อังกฤษหวัง! ยาลมชัก-โปรตีนสมอง ช่วยเลิกแอลกอฮอล์
ความหวัง ทางเลือกใหม่รักษาผู้ป่วยติดเหล้า
ลอนดอน : 2 การศึกษาของนักวิจัยสหรัฐทำให้เกิดความหวังว่ายารักษาโรคลมชักขนานหนึ่งและโปรตีนในสมองอาจเป็นเครื่องมือช่วยรักษาหรือลดอาการติดสุราหรือแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆได้ ทดสอบยากับผู้ป่วยจริงได้ผลช่วยลดความต้องการได้เช่นเดียวกับการฉีดโปรตีนเข้าสมองของหนู
บีบีซี นิวส์ ออนไลน์ รายงานผลการศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียในสหรัฐ ซึ่งนำทีมโดยศาสตราจารย์บันโกล จอห์นสัน ที่แสดงให้เห็นว่ายารักษาโรคลมชักขนานหนึ่งอาจช่วยลดอาการติดสุราหรือแอลกอฮอล์ได้ และขณะนี้กำลังเป็นความหวังว่าแพทย์อาจมีทางเลือกเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้
ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยที่มีปัญหาดื่มแอลกอฮอล์หนักเป็นจำนวน 371 คนในสหรัฐ โดยให้ยารักษาโรคลมชักแก่ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้ยาหลอกเพื่อเป็นกลุ่มควบคุม ผลที่ได้พบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 14 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ได้รับยาโรคลมชักไม่เพียงแต่ช่วยลดอาการติดแอลกอฮอล์ ทำให้มีความรู้สึกต้องการดื่มน้อยลงและสามารถควบคุมตัวเองได้แล้วเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงสุขภาพร่างกายโดยรวมให้ดีขึ้นได้ด้วย
นักวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลด ระดับโคเลสเตอรอลและระดับความดันเลือดปรับลดลงไป ขณะเดียวกันยังมีระดับเอนไซม์ในตับซึ่งเกี่ยวพันกับโรคไขมันในตับและนำร่องมาก่อนจะกลายเป็นตับแข็งนั้นปรับลดลงเช่นกัน
ผลการศึกษาดังกล่าวนับว่าสร้างความยินดีให้แก่ผู้เชี่ยวชาญทั่วไป รวมถึง ดร.โจนาธาน ชิกค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ในอังกฤษ และกล่าวว่ายังมียาอื่นๆอีกหลายขนานที่มีเป้าหมายแรกเริ่มเพื่อป้องกันอาการกำเริบของโรคลมชักเช่นกัน แต่การศึกษาใหม่นับว่าได้ผลชัดเจนที่สุด อย่างไรก็ตาม ดร.ชิกค์ กล่าวว่า ยังจำเป็นต้องระมัดระวังถึงผลกระทบของยาดังกล่าวด้วยแม้จะมีเพียงเล็กน้อย
ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งที่มีรายงานในวารสาร the proceedings of national academy of sciences journal แสดงให้เห็นว่าโปรตีนในสมองที่มีชื่อเรียกว่า gdnf อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเลิกติดแอลกอฮอล์ได้ โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในสหรัฐศึกษาทดลองกับหนูด้วยการฉีดโปรตีนดังกล่าวเข้าไปในสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับพฤติกรรมเสพติด (ventral tegmental area) และนำไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จัดฉากเพื่อให้หนูเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่าย พบว่าโปรตีนดังกล่าวแสดงผลให้สังเกตเห็นได้เกือบทันทีหรือสามารถหยุดความต้องการแอลกอฮอล์ของหนูได้ภายในเวลา 10 นาทีเท่านั้น
ที่มา:หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
update 12-06-51