อันตราย ‘ยาสีฟันเด็ก’ ไร้ฉลากฟลูออไรด์

/data/content/25011/cms/e_cdeimq123689.jpg


          กรมอนามัยเผยผลสำรวจพบ "ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์" สำหรับเด็กหลายยี่ห้อ ไม่ได้ระบุปริมาณฟลูออไรด์ไว้ที่ฉลาก เสี่ยงเกิดอันตรายต่อเด็กได้ ล่าสุดเตรียมหารือกับทาง อย. พิจารณาให้มีการระบุปริมาณฟลูออไรด์ลงในฉลากแล้ว


          ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์กันในวงกว้าง เพื่อเป็นตัวช่วยเสริมให้ฟันแข็งแรงป้องกันฟันผุ เพราะการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นการทำให้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟันโดยตรง และเป็นวิธีที่ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้โดยไม่ยุ่งยาก จากการศึกษาพบว่า การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่ความเข้มข้น 1000 พีพีเอ็ม. จะสามารถป้องกันฟันผุได้มากถึงร้อยละ 30 โดยที่ผ่านมากรมอนามัยโดยสำนักทันตสาธารณสุขได้ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันฟันผุโดยเฉพาะเด็กที่มีฟันผุหรือเกิดฟันผุได้ง่าย


          ในประเทศไทยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ถูกจัดให้เป็นเครื่องสำอางที่ต้องอยู่ในการควบคุมตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (พ.ศ. 2535) ซึ่งได้กำหนดปริมาณฟลูออไรด์ที่ผสมไว้ได้ไม่เกิน 0.11% หรือ 1,100 พีพีเอ็ม. ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับฟลูออไรด์เกิน โดยเฉพาะในเด็กที่อาจได้รับอันตรายจากการกลืนกินยาสีฟันในขณะการแปรงฟัน ซึ่งพบว่าในการแปรงฟันแต่ละครั้ง เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี กลืนยาสีฟันถึงหนึ่งในสามของยาสีฟันที่อยู่บนแปรงสีฟัน โดยเด็กจะกลืนลงไปโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา "ฟันตกกระ" ในฟันแท้ของเด็กคนนั้นๆ ได้(ฟันตกกระเป็นภาวะผิดปกติ ฟันแท้มีสีขาวขุ่น ในเด็กที่เป็นรุนแรงผิวฟันเป็นหลุมอาจมีสีดำหรือน้ำตาล)อีกประการหนึ่งคือยาสีฟันสำหรับเด็กมักแต่งกลิ่นเติมรสเพื่อให้เด็กชอบ อยากแปรงฟัน เช่นรสผลไม้ ส้ม สตรอเบอร์รี่ รสโคล่า รสบับเบิ้ลกัม เป็นต้น ทำให้เด็กบางคนกินยาสีฟันด้วย โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาล ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันผุ


          ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า การระบุปริมาณฟลูออไรด์บนฉลากยาสีฟันสำหรับเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม แต่จากการเฝ้าระวังตรวจวัดปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับเด็กที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมาจากทั้งหมด 10 ยี่ห้อ 37 รุ่นผลการตรวจวัดพบว่า ยาสีฟันสำหรับเด็ก34 รุ่น หรือร้อยละ 92 มีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสมในจำนวนนี้มีเพียง 13 รุ่นที่ระบุปริมาณฟลูออไรด์ไว้ที่ฉลากยาสีฟัน ส่วนอีก 21 รุ่น ไม่ได้ระบุปริมาณฟลูออไรด์ให้ผู้บริโภคทราบ


          เหตุผลสำคัญที่ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็กบางยี่ห้อไม่ได้ระบุปริมาณฟลูออไรด์ลงในฉลากผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประเทศไทยได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติเครื่องสำอางอาเซียน (ASEAN Cosmetic Directive : ACD) เนื่องจากได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันกับประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อปี พ.ศ.2546 ในการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน โดยให้จัดทำฉลากเครื่องสำอางในลักษณะที่เป็นกลางและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าเมื่อไทยเข้าสู่อาเซียน และหลังจากที่มีการปรับปรุง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535คณะกรรมการเครื่องสำอางซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ได้ออกประกาศ(พ.ศ.2554) ให้ระบุชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางโดยให้เรียงลำดับ ตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อยและคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล (ถ้ามี)แต่ไม่ได้ให้ระบุปริมาณของสารที่เป็นส่วนผสมเอาไว้ด้วย ประกาศดังกล่าวนี้จึงมีผลทำให้ยาสีฟันไม่จำเป็นต้องระบุปริมาณฟลูออไรด์ลงในฉลากผลิตภัณฑ์อีกต่อไป


          อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพและลดโอกาสเกิดอันตรายที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในเด็ก และเพื่อประโยชน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการมีข้อมูลจากฉลากเป็นตัวช่วยในการเลือกซื้อยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ได้เหมาะสมและปลอดภัยกับบุตรหลาน กรมอนามัยได้เตรียมหารือร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อพิจารณาดำเนินการให้มีการระบุปริมาณฟลูออไรด์ในฉลากยาสีฟันสำหรับเด็กแล้ว


          "ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ขอแนะนำว่าพ่อแม่ควรเตรียมยาสีฟันใส่แปรงให้เด็กเพียงบางๆ และดูแลการแปรงฟันให้ดี โดยควรบีบยาสีฟันให้และช่วยแปรงฟัน เพราะเด็กมักชอบกลืนยาสีฟัน การใช้ยาสีฟันผสมฟูลออไรด์ในเด็กเล็กจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะช่วงก่อนอายุ 3 ปี เป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระในฟันหน้ามากที่สุด ดังนั้น ในเด็กเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นจนถึงอายุ 3 ปี ควรเลือกใช้ยาสีฟันผสมฟูลออไรด์ที่ปริมาณ 500 พีพีเอ็มใช้ในปริมาณน้อยๆ คือแตะพอชื้นบนแปรงสีฟัน ส่วนเด็กอายุ 3 ถึง 6 ปี ควรใช้ยาสีฟันในปริมาณเท่ากับเมล็ดถั่วเขียวหรือเมล็ดข้าวโพด สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี สามารถใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในปริมาณ 1000 พีพีเอ็ม เพราะสามารถควบคุมการกลืนได้แล้ว" อธิบดีกรมอนามัยกล่าว


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code