อัจฉริยะสร้างได้หนังสือเด็ก ‘ไร้พรมแดน’
หนังสือเด็กเล่มนั้นนอกจากชื่อหนังสือบนหน้าปกแล้ว เปิดเข้าไปภายในท่ามกลางภาพสวยๆ สีสันสดใส ไม่มีตัวหนังสือแม้แต่ตัวเดียว ปล่อยให้จินตนาการของเด็กน้อยโลดแล่นไปตามเสียงเล่านิทาน
ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน พูดภาษาอะไร ไทย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ลาว พม่า เขมร ฯลฯ ก็สามารถใช้หนังสือเล่มนี้เล่านิทานได้เหมือนกัน แต่เนื้อหาอาจจะไม่เหมือนกัน สุดแล้วแต่ใจผู้เล่าจะพาไป "หนังสือภาพ" หนึ่งในชุดหนังสือเด็กออกแบบเพื่อตอบโจทย์ "การจัดการการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาการทางสมอง"หรือ "บีบีแอล" (Brain Based Learning)
'วัยทอง'ของสมองเด็ก
แนวคิดของการจัดการการเรียนรู้แบบบีบีแอลในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่ายังไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก สมองแตกต่างจากอวัยวะอื่นตรงที่สมองไม่ได้สมบูรณ์มาแต่เกิด เซลล์สมองของเด็กเมื่อแรกเกิดมีจำนวนเพียง 1 แสนล้านเซลล์ และจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กันของแต่ละเซลล์ ผ่านประสบการณ์ในชีวิตประจำวันทุกวัน ทีละน้อย ยิ่งเซลล์สมองมีความเชื่อมโยงกันมากเท่าไร สมองก็ยิ่งทำงานได้ดีมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 0-2 ขวบ เป็นช่วงที่สมองเด็กเจริญเติบโตเร็วมากเป็น 2 เท่าของสมองผู้ใหญ่
ปัญหาของสังคมไทย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย คือขาดการกระตุ้นอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ทำให้ช่วงวัยทองของสมองเด็กผ่านไปอย่างน่าเสียดาย พิจารณาตัวเลขการสำรวจค่าเฉลี่ยของเชาวน์ปัญญา (ไอคิว) เด็กไทยระหว่างปี พ.ศ.2540-2552 อยู่ที่ 88-91 ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 90-110 ที่น่าตระหนก คือ เกณฑ์กำหนดพัฒนาการสมวัยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ลดลงจาก 72% ในปี 2557 คาดว่าจะเหลือ 67% ในปี 2560
แรงบันดาลใจจาก'หลาน'ตัวน้อย
ในบรรดาผู้ผลิตหนังสือเด็ก ถ้าเอ่ยชื่อ "สำนักพิมพ์ประภาคาร" อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าอยู่ใต้ร่ม "วัฒนาพานิช" อาจจะอ๋อ แต่ก็ให้ภาพจำเป็นตำราแบบเรียนที่แสนน่าเบื่อ
"ประภาคาร" เปิดตัวมาปีนี้เป็นปีที่ 9 มีหนังสือที่ผลิตออกมาไม่ถึง 100 ปก เพราะแต่ละเล่มต้องผ่านกระบวนการคิดอ่านหลายขั้นตอน โดยมีเด็กๆ เป็นผู้ตัดสิน ตรงไหนนำไปอ่าน ไปเล่า ไปทำกิจกรรมแล้วไม่ได้ผลตอบรับเป็นที่พอใจ จะถูกตีกลับมาเริ่มต้นกระบวนการคิดการประเมินใหม่
ล่าสุด หนังสือ "ก-ฮ เที่ยวงานวัด", "ข้าวเม่าเขาแหลม" และ "ช้างน้อยน่ารัก" เพิ่งได้รับรางวัลพระราชทานงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ "ก-ฮ เราไม่เหมือนใคร ซึ่งไม่ใช่ว่าให้ลืม ก-ฮ อันเดิม แต่เราต้องการว่าเด็กไปเที่ยวที่ไหนให้จำเป็นรูปภาพ เช่น ก กังหัน ข ขนมครก ค เครื่องบิน ว วัด"
ศิรินทรา จงพิพัฒนสุข โปรเจ็กต์แมเนเจอร์ "ประภาคาร" บอกและกระซิบต่อถึงที่มาของการทำหนังสือ ก-ฮ ว่า จริงๆ เป็นเพราะเราอยู่ใกล้วัดภูเขาทอง (วัดสระเกศ) รู้สึกว่างานวัดในกรุงเทพฯไม่ค่อยมี ปรากฏว่า เล่มนี้ได้รางวัล เพราะครบองค์ประกอบ 4 อย่าง ภาษา วัฒนธรรม ความรักในครอบครัว และกระตุ้นความคิดของเด็ก ได้ 4 รางวัลพระราชทาน
