและลำบาก อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีการหนาวสั่น ซึม อาจมีอาเจียนร่วมด้วย เชื้อนี้จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยและติดต่อกันทางไอจาม กลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยโรคนี้ มี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 2.เด็กน้ำหนักตัวน้อย 3.เด็กขาดสารอาหาร 4.ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งมักเป็นโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคหัวใจ โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง หากป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น และ 5. กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
สำหรับวิธีการป้องกันโรค ขอให้ประชาชนทั่วไปและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ยึดหลักกินสุกร้อน ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือ ฟอกสบู่บ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารและภายหลังหยิบจับสิ่งของ หรือจับราวบันได ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดประตู รวมทั้งภายหลังจากการใช้ห้องน้ำห้องส้วม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้นอนพักผ่อนให้มาก รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย คาดหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่คนอื่น หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน และมีไข้สูงขึ้น น้ำมูกเปลี่ยนสีจากปกติสีเหลืองใส เป็นสีเขียวข้น ไอเจ็บหน้าอกในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก ขอให้ผู้ปกครองสังเกตอาการ หากเด็กซึมลง ไม่กินน้ำ ไม่กินนม ไข้สูง ไอ หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว หรือหายใจจนซี่โครงบุ๋ม หรือมีเสียงดังวื้ด ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคปอดบวม ขอให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็วและทันท่วงที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 02-590-3183 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต