ออมทรัพย์ บ้านผาสิงห์ ร่วมด้วยเพื่อช่วยเหลือ

          บ้านผาสิงห์สนับสนุนการออมทรัพย์ชุมชน เป็นสวัสดิการช่วยเหลือกัน เวลาเดือดร้อนฉุกเฉิน

/data/content/23504/cms/bcfhiprtwy25.jpg

          ไม่ใช่เลขเด็ดที่ต้องซื้อให้ได้ในงวดนี้ แต่เป็นยอดเงินที่คณะกรรมการออมทรัพย์บ้านผาสิงห์ต้องเก็บให้ครบในเช้าวันที่ 10 ของทุกเดือน เพื่อให้เหรัญญิกนำไปฝากธนาคาร ก่อน 10 โมงเช้า ซึ่งในวันที่ 9 หรือหนึ่งวันก่อนหน้าคณะกรรมการออมทรัพย์อย่างน้อย 3 คนจะมาช่วยกันเก็บเงินและทำรายการออม ณ ที่ทำการออมทรัพย์บ้านผาสิงห์  หมู่ 4 แห่งนี้

          พยอม สุริยะ เล่าถึงกลุ่มออมทรัพย์ที่เริ่มกันใหม่อีกครั้งในปี 2550 หลังจากที่กลุ่มออมทรัพย์เดิมยอดนิ่งสนิท ไม่มีสมาชิกออมเพิ่ม ทำให้การออมครั้งนั้นมีอันต้องยุติลง การจะตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาอีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเพราะชาวบ้านยังไม่เข้าใจระบบออมทรัพย์ว่าออมแล้วจะได้อะไร หรือแค่เอาเงินไปฝากให้เก็บไว้ ถ้าอย่างนั้นไปฝากธนาคารไม่ดีกว่าหรือ แล้วจะไว้ใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการออมทรัพย์จะไม่นำทำเงินสูญ

          “ตอนเช้าชาวบ้านจะต้องนำเงินมาฝาก กรรมการเขียนสมุดเงินฝากแทบไม่ทัน ต้องเข้าแถว ปกติเราก็จะได้ยอดครบ 58,140 บาท ตั้งแต่เช้า เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 50 จนถึงวันนี้ไม่เคยเปลี่ยน” พยอมเล่า

           ที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์บ้านผาสิงห์ เป็นบ้านของป้านาย อัญชนา รักษาบุญ ผู้เป็นทั้งที่ปรึกษาและกรรมการกลุ่ม และปลัดชัยยุทธ รักษาบุญ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลผาสิงห์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้วยเช่นกัน

          “คณะกรรมการของเราเลือกมาจากประชาคมหมู่บ้าน แต่ละคนเวลาไปไหนก็พูดกันอยู่แต่เรื่องออมทรัพย์ เย็นๆ ค่ำๆ ก็ออกไปเยี่ยมเยือนกันตามบ้าน คุยให้แต่ละบ้านฟังว่าถ้าเราออมทรัพย์นะเงินของพวกเราทั้งหมดจะแบ่งให้สมาชิกกู้ยืม ทำเป็นสวัสดิการช่วยเหลือกัน เวลาเดือดร้อนฉุกเฉิน ค่าเทอมลูกค่าลงทุนปลูกข้าวโพด ไหนจะเจ็บไข้ได้ป่วยอีก ถ้าเฮาเอามาฮอมด้วยกันจะได้ช่วยเหลือกันไปในวันหน้า” พยอมเล่าต่อ

          จุดเริ่มต้นของการออมทรัพย์ คือการทำให้ชาวบ้านเห็นถึงระบบการจัดการที่จะมีต่อไป กรรมการทุกคนพูดเรื่องออมทรัพย์ไม่หยุดหย่อน แล้วแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง งานศพ ไปวัดไปวา พบหน้าตามถนนหนทางก็ยังไม่เว้น

         “หมู่เฮาคณะกรรมการจะเข็มแข็ง ใส่ใจกันแต้ๆ ถ้าชาวบ้านมาฮอมโตยกัน อย่างใดเฮาจะประคับประคองกันไปหื้อได้” กรรมการกลุ่มออมทรัพย์กล่าว

          ด้วยคำยืนยันมั่นเหมาะของคณะกรรมการกลุ่มทั้ง 16 คน ว่าอย่างไรก็ตามจะไม่ทำให้กลุ่มออมทรัพย์ล้ม ถ้าเป็นนักการเมืองหาเสียงคงได้คะแนนท่วมท้น แต่บ้านผาสิงห์วัดกันที่จำนวนสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ที่เปิดรับครั้งแรกในวันที่ 1 – 5 มกราคม 2550 หมดเวลาวันที่ 5 มีสมาชิกกลุ่ม 164 คน เริ่มการออมในวันที่ 9 ของเดือนมกราคม แม้ชาวบ้านบางคนบางกลุ่มจะยังไม่มั่นใจว่ากลุ่มออมทรัพย์จะเป็นไปได้จริง แต่ระเบียบวินัยที่คณะกรรมการกลุ่มและสมาชิกมีร่วมกันทำให้ชาวบ้านอีกหลายคนตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม จนเงินออมสามารถจัดสรรเป็นเงินกู้แก่สมาชิกได้ในเวลาต่อมา

          จากเงินฝากหุ้นละ 20 บาท สมาชิกหนึ่งคนจะฝากกี่หุ้นก็ได้ มีการปันผลคืนทุก 4 ปี เมื่อออมครบ 6 เดือนสามารถกู้ยืมได้ ในอัตราดอกเบี้ยรอยละ 1 บาทต่อเดือน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับเงินกู้นอกระบบที่เริ่มต้นร้อยละ 5 บาทต่อเดือน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกรมองเห็นช่องทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนและหนี้สินที่พอกพูนขึ้น หรือหากเกิดความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน เช่น ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน เงินของกลุ่มออมทรัพย์จะช่วยอุดช่องปัญหา คลายความหนักใจได้ การออมเริ่มเป็นเรื่องที่ชาวผาสิงห์ต่างพูดถึง จากที่เคยมองภาพไม่ออกในตอนแรกว่ากลุ่มออมทรัพย์จะช่วยอะไรในชีวิต กลับกลายเป็นว่าแทบทุกเรื่องของชีวิตต้องพึ่งพิงกลุ่มออมทรัพย์ การออมกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

         “อย่างคนแก่ที่ไม่มีรายได้อะไร ก็อาศัยการถักตอก เส้นละ 7 – 10 บาทนี่แหละ ถ้าใกล้วันออมก็จะเอาตอกเส้นไปขายได้สักหุ้นสองหุ้นก็ถือว่าดีแล้ว บางคนก็พวกหน่อไม้ป่า หัวปลีบ้างมาขาย ทุกคนเริ่มมองเห็นกันว่าการออมเป็นเรื่องจำเป็น” พยอมเล่า

          สำหรับการกู้ยืม สุกัญญา คำพร หรือนก ซึ่งเป็นฝ่ายการกู้ได้เล่าถึงเงื่อนไขต่างๆ ว่า

1. กู้ตามหุ้น ถ้าฝากมากจะกู้ได้มาก ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน

2. กู้ตามจำนวนเงินฝาก ถ้าฝาก 1,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป กู้ได้ไม่เกินครั้งละ 30,000 บาท ใช้คืนในระยะเวลา 4 ปี ทุกเดือนต้องจ่ายดอกเบี้ย

3. กู้ฉุกเฉิน กู้ได้สูงสุดตามจำนวนหุ้น ไม่เกิน 20,000 บาทต่อครั้ง ใช้คืนภายในสามเดือน เช่น ค่ารักษาพยาบาลและค่าเทอม  ซึ่งค่าเทอมจะพิจารณาคัดกรองตามความเหมาะสม แต่ละระดับชั้นจะได้ไม่เท่ากัน

          กลุ่มออมทรัพย์จะเปิดกู้ทุก 6 เดือน ยกเว้นเงินกู้ฉุกเฉิน หากใครไม่กู้เงินที่ฝากทุกเดือนจะกลายเป็นเงินออมสิ้นปีมีเงินปันผล 2 ปีจะคืนเงินออมพร้อมดอกเบี้ย การออมรอบใหม่จะเปิดอีกครั้งในปีถัดไป

          “ต้องยอมรับกันเลยนะว่าการคืนเงินไม่เคยมีปัญหาถึงเวลามาจ่ายครบ ส่วนการฝากทางกลุ่มจะประกาศล่วงหน้า 2 วัน ตอนเช้าวันที่ 9 ประกาศเสียงตามสายอีกครั้ง แต่ทุกคนก็รู้กันดีอยู่แล้ว เพราะฝากอยู่ทุกเดือนแต่ละคนจะถือสมุดเงินฝากมาเลย ส่วนใหญ่ในหนึ่งครอบครัวจะฝากกันทุกคน บางครอบครัวออกไปทำงานต่างจังหวัด พ่อแม่พี่น้องจะเอาเงินมาฝากให้ ใกล้วันฝากเขาจะโอนเงินกันเข้ามาส่วนใหญ่จะครบกันตั้งแต่วันที่ 9 วันที่ 10 ให้เวลาถึง 10 โมง ใครเกิน 10 โมงจะถูกกาแดงไว้  เค้าจะกลัวกากบาทสีแดงเพราะมันมีผลต่อการพิจารณาเงินกู้ สมาชิกของเราเลยมีวินัยกันมาก” สุกัญญา เล่าต่อ

