อันตรายเล่นประทัดช่วงออกพรรษา

/data/content/26046/cms/e_fkloqrtx5789.jpg


          ‘คร.’เตือนจุดประทัดเล่นช่วงออกพรรษา บาดเจ็บเฉลี่ยปีละ 596 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน


          นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากการจุดประทัดเล่น โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ซึ่งได้เฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลว หรือสะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือพลุ จากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวน 28 แห่ง ปี พ.ศ.2551-2555 พบว่า มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ จำนวน 2,979 ราย (เฉลี่ยปีละ 596 ราย หรือวันละเกือบ 2 ราย) เสียชีวิต 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 94.5 กลุ่มอายุที่พบบ่อย คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 10-14 ปี (ร้อยละ 23.8) รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี เดือนที่เกิดเหตุสูงสุด คือ เดือนตุลาคมหรือช่วงเทศกาลวันออกพรรษา ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุด คือ 16.00 -20.00 น. (ร้อยละ 34.3) สถานที่เกิดเหตุเป็นบ้านและบริเวณบ้านมากที่สุด (ร้อยละ 72.6) และอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือ ข้อมือและมือ (ร้อยละ 43.0)


          นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้ออกมาตรการในการป้องกันการบาดเจ็บดังกล่าว 2 มาตรการ คือ มาตรการการป้องกันในกลุ่มเด็ก ได้แก่ 1. ห้ามให้เด็กๆ จุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟเองโดยเด็ดขาด 
2. ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้บริเวณที่จุดประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ 3. ผู้ปกครองและโรงเรียนควรสอนให้เด็กรู้ว่าประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับเด็ก เช่น ถ้าสะเก็ดเข้าตาจะทำให้ตาบอดได้ หรืออาจทำให้นิ้วขาดกลายเป็นคนพิการ 4. ผู้ปกครองควรสอนไม่ให้เด็กไปเก็บประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ระเบิดมาเล่น เพราะประทัดพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 5. ผู้ปกครองควรดูแลและคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันออกพรรษา 6. เด็กต้องได้รับการฝึกทักษะการหนีเมื่อเผชิญสถานการณ์อันตราย


          ขณะที่มาตรการการป้องกันในผู้ใหญ่ ได้แก่ 1. หลีกเลี่ยงการเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก 
2. ก่อนเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ ควรอ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้ และคำเตือนก่อนเล่น 3. เล่นในที่โล่ง ราบ ห่างไกลจากบ้านเรือน ใบไม้แห้ง และวัตถุไวไฟ 4. ก่อนจะจุดประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ควรที่จะมองดูรอบข้างให้ดี ต้องมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้อื่น 5. อย่าให้ใบหน้าของท่าน อยู่เหนือพลุและดอกไม้ไฟ เพราะมันอาจระเบิดหรือพุ่งเข้าสู่ใบหน้าท่านได้ตลอดเวลา 6. ห้ามเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ ที่ซื้อจากร้านค้า
ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ สินค้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เก่า และไม่มีฉลากภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจน


          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า 7. ห้ามจุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟที่เสื่อมสภาพ หรือดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วแต่ยังไม่ระเบิด (ไม่ทำงาน) เพราะประทัดพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 8. ก่อนจุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ ควรเตรียมถังใส่น้ำ 1 ถัง ไว้ใกล้บริเวณที่จะจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ดับเพลิง หรือดอกไม้ไฟ พลุ ที่จุดแล้วไม่ระเบิด 9. ห้ามเข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วหรือดอกไม้เพลิงที่ยังดับไม่สนิท 10. ห้ามจุดประทัด พลุหรือดอกไม้ไฟ หากไม่อยู่ในระยะที่ปลอดภัย คือ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน 11. ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟไว้เล่นเอง
โดยเด็ดขาด 12. ห้ามเก็บประทัด พลุ และดอกไม้ไฟไว้ในบ้าน หากต้องเก็บควรเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฝามิดชิด สถานที่เก็บควรเป็นที่แห้งและมีอากาศเย็น และ 13. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราแล้วมาเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ


          "ทั้งนี้ ประชาชนควรรู้จักวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการสื่อสารกับหน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ (1669) รวมทั้ง วิธีการส่งต่อเด็กในภาวะฉุกเฉินไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียง เพื่อลดการบาดเจ็บรุนแรง ความพิการ และการเสียชีวิต ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ โทร 02-951-0042 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422" นายแพทย์โสภณ กล่าวทิ้งท้าย


 


          ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code