ก่อนหน้านี้ ประภาคารยังมีหนังสืออีกหลายต่อหลายเล่มที่ได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน เช่น รางวัล 108 หนังสือดีจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนโดย สสส. หนังสือรางวัลอาสาสมัครนักอ่าน จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มูลนิธิเพื่อเด็กและสถาบันราชานุกูล รางวัลหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน จากสมาคมผู้จัดจำหน่ายและได้รับคัดเลือกไปแสดงในงาน "ไทเป อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์" ที่ประเทศไต้หวัน รวมทั้งรางวัลหนังสือเล่มแรก Bookstart จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และรางวัล Oshima International Handmade Picture Book Contest
เบื้องหลังการก่อกำเนิดของสำนักพิมพ์แห่งนี้ ศิรินทราสารภาพว่า มีแรงกระตุ้นมาจาก "หลาน" เป็นสำคัญ "ตอนนั้นดูหนังสือเรียนของหลานแล้วไม่ชอบเลย ความที่เป็นนักเดินทาง ซึ่งจากที่เห็นหนังสือเด็กมาหลายๆ ประเทศ จึงคุยกับคุณพ่อคุณแม่ว่า ขออนุญาตทำหนังสือเอง ทำเล่นกับหลาน เชื่อว่า เรียนเสริมไปเรื่อยๆ แล้วเด็กจะได้เอง" จากหลานอายุ 2-3 ขวบ กระทั่งปัจจุบันอายุ 12 ปี ตั้งใจทำหนังสือที่ไม่มีในตลาด ความที่ตั้งใจผลิตหนังสือเด็กที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เหมือนค่ายอื่น เน้นการกระตุ้นให้เด็กคิด และสร้างจินตนาการ 3 ปีแรก จึงไม่มีหนังสือออกมาเลย
แรกๆ หนังสือของเราขายแทบไม่ได้เลย เพราะคนไม่รู้จัก "บีบีแอล" และเราไม่มีการทำประชาสัมพันธ์ กระทั่งปัจจุบันคอนเซ็ปต์บีบีแอลมา คนจึงเข้าใจ
อย่าง เรื่อง "ดอกไม้ให้ใครเอ่ย" เป็นหนังสือภาพ ไม่มีตัวอักษรเลย เป็นเรื่องเดียวในโลกที่เล่ากี่ครั้งก็ไม่เหมือนเดิม ออกมาตอนปี 2555 ต้องการกระตุ้นให้เด็กคิดและจินตนาการ คือพอไม่มีรูปเด็กก็จะไม่ได้โฟกัสอยู่ที่ตัวหนังสือ ซึ่งถ้าให้เด็กเล่าก็จะเล่าไม่เหมือนกันในแต่ละคน
"เล่มนี้เพื่อนเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านเพื่อน คุณพ่อพูดภาษาอังกฤษกับลูก เพื่อนพูดภาษาไทย อากงอาม่าพูดภาษาจีน ใครจะเล่าอะไรใช้ภาษาไหนก็เล่าได้ เพราะไม่มีตัวหนังสือ…อินเตอร์มาก" เช่นเดียวกับ หนังสือ "ความลับในตู้เย็น" ที่เป็นการหยิบเอาจินตนาการเข้าไปใส่ในภาพเพื่อสร้างการจดจำแก่เด็ก
"เพราะเด็กจำจากภาพ" เราได้ความคิดนี้จากการได้ยินเด็กคนหนึ่งบอกแม่ว่า อยากกิน "ลูกเจี๊ยบ" นึกอยู่ตั้งนานถึงอ๋อว่า ลูกเจี๊ยบที่ว่าคือ "มะม่วง" จึงได้ออกมาเป็นหนังสือภาพ ที่ด้านหลังยังมีรูปภาพของผลไม้ต่างๆ สำหรับให้เด็กเขียนภาพในจินตนาการบนนั้น"
เด็กฉลาดแค่ไหน พ่อแม่คือหัวใจ
ที่น่าสนใจคือ ศิรินทรา ซึ่งเป็นแม่ทัพของประภาคาร ใครจะเชื่อว่าเธอไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านวรรณกรรมเด็ก แต่สำเร็จการศึกษาด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัย อัญสัมชัญ (เอแบค) ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี
มีทีมงานแข็งแกร่ง ดีกรีมนุษยศาสตรบัณฑิต เอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็หลายคน รวมทั้งบรรณาธิการ ผู้นำแนวคิดไปตีโจทย์และนำเสนอออกมาเป็นหนังสือแต่ละเล่มที่มีความหลากหลายไม่ซ้ำกัน อย่าง กิ่งไผ่ เอกคณาปราชญ์ส่วนมือขวา สุคนธา สินธพ นอกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้บริหารงานวรรณกรรมเด็ก เธอยังเป็น "ครูสอนเด็กพิเศษ" ใช้นิทานบำบัด ซึ่งเป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า พ่อแม่ถ้ามีเวลาอ่านหนังสือกับลูกจะช่วยเรื่องการพัฒนาการเด็กได้อย่างมาก
"อาจจะเป็นด้วยค่านิยมของพ่อแม่ ที่สมัยก่อนเมื่อส่งลูกเข้าระบบโรงเรียนก็ถือเป็นหน้าที่ของครูหน้าที่ของโรงเรียน แต่จริงๆ แล้วพ่อแม่หรือแม้แต่ครูสามารถทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุกได้ อย่างที่ว่า play and learn ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเรียนเท่านั้น
หนังสือบางเล่มจึงแตกเป็นหนังสือกิจกรรมคู่กัน คือหลังจากเล่าให้เด็กฟังแล้ว มีการสอดแทรกการเรียนรู้ ซึ่งครูสามารถนำไปใช้ได้ โดยจะแนะนำรายละเอียดการใช้ที่ด้านหลัง" สุคนธาบอก และว่า
"เราเพิ่งลงไปส่งเสริมการขายประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว ด้วยการทำกิจกรรมตามโรงเรียนในกรุงเทพฯ ทำเป็นโครงการ "นิทานสร้างได้" และอีกคอนเซ็ปต์ คือ "Book For All" ใครก็ใช้หนังสือเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิเศษ เด็กอัจฉริยะ สามารถใช้หนังสือเราได้ ออกไปลุยตามโรงเรียน เหมือนเทรนทั้งครูและพ่อแม่ด้วย ว่านิทานอย่างนี้ไม่ใช่แค่อ่านก่อนนอน มันคือเครื่องมือพัฒนาลูกได้ด้วย และที่สำคัญ คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง" สุคนธาสรุป 'ลูกเล่น'แพรวพราวในทุกรายละเอียด
มองผาดๆ หนังสือเด็กของประภาคารอาจดูไม่ต่างจากหนังสือค่ายอื่น แต่เมื่อใช้เวลาทำความเข้าใจสักนิด จะมองเห็นหลายสิ่งที่ซ่อนไว้ ตัวอย่างเช่น ชุด สัมผัสมหัศจรรย์ ตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย และใจ มีลูกเล่นคือเป็น "เปเปอร์คราฟต์" ด้วย เช่น เล่ม "จมูก" แกะออกมาพับเป็นหน้าคนมี "จมูก" อันโต สามารถเปิดหมวกแล้วใส่กลิ่น ให้เด็กๆ ดมดูว่าเป็น กลิ่นอะไรได้ ตามหน้าที่ของ "จมูก" บางเล่มจะซ่อนคอนเซ็ปต์ไว้ที่คีย์เวิร์ด โดยการเน้นคำด้วยสีดำ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเนื้อหาได้ในระยะเวลาอันสั้น สามารถตัดสินใจได้ โดยไม่จำเป็นต้องอ่านทุกหน้า
นอกจากลูกเล่นต่างๆ ยังรวมไปถึงการคำนึงถึงสุขภาพของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหนังสือให้มุมโค้งมน และการใช้หมึกถั่วเหลืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ปัจจุบันหนังสือเด็กของประภาคารมีวางจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไต้หวัน ส่วนในประเทศมีเพียงที่จามจุรีสแควร์ สำหรับผู้ที่สนใจจะสั่งซื้อหนังสือเพื่อบริจาคให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนหนังสือดี ทางประภาคารรับจัดส่ง พร้อมส่งใบตอบรับของโรงเรียนกลับไปยังผู้บริจาคให้ด้วย สอบถาม 0-2222-9394 LIND ID : WPP2013 ศิรินทราบอกว่า แนวโน้มหนังสือเด็กในปัจจุบันมีการแข่งขันมากขึ้น ถามว่าดีมั้ย ดี ผู้บริโภคได้เลือกของที่ดีใช้
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากข่าวประชาสัมพันธ์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