อังกฤษประกาศเสพติดโซเชียลมีเดียเป็นโรคอย่างหนึ่ง

/data/content/23578/cms/aefijknoux78.jpg   

          รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ห่วงวัยรุ่นเสี่ยงเป็นพฤติกรรมเซลฟี่ โชว์รูปผ่านสังคมออนไลน์ กระทบชีวิตประจำวัน ขาดความมั่นใจในตัวเอง ขณะที่ประเทศอังกฤษประกาศให้อาการเสพติดโซเชียลมีเดีย ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง

          พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้คนทั่วโลกนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิคส์ (องค์การมหาชน) สำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในปี 2556 พบว่า ทั่วโลกมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 1000 ล้านกว่าคนต่อเดือน ใช้งานอินสตาแกรมมากกว่า 100 ล้านคนต่อเดือน ส่วนในไทยพบว่า มีประชาชนใช้เฟซบุ๊กถึง 19 ล้านคน ใช้อินสตาแกรมถึง 8 แสนคนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นเดือนละ 10 ล้านคน  

          พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า เรื่องที่น่าห่วงขณะนี้ พบว่า ประชาชนทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะวัยรุ่นนักเรียน นักศึกษา นิยมพฤติกรรมที่เรียกว่า เซลฟี่ (selfie) กันมาก กล่าวคือ ถ่ายรูปตัวเองในอิริยาบถต่างๆ แล้วนำไปเผยแพร่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไม่ว่าจะทำอะไร ไปที่ไหน หรือกินอะไร เพื่อให้เพื่อนในสังคมออนไลน์รับรู้ และกดไลค์ (Like) รูปภาพ และข้อความ พฤติกรรมเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่น หรือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลต่ออนาคต การงาน และการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง    

          “เซลฟี่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนลงรูปแล้วได้แค่ 2 ไลค์ เขาก็มีความสุขแล้ว เพราะถือว่าพอแล้ว แต่บางคนต้องให้มียอดคนกดไลค์มากๆ พอมากแล้วก็ยิ่งติด เพราะถือว่าเป็นรางวัล ในทางตรงกันข้าม หากได้รับการตอบรับน้อย ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง และทำใหม่แล้วก็ยังไม่รับการตอบรับ จะส่งผลต่อความคิดของตัวเอง ทำให้สูญเสียความมั่นใจ มีทัศนคติด้านลบ เช่น ไม่ชอบ ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง แต่หากบุคคลนั้นสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นปกติได้ เซลฟี่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต” พญ.พรรณพิมลกล่าว และว่า ล่าสุด หน่วยงานสาธารณสุข ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศว่า อาการเสพติดโซเชียลมีเดีย ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีมีชาวอังกฤษเข้ารับการบำบัดมากกว่า 100 ราย

 

 

 

          ที่มา : เว็บไซด์มติชนออนไลน์

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code