ออมสุขภาพแบ่งปันสุขภาวะ

ที่มา : แฟนเพจ Home 6 บ้านฉันน่าอยู่


ภาพประกอบจากแฟนเพจ Home 6 บ้านฉันน่าอยู่


ออมสุขภาพแบ่งปันสุขภาวะ  thaihealth


ออมสุขภาพแบ่งปันสุขภาวะ เรื่องราวของชุมชนคนปลูกผักที่รักสุขภาพและความเป็นธรรม


“ที่ผ่านมาเราใช้สุขภาพอย่างเดียวเลย เราไม่เคยออม เราใช้สุขภาพด้วยการกินอาหาร เช่น การกินผักเราไม่รู้เลยว่าเป็นผักมาจากที่ไหนและกระบวนการปลูกเป็นอย่างไร เราเลยคิดว่าการปลูกผักกินเองจะเป็นการออมสุขภาพหรือการกินอาหารที่ปลอดภัยเพื่อรักษาสุขภาพของเราให้ยั่งยืน” ศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้เป็นกำลังสำคัญของชาว “ชุมชนสี่แยกบายพาสกุดลาด” ชุมชนเล็กๆที่มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 86 คน จำนวน 32 ครัวเรือน เล่าให้ฟังถึงที่มาของการรวมกลุ่มปลูกผักปลอดสารมชนสี่แยกบายพาสกุดลาด


"สี่แยกบายพาสกุดลาด" เป็นชื่อที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เรียกตัวเอง เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บริเวณแถบนี้ซึ่งเป็นทางสี่แยกเลี่ยงเมืองที่เชื่อมต่อมาจากตัวเมืองอุบลราชธานี ทั้งเส้นที่มาจากตัวเมืองและเส้นที่เชื่อมมาจากมาจากสี่แยกทางไปจังหวัดอำนาจเจริญ เดิมทีชาวบ้านแถวนี้คือนักต่อสู้ที่ต้องปกป้องผืนดินอันเป็นสิทธิ์ทำกินของตัวเอง เนื่องจากเป็นกลุ่มชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะมีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย และมีปัญหาการถูกไล่รื้อจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้ยังมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ และเมื่อเกิดปัญหาสมาชิกกลุ่มจึงรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินซึ่งเดิมเป็นที่หัวไร่ปลายนา และได้เข้าร่วมกับเครือข่ายที่ดินในระดับประเทศหลายเครือข่าย จนเข้าใจความเป็นสิทธิชุมชนของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม


แต่ถึงกระนั้นเรื่องปากท้องและเรื่องสุขภาพก็เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ดังนั้นมาถึงวันนี้ชาวชุมชนสี่แยกบายพาสกุดลาด จึงต้องปรับตัวและปรับวิถีบางด้านเพื่อพยุงสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น โครงการ “ออมสุขภาพ แบ่งปันสุขภาวะ” ที่ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเป็นเสมือนแสงสว่างที่มาจุดประกายให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพ


หลังจากได้ความรู้จากโครงการ ทั้งความรู้ที่ได้จากการอบรมและการออกไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ จึงเกิดแรงบัลดาลใจว่าต้องปลูกผักไว้กินเองเพื่อสุขภาพของเรา ผักที่เราปลูกเองจะเป็นผักที่ปลอดภัยอยากกินเมื่อไหร่ก็ได้ แม้ว่าบางอย่างจะต้องลงทุนเอง เช่น การก่อสร้างโครงเหล็กเพื่อทำโรงเรือนในการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ รวมทั้งการทำโรงเรือนอินทรีย์แบบยกแปลงให้พื้นลอยที่ทำให้ง่ายต่อการจัดการที่เราไม่ต้องกังวลเรื่องหญ้าและแมลงที่ไต่ตามพื้น แต่แน่นอนอุปกรณ์เหล่านี้เราต้องลงทุนเอง โครงการจะให้เฉพาะความรู้และวิธีการทำงานเพื่อให้เรานำมาต่อยอดเท่านั้น” นี่คือเสียงยืนยันจากพงศ์ทัต ตะไก่แก้ว อีกหนึ่งสมาชิกที่ลงมือปลูกผักอินทรีย์


ที่สำคัญนอกจากจะมีการปลูกในเนื้อที่ตัวเองแล้ว ปัจจุบันหลังจากที่สมาชิกได้หารือกัน ทำให้พวกเขาได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องมีแปลงรวมเล็กๆ สักแห่งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการปฏิบัติการปลูกผักอินทรีย์ร่วมกัน ซึ่งวันนี้สมาชิกได้มาร่วมกันปลูกผัก โดยผักที่ปลูกนี้เป็นผักรอบที่สองหลังจากที่ปลูกไปแล้วรอบแรกและได้แจกจ่ายสมาชิกไปรับประทานรวมถึงขายเพื่อนำเงินที่ได้มาเข้ากองทุนกลุ่มเพื่อนำไปต่อยอดทำกิจกรรมอื่นๆ โดยวิธีการทำแปลงรวมนั้นสมาชิกจะแบ่งเวรกันออกมาดูแล ซึ่งทุกคนต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่แปลงรวมแห่งนี้เสมือนบ้านหลังที่สองที่ทำให้ทุกคนได้มาเจอกันที่ไม่เพียงแค่เล่าเรื่องการปลูกผักเท่านั้น หากแต่รวมถึงการแบ่งทุกข์แบ่งสุขและการหารือในเรื่องอื่นๆ

Shares:
QR Code :
QR Code