อัศจรรย์วันว่าง สร้างโอกาส เติมเต็มคุณค่า ตามหาตัวตน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
'สำหรับป้า เขาไม่ใช่อาชญากรนะ แต่เวลาว่าง มันพาเขาไปสู่การก่ออาชญากรรมต่างหาก'
"ป้ามล"ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เปิดทัศนะถึงเด็กๆ เยาวชนที่บ้านกาญจนาฯ กลางเวทีเสวนา "เติมเต็ม "วันว่าง" อย่างสร้างสรรค์ เป็นเรื่องสำคัญของใครกันแน่ ?" ที่จัดขึ้น ในงานแถลงข่าวปิดเทอมสร้างสรรค์อัศจรรย์วันว่าง ประจำปี 2563 ที่สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วไทยร่วมกันจัดงาน
"ปิดเทอมสร้างสรรค์" เป็นอีกโครงการที่ สสส.ดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในชื่อ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล เชื่อมร้อยกิจกรรมจากทุกหน่วยงาน สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับ เด็กโต และพื้นที่ "เล่นอิสระ" สำหรับ เด็กเล็ก
เมื่อชีวิตที่มีวันว่างไม่สร้างสรรค์
กลับมาที่ป้ามล ซึ่งกำลังบอกเล่าประสบการณ์ของเด็กกลุ่มปลายน้ำ ที่ "บ้านกาญจนาฯ" ซึ่งเธอบอกว่าพวกเขาล้วนเคยผ่านชีวิตผิดพลาด ส่วนหนึ่งเป็น
เพราะพวกเขามีโอกาสน้อยที่จะได้ใช้เวลาว่าง อย่างสร้างสรรค์น้อยเกินไป
"ที่บ้านกาญจนาภิเษก คือกลุ่มที่หลุด มาอยู่ชายขอบสังคมแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ ของเรา เด็กที่เข้ามาอยู่ในจุดนี้ กว่า 60% เรามักเจอว่า เขาเป็นเด็กที่ถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน"
เมื่อไม่ต้องอยู่ในโรงเรียน ผลพวง ที่ตามมาของการปล่อยให้เด็กกลุ่มหนึ่งมีเวลาว่างถึงวันละ 24 ชั่วโมง ได้กลายเป็น ปัจจัยผลักไสไล่ส่งให้พวกเขาไปสู่การ ก่ออาชญากรรม
"นอกจากการถูกให้ออกจากโรงเรียน ยิ่งทำให้เขารู้สึกท้อแท้ และทำให้เขารู้สึก ไม่ได้รับการยอมรับแล้ว เด็กกลุ่มนี้ยังไม่มี ที่ไป ไม่มีเป้าหมายชีวิต และสังคมหรือผู้ใหญ่เองก็ไม่มีอะไรรองรับเขา"
ป้ามลยังเผยต่อว่า จากการพูดคุยกับแม่ๆ ของเยาวชนที่บ้านกาญจนาฯ ทำให้รู้ว่าเวลาปิดเทอมพ่อแม่มักชดเชยการไม่มีเวลาให้กับลูกด้วยเงินวันละ 50 บาท ก่อนปล่อยเด็กๆ ไปขลุกอยู่ร้านเกม
"ย้อนกลับมาที่สังคมไทยภาพใหญ่ ถ้าเราวิเคราะห์ดูในแต่ละปีจะพบว่า เรามีเวลาประมาณ 120-130 วันที่พ่อแม่ต้องรับมือกับลูก ซึ่งในความเป็นจริง เชื่อว่าพ่อแม่กว่า 22.8 ล้านครอบครัว ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะรับมือกับ 120 วัน ในช่วงปิดเทอมได้ อาจทำได้เพียงกลุ่มเล็กๆ ที่พละกำลัง มีทุนทรัพย์และมีเวลาพอที่จะพาลูกไปนู่นนี่"
วันว่างสร้างประสบการณ์
ด้าน "แม่ปุ้ม" อรอนงค์ เจริญลาภนำชัยจากเพจพาลูกเที่ยวดะ อีกตัวอย่างของครอบครัวส่วนน้อย ที่ให้ความสำคัญกับการ สร้างสรรค์กิจกรรม "วันว่าง" ให้ลูกน้อย เผยแรงจูงใจ เมื่อถูกถามถึงเหตุผลในการ พาลูกเที่ยวว่า
