อัพเกรดมนุษย์ ด้วยความดียุค 4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"การทำความดี" เป็นพลังที่สร้างความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าปัจจุบันมีคนมากมายให้ความสำคัญกับการทำความดีมากขึ้น แต่ก็มีอีกหลายคนที่มองการทำความดีในแบบที่ผิดเพี้ยนไป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา และสมาชิกองค์กรจิตอาสาพลังแผ่นดิน 19 องค์กร จัดบรรยายพิเศษหัวข้อ "โลกเปลี่ยน คนต้องปรับ" อัพเกรดมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 ด้วยระบบปฏิบัติการความดี 4.0" โดย พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ร่วมเสวนาธรรมเพื่อชวนคิดชวนมองโลกในระยะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย
พระไพศาล กล่าวว่า มนุษย์ที่สมบูรณ์ในทางพุทธศาสนาเชื่อมโยงกับ 3 สิ่ง คือ ความดี ความจริง และความสุข ซึ่งมนุษย์ที่สมบูรณ์และเพียบพร้อมด้วยความดีจะต้องเข้าใจถึงความจริงอย่างลึกซึ้ง เพราะความดีที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการฉกฉวยประโยชน์จากผู้อื่นหรือด้วยกิเลสส่วนตัว ทั้งนี้ความดีและความจริงจะหล่อเลี้ยงให้เกิดความสุขในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลว เมื่อเราทำความดีอย่างเข้าใจ ความจริงก็จะยังมีความสุขเช่นเดิม
ทั้งนี้ การทำความดีเป็นปฏิบัติการที่ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1.ทัศนคติที่ดีต่อการทำดี 2.สภาพแวดล้อมทั้งกายภาพและชุมชนที่เกื้อหนุน และ 3.สะท้อนการเรียนรู้หลังลงมือทำ ซึ่งในยุคปัจจุบันที่ถูกเรียกว่ายุค 4.0 ก็มีความดีมีหลายรูปแบบ แต่คนสมัยนี้มีความเป็นปัจเจกสูง โดยมองเพียงแต่ผลของการทำดี เช่น จะมียอดกดไลค์ หรือแชร์ เพื่อวัดสิ่งที่ตนทำดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนหลายกลุ่มที่พยายามทำดีอย่างเข้าใจความจริง และมีความสุข อย่างเช่น การทำงานของ สสส. และธนาคารจิตอาสา ที่ร่วมกันเชื่อมโยงเพื่อสร้างความดี ตลอดจนเปิดพื้นที่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้คนได้มาร่วมทำความดีในทุกพื้นที่ของสังคมไทย
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การทำงานของ สสส. คือการสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีโดยครอบคลุมมิติกาย จิต ปัญญา และสังคม ซึ่งการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ในการทำกิจกรรมด้านจิตอาสา จัดเป็นการส่งเสริมสุขภาพทางปัญญา หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า "จิตตปัญญา" โดยล่าสุด สสส.ร่วมกับธนาคารจิตอาสา จัดทำโครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน เพื่อให้คนไทยได้มีประสบการณ์ตรงจากการทำความดี สร้างการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสร้างแรงบันดาลใจในการส่งต่อการทำความดีผ่านช่องทางเว็บไซต์จิตอาสาพลังแผ่นดิน (www.palangpandin.com)
สำหรับ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสาพลังแผ่นดิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนของการร่วมเป็นจิตอาสาพลังแผ่นดิน คือ 1.ลงแรง เป็นบริการเชื่อมต่อจากธนาคารจิตอาสา โดยผู้ที่สนใจทำงานอาสาสามารถเข้าไปเลือกงานตามความสนใจในช่วงเวลาที่สะดวก 2.จองวัน เป็นบริการที่ให้บุคคล หรือองค์กรใช้วันสำคัญของตนเอง เช่น วันเกิด วันก่อตั้งองค์กร ฯลฯ ในการเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความดี โดยอาจเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมรูปแบบจากการจัดเลี้ยง ฉลอง สังสรรค์ มาเป็นการทำกิจกรรมอาสา และ 3.ปันของ เป็นบริการที่จะนำผู้ต้องการให้ มาพบกับผู้ต้องการรับอย่างถูกคน ถูกของ และถูกเวลา โดยทำให้เกิดการบริจาคสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับอย่างแท้จริง
มาที่ตัวแทนองค์กรสมาชิกจิตอาสาพลังแผ่นดิน นางเสมอแข พัวภูมิเจริญ หัวหน้าฝ่ายสำนักงานกลาง โรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวว่า จากการที่ได้ฟังพระอาจารย์ไพศาลให้แง่คิด ทำให้เราได้ทบทวนเรื่องของการปลูกฝังการทำความดีให้แก่เด็กในโรงเรียน เราได้ทำในทางที่ถูกต้องหรือไม่ ตรงกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่ ในที่นี้หมายความว่า การทำความดี เราต้องมองเห็นประโยชน์ของผู้รับว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เมื่อผู้รับได้รับประโยชน์ที่แท้จริง นั่นคือประสบความสำเร็จ
ทางด้าน นางสาวโสธรสินี สุภานุสร ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา สะท้อนมุมมองให้ฟังว่า เนื่องจากงานของบริษัทเป็นงานที่ต้องเชื่อมโยงประสานงานกับลูกค้าตลอดเวลา พนักงานส่วนใหญ่แทบจะไม่มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย เราจึงพยายามให้ความสำคัญด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ให้พนักงานได้มีส่วนร่วมทำสิ่งดีๆ เพื่อสร้างความสามัคคี ตลอดจนเป็นการสร้างความสุขให้พนักงานได้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากการทำงานที่เคร่งเครียด
"สำหรับทางบริษัท ได้ร่วมกับโครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน โดยนำกิจกรรมอาสามาอยู่ในวันครบรอบของบริษัท ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมในทุกเดือน และล่าสุดได้มีการออกร้านค้าระดมทุนเพื่อนำรายได้มอบให้กับมูลนิธิและโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งในระยะต่อไปมีเป้าหมายว่าจะนำงานอาสามากลั่นกรองให้เกิดเป็นกิจกรรมดีๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี" นางสาวโสธรสินีเล่าทิ้งท้าย