         ถ้านับเวลาจากปี 2550 มาถึงปีนี้ ระยะเวลา 5 ปีจากยอดครั้งแรก 12,000บาท มาถึงวันนี้มียอดฝาก 58,140 บาททุกเดือน ยอดเงินรวมอยู่ที่ สองล้านกว่าบาท  สมาชิกกลุ่มมี 367 คน เหลือเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่ยังไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งจะเข้าร่วมในปีหน้า  ถึงตอนนั้นคนบ้านผาสิงห์จะเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ทั้งหมู่บ้าน

          ถ้ามองเพียงตัวเลขอาจมองเห็นยอดเงินที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองไปในรายละเอียดของชีวิตของผู้คนที่นี่ จะเห็นการเรียนรู้และวิธีที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการทำบัญชีครัวเรือนที่กลุ่มสาธารณสุขหมู่บ้านได้สอนให้กับแต่ละครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับระบบของกลุ่มออมทรัพย์ทำให้ชาวบ้านรู้ถึงระบบการใช้จ่ายของครอบครัว

          “ถ้าได้เงินมาเขาจะแบ่งออมก่อน แล้วค่อยจ่ายส่วนที่เหลือตามความจำเป็น บางคนไม่เคยรู้เลยว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง เงินมาแล้วหายไปไหน ตอนนี้รู้กันแล้ว”สุกัญญาเสริม

          เมื่อรู้จักวางแผนการใช้จ่าย ก็นำมาสู่การรู้จักวางแผนชีวิต อย่างที่ป้าไข่ฝากเงินเดือนละ 100 บาท และกู้มาลงทุนเลี้ยงหมูขยายพันธุ์ขาย จนสามารถส่งเสียลูกเรียนจบปริญญาตรี เช่นเดียวกับป้าคำ สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์รุ่นแรกที่เริ่มกู้เงินมาลงทุนเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ตั้งแต่ลูกออกจากบ้านไปเรียนในต่างจังหวัด ไข่เป็ดไข่ไก่ขายได้ก็นำมาใช้คืนเงินกู้ ระยะเวลา 4 – 5 ปี ลูกป้าคำคนหนึ่งเรียนจบนิติศาสตร์ อีกคนรับราชการตำรวจ ป้าคำบอกใครต่อใครว่า “ถ้าไม่ได้กลุ่มออมทรัพย์ก็คงแย่”

          กลุ่มออมทรัพย์จึงไม่ได้เป็นแค่เงินฝากเงินกู้ แต่เป็นระบบจุนเจือเกื้อหนุนของคนทั้งชุมชน  เช่นที่สมาชิกราว 50 คนฝากเงินทุกเดือนๆ ละ 500 – 1,000 บาท แต่ไม่กู้เลยเมื่อกรรมการกลุ่มถามว่า ทำไมไม่กู้กันบ้าง พวกเขาตอบกันว่า “คนบ้านผาสิงห์เราไม่มีอะไรจะช่วยกัน มีแต่เงินออมทรัพย์นี่แหละ สงสารคนที่ทำไร่ใส่สวน ให้เขากู้ไปลงทุนเถอะ จะได้มีเงินมีทองส่งลูกเรียน”

          อีกหนึ่งตัวอย่าง คือลุงคนหนึ่ง เดินผ่านที่ทำการทุกวันเพื่อไปซื้อเหล้า ป้านายเห็นจึงลองคุยด้วย คุยกันบ่อยเข้า ป้านายเลยชวนฝากเงินไว้ เหล้าขวดละ 40 บาท ป้านายขอเก็บฝากให้ 20 บาท เดี๋ยวนี้จากเคยกินทุกวัน ก็เพลงลง แกอยากเอาเงินมาฝากมากกว่า

         “ทางกลุ่มเริ่มโครงการใหม่กับเด็กๆ โรงเรียนอนุบาล ด้วยออมสินกระบอกไม้ไผ่ให้เด็กๆ หัดออมเงิน จะผ่าออมสินตอนสิ้นปี ของใครเยอะสุดจะมีรางวัลให้ ส่วนผู้ใหญ่จะทำเป็นข้องใส่ปลา โดยจ้างกลุ่มจักสานของผู้สูงอายุ แจกให้แต่ละบ้าน  กำลังจะเริ่มแจก แต่ยังไม่ครบทุกหลังเพราะกลุ่มผู้สูงอายุสานไม่ทัน” ป้าพยอมเสริม

         นอกจากการการปลูกฝังนิสัยการออมแล้ว  อีกประเด็นสำคัญที่กลุ่มออมทรัพย์มองเห็น คือ ปัญหาจากระบบเกษตรแบบพันธะสัญญา ที่นายทุนเป็นผู้ผูกขาดตั้งแต่การลงทุน เมล็ดพันธุ์  ปุ๋ยยา และการรับซื้อ  ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือก ต้องยอมรับสภาพการถูกเอารัดเอาเปรียบ ทางกลุ่มฯ คิดว่าหากมีร้านค้าที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เป็นแผนการในอนาคตที่ทางกลุ่มออมทรัพย์บ้านผาสิงห์อยากทำให้เป็นจริง

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ปันสุข

Shares:
QR Code :
QR Code