"เรามองว่าการพาลูกออกไปข้างนอก หนึ่งเราได้ความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่อีกสิ่งที่ปุ้มเห็นชัดเลย คือ ลูกเราได้ประสบการณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องความแปลกใหม่ของสถานที่นะ แต่เป็นประสบการณ์จากการที่ เขาได้เจอสถานการณ์ เจอคนแปลกใหม่ เขาต้องฝึกการพูดคุย เผชิญความไม่ได้ดั่งใจ เหล่านี้เรามองว่าการเดินทางสอนให้เขาเรียนรู้ และสามารถที่จะหยิบนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเขาได้"
อย่างไรก็ดี แม่ปุ้มนิยามถึงกิจกรรมการพาลูก "ออกนอกบ้าน" ว่า ไม่ใช่ต้อง พาไปเที่ยวเสมอไป แต่แค่ไปตลาด ไปสวนสาธารณะใกล้บ้านก็ได้
"ขอให้มันเป็นกิจกรรมที่ทดแทนหรือทำให้เขาห่างจากสิ่งเร้าอย่างมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ เพราะเรารู้ว่าถ้าให้เขาอยู่บ้าน สักพักเขาก็ต้องเรียกร้องสิ่งเหล่านี้"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงและการทำ Work Shop ให้แก่เด็กและเยาวชน นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ หรือ ครูเบิร์ด ผู้ก่อตั้งกลุ่มละครคิดแจ่ม และเจ้าของเพจ เบิร์ดคิดแจ่ม Bird KidJam เป็นอีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนไอเดียดังกล่าวนี้
"สำหรับพ่อแม่ที่ไม่สะดวก เราไม่จำเป็น ต้องพาเขาออกไปข้างนอกบ้าน เพราะหากมองหาให้ดี จะพบว่ายังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เราให้ลูกทำอย่างสร้างสรรค์ และ เหมาะกับลูกช่วงวันปิดเทอมด้วยเหมือนกัน เช่น ซักผ้า ถูบ้าน หรือเล่มเกมเล่านิทาน ให้เขาสมมติว่า เป็นอะไรก็ได้" ครูเบิร์ดยกตัวอย่าง
กิจกรรมทำให้มี "ซอฟท์สกิล"
"ถ้าถามว่าปิดเทอม หนูเชื่อว่าสิ่งแรกที่เด็กๆ ทุกคนนึกถึงคือ อยากเล่น" ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา หรือ น้องญา แกนนำเยาวชนเลิฟแคร์คลับ และประธานสภาเด็ก และเยาวชนเขตบางกะปิ แม้จะวัยเพียง 14 ปี แต่เธอเป็นอีกเยาวชนที่เลือกใช้เวลาว่างอย่างเต็มคุณค่า
"ขึ้นชื่อว่าเด็ก ทุกคนอยากทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก เด็กโต เพียงแค่รูปแบบ กิจกรรมอาจเปลี่ยนไปเท่านั้น"
เธอบอกว่าการเรียน วิชาการอาจสร้างอาชีพเรา แต่กิจกรรมทำให้เรามีซอฟท์สกิล ได้วิธีพูดคุยกับคนอื่นเป็น
"เมื่อก่อนญาเองไม่ได้เป็นเด็กที่พูดคุยเก่งแบบนี้นะ แต่หนูเคยเข้าร่วมโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์นี้มาตั้งแต่ปีแรก ตอนนั้น ความคิดเราก็ยังเป็นเด็กอยู่เลย แต่สิ่งที่ทำให้หนูเป็นอย่างทุกวันนี้ ยอมรับเลยว่าเกิดจากการได้เข้าร่วมกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์เมื่อสองปีก่อน"
กล่าวได้ว่า น้องญา คือผลผลิตจากโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ เพราะปัจจุบันเธอยังเป็นตัวแทนเยาวชนที่เสนอข้อเรียกร้องว่า ให้เด็กที่มีปัญหาซึมเศร้าสามารถพบจิตแพทย์ได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองรับรอง
