อาการบาดเจ็บและการรักษา ที่นักวิ่ง ควรรู้

ที่มา :  แนวหน้า


อาการบาดเจ็บและการรักษา ที่นักวิ่ง ควรรู้ thaihealth


แฟ้มภาพ


กระแสการออกกำลังกายยอดฮิตแห่งปี 2017 จนถึงปีนี้ คงหนีไม่พ้นการวิ่ง อย่างแน่นอน สิ่งสำคัญที่นักวิ่งควรใส่ใจนอกจากระยะทางที่ต้องพิชิตแล้ว คือการป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการรักษาทางการแพทย์ในกรณีที่ได้รับการบาดเจ็บอย่างรุนแรง


รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์แพทย์ออร์โธปิดิกส์ และประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยในคอลัมน์บอกเล่าก้าวทันหมอ ในนิตยสาร ฬ.จุฬา ว่า อาการบาดเจ็บที่พบบ่อยในนักวิ่ง คือ อาการบาดเจ็บบริเวณเข่าด้านนอก (iliotibial band Friction syndrome) เกิดจากการเสียดสีของแถบเอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านข้างกับปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มระยะทางและความรุนแรงของการวิ่งอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสั้นๆ อาการนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการนอนหงายและพับเข่าไปด้านข้าง รวมถึงการหมั่นยืดกล้ามเนื้อและควรเผื่อเวลาในการฝึกซ้อมร่างกายก่อนลงสนามจริง โดยเฉพาะผู้ที่เคยวิ่ง ระยะสั้นๆ ไม่เกิน 5 กิโลเมตร และต้องการ เพิ่มระยะทางการวิ่งเป็น 20 กิโลเมตร ควรมี เวลาฝึกซ้อมอย่างน้อยประมาณ 12 สัปดาห์


อีกหนึ่งอาการบาดเจ็บที่พบได้ในนักวิ่งมาราธอนคือ กระดูกหักล้า (Stress Fracture) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้นักวิ่งต้องหยุดพักเป็นเวลานาน เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนล้าและไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกได้ ส่งผลให้กระดูกได้รับแรงกระแทกมากขึ้น ทำให้เกิดการแตกหักเล็กๆ ภายในโครงสร้างของกระดูก พบบ่อย ที่กระดูกเหนือข้อเท้า ผู้ป่วยจะรูสึกเจ็บปวดเหนือข้อเท้า เมื่อหยุดวิ่งอาการก็จะบรรเทา พอวิ่งอีกก็จะปวดอีกจนไม่สามารถวิ่งได้เป็นเช่นนี้อยู่ซ้ำๆ แพทย์จะวินิจฉัยโดยการสแกนกระดูก เนื่องจากการแตกหักดังกล่าวมีขนาดเล็กมาก การทำเอกซเรย์ปกติจะไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สำหรับกรณีนี้ ผู้ป่วยจะหายเองได้ด้วยการหยุดพักการวิ่งเพื่อให้กระดูกรักษาตัวเอง ส่วนใหญ่ใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ก่อนที่จะกลับมาวิ่งอีกครั้งควรมั่นใจว่าไม่มีอาการปวดเหลืออยู่อีก มิฉะนั้นอาจทำให้กระดูกหักล้ามากขึ้นและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้


นอกจากนี้ยังมี อาการบาดเจ็บที่เกิดจากลักษณะอุ้งเท้าที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ นักวิ่งที่มีอุ้งเท้าสูง มักพบอาการเอ็นร้อยหวายตึงมากกว่าปกติ ส่วนนักวิ่งที่มีลักษณะเท้าแบน อาจเกิดอาการปวดร้าวบริเวณอุ้งเท้า เนื่องจากมีการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าด้านในมากกว่าปกติ ดังนั้นนักวิ่ง จึงต้องเลือกพื้นรองเท้าให้เหมาะสมกับลักษณะเท้าของตนเองเพื่อป้องกันการ บาดเจ็บเหล่านี้ด้วย


นอกจากอาการบาดเจ็บของกระดูกและข้อ อาการทางกล้ามเนื้อก็เป็นสิ่งไม่ควรละเลย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสลายจากการวิ่ง ต่อเนื่องยาวนานอย่างกรณี "ตูน บอดี้สแลม" โครงการก้าวคนละก้าว ซึ่งได้รับการ ตรวจเลือดและพบค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อ (Creatinine Phosphokinase หรือ (CPK) ขึ้นสูงกว่า 4,000U/L (โดยปกติจะมีค่าอยู่ระหว่าง 15-220 U/L ค่า CPK ที่ขึ้นสูงเช่นนี้ บ่งบอกถึงภาวการณ์สลายของกล้ามเนื้อที่ปนออกมาในเลือด ปัญหาเช่นนี้อาจส่งผล ร้ายแรงให้เกิดภาวะไตวายได้ นักวิ่งที่ประสบ ปัญหากล้ามเนื้อสลาย หากรักษาไม่ทันท่วงที หรือไม่ถูกวิธีก็อาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้สามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้จากสีของปัสสาวะ หากมีสีเข้มมากว่าปกติ ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น


การรักษาอาการบาดเจ็บจากการวิ่งนั้น รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า นักวิ่งและคนรอบข้างสามารถปฐมพยาบาลด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการใช้หลัก "RICE"


          R (Rest) หมายถึงการหยุดพักเมื่อเกิดการบาดเจ็บ


          I (Ice) หมายถึงการใช้น้ำแข็งประคบส่วนที่ได้รับบาดเจ็บความเย็นจะช่วยลดอาการบวมและความเจ็บปวดได้"


          C (Compression) หมายถึงการใช้ผ้ายืดพันกระชับส่วนที่บาดเจ็บไว้ไม่ให้บวมเพิ่มมากขึ้น


          E (Elevation) หมายถึง การยกอวัยวะที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เช่นยกขาสูง เพื่อช่วยลดอาการบวม


สำหรับการประคบเย็น ร้อน หรืออุ่นนั้น จะขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บ หากเฉียบพลันเช่นล้มข้อเท้าพลิก ให้ประคบเย็นใน 48 ชั่วโมงแรก และประคบร้อนต่อเพื่อลดอาการช้ำ แต่ถ้าเป็นบาดเจ็บหรือปวดเรื้อรังจากการใช้งานกล้ามเนื้อยาวนาน จำเป็นต้องประคบอุ่นเพื่อคลายกล้ามเนื้อ


รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก็จะใช้วิธี ส่องกล้องรักษา เช่น อาการหมอนรองกระดูกฉีกบริเวณหัวเข่า โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติภายใน 1 เดือน แต่หากบาดเจ็บสาหัสที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งมักเกิดกับนักกีฬาอาชีพมากกว่า เช่น เอ็นไขว้หน้าขาดในนักฟุตบอลที่เท้าพลิกจากการกระแทก และต้องได้รับการส่องกล้องผ่าตัดซ่อมเอ็นโดยหลังผ่าตัด 2 สัปดาห์ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน และกลับมาเป็นปกติ ภายใน 3 เดือน

Shares:
QR Code :
QR Code