“ออนใต้โมเดล” เนรมิตชุมชนให้น่าอยู่
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
“ออนใต้โมเดล” วางกลยุทธ 3 ประสาน “ท้องทุ่ง-ท้องถิ่น-ท้องที่” ให้เกิดพลังความคิด เนรมิตชุมชนให้น่าอยู่ ตั้งเป้าต้องเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ 4 มิติ “ผัก-น้ำ-ป่า-ขยะ” และต้องมีครัวเรือนต้นแบบ
กรณีที่ชาวตำบลออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ประสบปัญหาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ จากพฤติกรรมและการบริโภคผักที่มีสารเคมีตกค้าง เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีน้ำและประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้หลายครัวเรือนต้องซื้อผักจากแหล่งผลิตอื่น ที่มีการใช้สารเคมีตกค้าง และยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย กระทั่งคนในชุมชนต้องหันหน้ามาพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อลดและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชน โดยเริ่มจากการระดมความคิด 3 ประสาน ได้แก่ “ท้องทุ่ง-ท้องถิ่น-ท้องที่” ซึ่ง “ท้องทุ่ง” หมายถึงสมาชิกชาวชุมชนตำบลออนใต้ แกนนำและผู้นำชุมชน “ท้องถิ่น” คือเทศบาลตำบลออนใต้ และ “ท้องที่” คือหน่วยงานภาครัฐในระดับตำบลออนใต้ เพื่อรวบรวมต้นทุนทางสังคม และร่วมกันหาต้นตอปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออนใต้ ที่มาช่วยในการหาสาเหตุและวิเคราะห์สถานการณ์โรคภัยไข้เจ็บของคนในชุมชน
นายศานต์ภิสิทธิ์ ปัญญาทิพย์ ผู้รับผิดชอบโครงการ “ออนใต้โมเดล” กล่าวว่า เมื่อระดมความคิด 3 ประสานเพื่อหาแนวร่วมจากหน่วยงานในพื้นที่ จึงมีการปรับเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านว่า “การป่วยไข้เป็นเพราะกรรม” ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อ ให้ความคิดดังกล่าวเปลี่ยนเป็นเรื่องของพฤติกรรม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยกิจกรรมทั้งเรื่องการกินอยู่และการออกกำลังกาย ซึ่งในปี 2558 ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณดำเนินการและองค์ความรู้จากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้เริ่มลงมือ โดยเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกี่ยวโยงจนกระทบต่อสุขภาพ ให้ชาวชุมชน 7 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 11 หมู่บ้าน ของตำบลออนใต้ เข้าร่วมโครงการเพื่อร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่
จากนั้นได้ใช้สภาผู้นำชุมชน ที่มีความเข้าใจในปัญหาของคนในชุมชน และมีแนวคิดแนวทางในการจะแก้ไขปัญหาร่วมกัน และตั้งทีม อสม. จำนวน 177 คน ทั้งที่เป็นแบบทีมหลักทำงานเต็มเวลาทุกเวลา กับทีมสนับสนุนที่มาช่วยงานเป็นครั้งคราว ในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ โดยฉายภาพให้เห็นว่าเป็นเพราะพื้นที่ออนใต้แห้งแล้ง ปลูกพืชผักไม่ได้ ต้องไปหาซื้อผักจากตลาดที่มีสารตกค้าง ทำให้สุขภาพไม่ดีและยังสิ้นเปลืองเงินในครัวเรือนด้วย ชาวชุมชนจึงเริ่มจากการปลูกพืชผักไว้ในพื้นที่ว่างเปล่าในบริเวณบ้าน เพื่อจะได้มีผักที่ปลอดสารไว้บริโภคในครัวเรือน โดยเลือกผักที่ชอบของคนในครอบครัว โดยเฉพาะผักพื้นบ้านที่หาซื้อหาทานได้ยาก ทำกองปุ๋ยหมักใช้เองเพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี และใช้น้ำที่เหลือใช้จากครัวเรือนเช่นน้ำล้างจาน น้ำจากห้องน้ำ และอื่น ๆ นำมาเก็บไว้ใช้เป็นน้ำรดพืชผักด้วย ทำให้สามารถใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่า มีผักปลอดภัยไว้กินและลดรายจ่ายได้ด้วย ซึ่งบางครั้งพืชผักยังเหลือนำไปแบ่งปันกับเพื่อนบ้าน หรือนำไปขายเป็นรายได้เพิ่มอีกตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
โดยนายจันทร์ตา คำอินต๊ะ อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41 หมู่ 11 บ้านป่าเปางาม ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งกลายเป็นบ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นบ้านที่ใช้พื้นที่ว่างในบริเวณบ้าน ทำแปลงผัก ปลูกทั้งผักกูด ผักแว่น ผักสมุนไพร ผักสวนครัว หลากหลายชนิด ไว้รับประทานในครัวเรือนและเหลือแบ่งแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านและคนในชุมชนได้ด้วย
สำหรับ “ออนใต้โมเดล” 7 หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็น 5 หมู่บ้าน ที่ทำเรื่องผักปลอดสารพิษและสุขภาพ ส่วนอีก 2 หมู่บ้าน ทำเรื่องการจัดการขยะ และ เรื่องป่า เพื่อให้สิ่งแวดล้อมของชุมชนดีขึ้น
นายศิวพงษ์ คล่องพานิช นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.ออนใต้ กล่าวว่า หลังได้รับงบ สสส. และดำเนินการได้ในช่วงระยะหนึ่งพบว่า สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น ภาวะความเสี่ยงเจ็บไข้ได้ป่วยลดน้อยลง แต่ที่สำคัญคือ ชาวบ้านให้ความตระหนักและสนใจเรื่องสุขภาพจากการบริโภคและการออกกำลังกายมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะลดความเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพ
ทางด้านนายประเวศน์ โปธิตา นายกเทศมนตรีตำบลออนใต้ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ สสส. มาสนับสนุนและส่งเสริม ทำให้ชุมชนมีแนวคิดและความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งในฐานะผู้บริหารท้องถิ่น มีหน้าที่สนับสนุนปัจจัยอื่นๆ ที่ชุมชนร้องขอต้องการ โดยมุ่งหมายให้ชาวชุมชนออนใต้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งหลังจากที่ชาวบ้านปลูกผักได้มากขึ้น และมีเพียงพอที่จะจำหน่ายได้ เบื้องต้นขณะนี้กำลังมองหาพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นตลาดสีเขียวให้กับชุมชนได้มีพื้นที่นำพืชผักปลอดสารพิษมาแลกเปลี่ยน จำหน่ายกัน โดยจะทำเป็นตลาดสีเขียวตำบลออนใต้
จากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 6-7 เดือน พบว่า ชาวบ้านทั้ง 7 หมู่บ้าน ที่เข้าร่วมโครงการ ให้ความสำคัญและสนใจมาก ให้ความร่วมมือ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ โดยความสำเร็จที่เห็นแล้วคือ เกิดการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพหมู่บ้านและตำบลโดยชุมชนเอง โดยเป้าหมายใหญ่ของ “ออนใต้โมเดล” คือต้องเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ 4 มิติ ได้แก่ ผัก น้ำ ป่า และขยะ และจะต้องมีครัวเรือนต้นแบบเพื่อให้เกิดการขยายองค์ความรู้ในแต่ละมิติแต่ละหมู่บ้านได้ด้วย ซึ่งจะกลายเป็นความยั่งยืนของชุมชนต่อไป