ออร์แกนิคพลิกเมือง สู่มหานครสีเขียว
ทุกวันนี้กระบวนปลูกผักไม่ใช่แค่รดน้ำ พรวนดิน และการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดไปถึงการมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน อันจะนำไปสู่การเป็นมหานครสีเขียว มหานครแห่งความสุขในอนาคตได้ด้วย
"ตะลักเกี้ยะ Urban Organic Market " เป็นอีกหนึ่งในพื้นที่สุขภาวะต้นแบบที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นผู้ผลิตอาหารได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นความตั้งใจของกลุ่มชุมชนคนรักตลาดน้อยที่ร่วมกับเขตสัมพันธวงศ์ และโครงการย่านจีนถิ่นบางกอกโดยการ สนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. จัดขึ้น ทุกๆ วันเสาร์แรกของเดือน ณ ลานโรงเรียนกุหลาบวิทยา
รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. บอกว่า ตลาดนัดออร์แกนิคหรือตะลักเกี้ยะ นอกจากจะเป็นพื้นที่จับจ่ายใช้สอยผักผลไม้ที่ปลอดภัยแล้ว ยังถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนในชุมชนด้วย
"ทุกชุมชนควรจะมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน และสามารถเดินไปไหนมาไหนใกล้ๆ ได้อย่างปลอดภัย เพราะการไปมาหาสู่ การแบ่งปันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านสุขภาวะที่ดีขึ้น เชื่อว่าเมื่อคนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่มีความสุข ทุกอย่างมันก็จะดีขึ้นตามมาทุกด้าน" รศ.จุมพล กล่าว
เวทีเสวนา 'ออร์แกนิค พลิกเมือง'
เสียงยืนยันจาก "วิโรจน์ ปลอดสัน เทียะ" ตัวแทนจากกลุ่ม TRUCK FARM ผู้ริเริ่มนำความรู้เรื่อง การเลือกซื้อเลือกกินอาหารที่ปลอดภัย ตลอดจนคำแนะนำในการปลูกพืชผักผลไม้เข้าไปสู่ชุมชนต่างๆ บอกเล่าว่า การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ผู้คนเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ส่วนเด็กๆ จากที่เคยติดเทคโนโลยี ก็จะได้หันมาใช้เวลามาสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น
"ปัจจุบันมีโรงพยาบาลบางแห่งใช้การปลูกผักเพื่อบำบัดผู้ป่วยสมาธิสั้น รวมถึงการนำไปใช้ในผู้สูงอายุ เพื่อให้รู้จักอยู่กับตัวเอง ลดความเหงา ลดสภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุลงได้ ตลอดจนเป็นประโยชน์ในด้านของการพัฒนาพื้นที่ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของชุมชน ลดจุดเสื่อมโทรมทำให้ชุมชนเป็นชุมชนที่น่าอยู่มากขึ้น" วิโรจน์เล่า
บรรยากาศตลาดออร์แกนิค ครั้งที่ 1 เมื่อเร็วๆ นี้
สอดคล้องกับความเห็นจากตัวแทนของกลุ่ม Thailand Young Farmer เกษตรกรรุ่นใหม่ อย่าง "จักรภูมิ บุณยาคม" ที่มองว่า การมีแปลงผักหรือมีตลาดออร์แกนิคในชุมชนก็เสมือนมีโรงพยาบาลและหมอประจำตัวมาอยู่ใกล้ๆ เพราะ การกินผักผลไม้ที่ปลอดภัยนอกจากจะ ลดความเจ็บป่วยทางกายแล้วยังได้ทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชนยังเป็นการส่งเสริมสุขภาวะให้ดีมาจากภายในอีกด้วย
"คำตอบสุดท้ายของการเป็นมหา นครแห่งความสุข คือการที่ทุกคนเริ่มต้นลงมือทำนั่นเอง"
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์