"เราพบว่าคนที่เป็นต้นเหตุให้ลูกเป็นซึมเศร้าบางทีก็เป็นพ่อแม่หรือครอบครัวเอง หนูยังไปพบอธิบดีกรมสุขภาพจิต เราสามารถ ผลักดันให้ข้อเสนอดังกล่าวผ่านไปได้ ดังนั้นในวันที่หนูกลับมาทำงานที่สภาเด็กฯ อีกครั้ง หนูจะบอกน้องๆ เสมอว่า ถึงเราเป็นเด็กตัวเล็กๆ แต่เราก็สามารถทำอะไรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องมาเป็นเหมือนญา หรือมาทำกิจกรรมแบบญาก็ได้ แต่ทุกคนอาจทำบางสิ่งบางอย่างที่รัก หรืออยากทำ อย่างครูแนะแนวเคยเล่าให้ฟังถึงเด็กคนหนึ่งที่ชอบควงปากกา พ่อแม่ ครูก็บ่นว่าไม่ตั้งใจเรียน แต่มีครูคนหนึ่งเห็นความสามารถและสนับสนุนเขา จนสุดท้ายเด็กคนนี้ไปควงปากกาชิงแชมป์โลก ได้อันดับต้นๆ ของโลก"
เปลี่ยนวันว่างเป็นโอกาส
ในฐานะเยาวชน ญามองว่ากิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมทำให้รู้ว่าปิดเทอมไม่ใช่วันว่างธรรมดา แต่เป็นวันที่เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและ ช่วยเพื่อนเราได้
"อย่างในชุมชนคลองเตยทุกคนรู้ว่าสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ญาเคยไปลงกิจกรรมที่คลองเตยมาแล้ว ได้พบเด็กที่ขโมย พอเราคุยกับเขา บางคนเองก็ยอมรับว่าจริงๆ ไม่ได้อยากขโมย แต่ในพื้นที่ไม่มีอะไรให้ทำ ไม่มีใครช่วยสอนบอกเขาว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี หรือส่งเสริมให้เขามองหาอะไรอย่างอื่นที่เด็กควรทำ"
เยาวชนวัย 14 อย่างเธอ ยังสะท้อนปัญหาที่ผู้ใหญ่บางคนอาจยังนึกไม่ถึง ด้วยข้อเสนอแนะว่า การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี "พื้นที่"หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็ก และเยาวชนได้ทดลองทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ช่วยจุดประกายให้เด็กปลายน้ำบางคนค้นพบเส้นทางชีวิตใหม่ของตัวเองก็เป็นได้
"หนูเคยอ่านพบว่ามีหลายข้อมูลบอกว่า เด็กบางคนที่เกิดจากการที่พ่อแม่เขาไม่พร้อม
เด็กส่วนใหญ่มักอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับ พ่อแม่ เพราะเขาไม่ได้รับโอกาสที่พร้อม แต่หนูเชื่อว่า การมีกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้เด็กที่ไม่พร้อม
เหล่านี้ มีพื้นที่ในพัฒนาตัวเอง เปิดโลกทัศน์ และสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ หรือ อย่างน้อยก็ช่วยให้เขามีเป้าหมายในอนาคตมากขึ้น" ญา กล่าว
"เรื่องนี้เราเห็นด้วยนะ" ครูเบิร์ดสนับสนุน "บางทีเด็กไม่มีทางออกทางไป ไม่มีคนมาช่วย ซึ่งอาจไม่ใช่ครอบครัว แต่เรามองว่าโครงการ กิจกรรม มีส่วนช่วยได้ไม่ว่ามากหรือน้อย"
ไม่มีคุณค่าไม่ใช่เรื่องเล็ก
"เราก็เห็นด้วยนะว่ากิจกรรมพวกนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นหาสิ่งที่ ตัวเองชอบ มันจะรู้สึกเขามีตัวตนขึ้นมา มีคุณค่า ก็มีเป้าหมาย หันไปโฟกัสสิ่งดีๆ เหล่านั้น และช่วยให้เขาพ้นลูปตรงนั้น" แม่ปุ้มเปิดประเด็นต่อ
"เป็นเรื่องจริงค่ะที่เด็กอยากมีตัวตน" ญา ตัวแทนเยาวชนยอมรับ "ไม่ว่าจะเป็นใคร เด็กทั่วไปหรือเด็กที่มีปัญหาเราก็รู้สึกแบบนี้ อย่างการบางคนเลือกสูบบุหรี่หรือส่งยา หนูมองว่าเพราะเขาอยากมีตัวตนในสายตา พ่อแม่หรือเพื่อน"
