อันตรายจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


อันตรายจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น thaihealth


แฟ้มภาพ


การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บ ของแขนขา ใบหน้า และศีรษะ การบาดเจ็บที่รุนแรงที่พบบ่อยคือกระดูกหักของแขนหรือข้อมือ และการบาดเจ็บศีรษะ 


การป้องกันการบาดเจ็บจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น จะต้องประกอบด้วยเครื่องเล่นที่ปลอดภัย พื้นสนามที่ดูดซับพลังงานได้ดี การติดตั้งที่ ถูกวิธีไม่ล้มทับเด็ก การทะนุบำรุง และการฝึกอบรมผู้ติดตั้งและผู้ดูแลเด็กขณะเล่น


เครื่องเล่นที่ปลอดภัย มีหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังนี้ 


  • อุปกรณ์เครื่องเล่นสนามต้องได้รับการออก แบบให้เหมาะสมกับอายุและพัฒนาการเด็ก โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 2-5 ขวบ) และเด็กในวัยเรียน (อายุ 5-12 ขวบ)
  • เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการตกและก่อ ให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงของศีรษะและสมอง ระยะความสูงจากพื้นสนามถึงพื้นยกระดับของเครื่องเล่นสนาม สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนไม่ควรเกิน 1.20 เมตร และสำหรับเด็กวัยเรียนไม่ควรเกิน 1.50 เมตร
  • ในกรณีเครื่องเล่นสำหรับวัยก่อนเรียน มีความสูงของพื้นยกระดับที่มีความสูงมากกว่า 50 เซนติเมตร หรือเครื่องเล่นสำหรับเด็กวัยเรียนที่มีความสูงมากกว่า 75 เซนติเมตร จะต้องมีราวกันตก หรือผนังกันตก
  • การออกแบบบันได และราวบันไดชนิดต่างๆ ต้องคำนึงถึงระยะก้าว ระยะโหน การกำมือเพื่อยึดเหนี่ยวของเด็กในวัยต่างๆ 
  • เพื่อป้องกันศีรษะติดและกดการหายใจ ช่องต่างๆ ต้องเล็กเกินกว่าศีรษะจะลอดเข้าไปได้ หรือใหญ่พอที่ศีรษะไม่เข้าไปติดค้าง คือช่องต้องมีขนาดน้อยกว่า 9 เซนติเมตร หรือมากกว่า 23 เซนติเมตร 
  • เพื่อป้องกันเท้าหรือขาเข้าไปติด พื้นที่เดินหรือวิ่งจะต้องมีช่องว่างไม่เกิน 3 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ เท้าหรือขาเข้าไปติด
  • เพื่อป้องกันนิ้วเข้าไปติด โดยการแหย่หรือลอด จะต้องไม่มีช่องว่างที่อยู่ขนาด 0.5 เซนติเมตร ถึง 1.2 เซนติเมตร
  • เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการชนกระแทก อุปกรณ์เคลื่อนไหวเช่น ชิงช้า ที่นั่งต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่แข็ง
  • นอต-สกรูที่ใช้ในการยึดเครื่องเล่นสนาม จะเป็นระบบกันคลาย ต้องออกแบบให้ซ่อนหัวนอต หรือปลายตัดหัวมนที่มีส่วนยื่นไม่เกิน 8 มิลลิเมตร
  • วัสดุที่ใช้ต้องไม่เป็นพิษและมีสารโลหะหนักเจือปนไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานในของเล่น


พื้นสนามปลอดภัยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังนี้


  • พื้นสนามเป็นปัจจัยความปลอดภัยที่สำคัญ มากที่สุด พื้นสนามที่ดีต้องประกอบด้วยวัสดุอ่อนนิ่ม ดูดซับพลังงานได้คือทราย โดยที่พื้นทรายต้องมีความ หนาไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร สำหรับเครื่องเล่นสูงไม่เกิน 1.20 เมตร หากเครื่องเล่นสูงเกินกว่าที่กำหนด พื้นทรายต้องมีความหนาไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร นอกจากนั้นพื้นสนามที่ดีอาจทำด้วยยางสังเคราะห์ หรือวัสดุอื่นที่มีการทดสอบแล้ว พื้นสนาม ที่เป็นพื้นแข็ง เช่น ซีเมนต์ อิฐสนาม ก้อนกรวด ยางมะตอย ทรายอัดแข็ง พื้นหญ้าธรรมดา จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บศีรษะรุนแรง 
  • พื้นที่ปลอดภัย ต้องคำนึงถึงการวางผังความ หนาแน่น พื้นที่ว่าง ทิศทางของเครื่องเล่นและการ ใช้งาน ระยะห่างของเครื่องเล่นและชนิดของเครื่องเล่น 
  • การออกแบบพื้นที่ปลอดภัย ต้องคำนึงพื้นที่ การตก ระยะว่างอิสระ และพื้นที่การสัญจร 
  • พื้นที่การตก ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางอันจะก่อให้เกิดอันตรายเมื่อเด็กตกจากเครื่องเล่น ระยะปลอดภัยคือ 1.50 เมตร โดยรอบเครื่องเล่นที่มีพื้นยกระดับสูงเกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ


การติดตั้งเครื่องเล่นสนามนั้นต้องสามารถ รับแรงสูงสุดที่กระทำต่อตำแหน่งที่ออกแบบสำหรับใช้งาน ต้องไม่เกิดการพลิกคว่ำ เอียง เลื่อน หรือเคลื่อนตัวได้ ความแข็งแรงในการยึดหรือฝังฐานของเครื่องเล่นสนามถือเป็นหัวใจสำคัญในการติดตั้ง เครื่องเล่นสนามแต่ละชนิดจะถูกออกแบบฐานรากที่มีขนาดความลึกที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและแรงที่กระทำในเครื่องเล่นสนามนั้น ๆ


การตรวจสอบและบำรุงรักษา ให้มีการตรวจ สอบสนามเด็กเล่นและอุปกรณ์เครื่องเล่นสนามทุกวัน และตรวจสอบพร้อมบันทึกเป็นหลักฐานทุก 3 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ในสถานที่ที่ทำการติดตั้ง และมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญทางวิศวกรรมตรวจสอบและบันทึกเป็นหลักฐานทุก 1 ปี ควรเป็นระเบียบปฏิบัติในส่วนการปกครองท้องถิ่น


ผู้ดูแลเด็ก ต้องมีการฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ในการเล่น การใช้เครื่องเล่น การระวังการบาดเจ็บ และการปฐมพยาบาล สัดส่วนผู้ดูแลเด็กกับจำนวนเด็กเล็กเท่ากับ 1:20 และผู้ดูแลเด็กกับจำนวนเด็กโตเท่ากับ 1:50

Shares:
QR Code :
QR Code