เช่นเดียวกับป้ามล ที่แถมประสบการณ์ ส่วนตัวให้ฟังว่า "ป้าเจอเด็กที่บ้านกาญจนาฯ คนหนึ่ง อายุ 16 ปี เขามีชื่อเสียงมีทุกอย่าง แต่เขากลับยังไม่รู้สึกว่ามีคุณค่า ก็เลยตัดสินใจ ปล้นร้านสะดวกซื้อ สิ่งที่เขาได้ คือเขาได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อนว่าเก่ง เขาได้ฉายา 16 ปล้น มันทำให้เขามีตัวตนขึ้นมา"
"ประเด็นนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่เรา พบนะ เราเคยให้เด็กบ้านกาญจนาเขียนบันทึก ก่อนนอนเพื่อที่จะศึกษาพฤติกรรมเขา เราได้ พบว่ามีปัจจัยมากมายถึง 21 แบบที่เป็นปัจจัย ผลักไสให้เด็กๆ ออกไปก่ออาชญากรรม หนึ่งในนั้นคือ ครอบครัวที่ไม่มีกิจกรรม ร่วมกันบางบ้านนะแทบไม่เคยคุยกันเลย ต่างคนต่างอยู่กับเทคโนโลยี วันหนึ่งเด็กอยากพูดเขาก็ไม่รู้จะพูดยังไง" ป้ามลเสริม
อัศจรรย์วันว่างอย่างสร้างสรรค์
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปิดเทอมสร้างสรรค์ ปี 2562 ที่ผ่านมาโครงการประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้น 298 หน่วยงาน จัดกิจกรรมในช่วงปิดเทอมกลางภาคและ ปิดเทอมใหญ่ไปแล้วกว่า 2,228 กิจกรรม และ ทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสใช้เวลาว่าง อย่างสร้างสรรค์อย่างน้อย 111,400 คน กระจายทุกภูมิภาค ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา มีโอกาสฝึกงาน/ทำงานพาร์ทไทม์กว่า 10,000 ตำแหน่ง สำหรับจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ ในปี 2562 จากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึง 23 ธ.ค. 2562 จำนวนผู้เข้าเว็บไซต์ 120,030 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า โดยปี 2561 มีผู้เข้าเว็บไซต์ตลอดทั้งปี 35,291 คน
นอกจากนี้ ผลการสำรวจความต้องการและความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 1,930 คน ซึ่งเป็นเพศหญิงมากกว่าชาย และอยู่ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่ากลุ่มวัยอื่น พบว่า มีความพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 80
"ในปีนี้คาดว่าจะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,500 กิจกรรม รวมถึงการเปิดรับ ตำแหน่งงานพิเศษอีก 10,000 ตำแหน่ง ขณะที่ส่วนภูมิภาคใน 15 จังหวัด มีหน่วยงาน ต่างๆ เข้าร่วมเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมน่าสนใจสำหรับเด็กเยาวชนครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมของภาคี สสส. มากกว่า 400 กิจกรรม และประสานความร่วมมือกับภาคีหน่วยงานต่างๆ ในส่วนภูมิภาค เรียกว่าเป็น "นักจัดการเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์"
นอกจากนี้ อีกสถิติน่าสนใจที่เกิดขึ้นคือ พบสถิติเด็กไทยใช้เวลาเล่นมือถือ/อินเทอร์เน็ต ในช่วงปิดเทอมลดลงในปี 2562 เหลือเพียงร้อยละ 18.2 เทียบจากปี 2561 ที่พบร้อยละ 20.3 ดร.สุปรีดากล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอมมาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่ กิจกรรมตรงใจ ร้อยละ 38.7, มีเพื่อนหรือผู้ปกครองไปด้วย ร้อยละ 28 และเดินทางใกล้ สะดวกสบาย ร้อยละ 23.4