ออกแบบการตาย ให้จากไปอย่างสงบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


ออกแบบการตาย ให้จากไปอย่างสงบ thaihealth


สสส. คณะทำงานสุขภาพคนไทยศึกษาเรื่องพิเศษ "ตายดี วิถีที่เลือกได้" เตรียมตัวตายอย่างมีศักดิ์ศรีในวันที่สังขารแตกดับและสิ้นลม จิตใจสงบเป็นอิสระ โปร่งเบา พระไพศาล วิสาโล มีประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต


ยิ่งผู้ป่วยใกล้ตายจิตใจไม่สงบและกระวนกระวายมากเท่าใด ก็จะมีความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยมากเท่านั้น แตกต่างจากผู้ป่วยมีจิตสงบ จะมีสติรู้ทันความเจ็บปวดและควบคุมอาการเจ็บปวดได้ดี ในนาทีสุดท้ายต้องตั้งสติให้ได้ ปล่อยวาง ดับความเป็นตัวกูของกูให้หมดสิ้น แล้วก็จะตายดีได้


คนไทยมักจะพูดปากต่อปากว่า เกิดมาทั้งที อย่าให้เสียชาติเกิด ถ้าจะไม่ให้เสียชาติเกิดก็ต้องทำชีวิตนี้ให้มีคุณค่า "อยู่ก็สบาย ตายก็เป็นสุข" จึงเป็นเรื่องดีที่การตายของเราที่ธรรมชาติหยิบยื่นให้มาพร้อมกับชีวิตนั้นจะต้องเป็นการจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี สงบ และเป็นธรรมชาติเพื่อจะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาชาติหนึ่ง


คณะทำงานสุขภาพคนไทยได้ศึกษาเรื่องพิเศษ "ตายดี วิถีที่เลือกได้" มานำเสนอเพื่อให้เห็นว่า ถึงแม้ความตายเป็นสิ่งที่ "เลือกไม่ได้" แต่เราสามารถ "เตรียมตัวและออกแบบ" การจากไปในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ การเตรียมตัวอย่างไรให้ตายดีในมิติทั้งด้านการแพทย์และจิตใจ และสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิของคนไทยที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ขอรับการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดความตายเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพื่อในวาระสุดท้ายของชีวิตสามารถจากไปได้อย่างสงบ หรือที่พูดกันว่า "ตายตาหลับ" จัดพิมพ์โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ผู้ทรงคุณวุฒิมีส่วนร่วมให้สัมภาษณ์ประเด็น "ตายดี วิถีที่เลือกได้" นพ.อำพล จินดาวัฒนะ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดและอ่านได้จาก www.thaihealthreport.com


ออกแบบการตาย ให้จากไปอย่างสงบ thaihealth


เราต้องมีสิทธิ์กำหนดด้วยตัวเอง ทั้งชีวิตและความตาย เพราะทั้งสองอย่างนี้แยกกันไม่ออก ตายดี วิถีที่เลือกได้ "ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งคนมี ทั้งคนจน ทั้งหมดล้วนเดินหน้าไปหาความตาย" พระไตรปิฎกเล่มที่ 10 ข้อ 108  "การตายเป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกจากการต้อนรับให้ถูกวิธี สอนให้รู้จักตายก่อนตาย นั่นคือ ตายจากทั้งความชั่วและความดี ไม่ยึดติดในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าทำได้เช่นนี้เมื่อถึงวันที่สังขารแตกดับและสิ้นลม จิตใจก็จะสงบ เป็นอิสระและโปร่งเบา เป็นสุดยอดของการตายแท้จริง" พุทธทาสภิกขุ


"คนไข้เจ้าของชีวิตต้องมีสิทธิ์และสามารถแสดงความจำนงของเขาไว้ได้ว่า เมื่อถึงวาระสุดท้ายของเขาแล้ว เขาต้องการให้เป็นอย่างไร ญาติและแพทย์ควรจะตอบสนองเจตจำนงของคนไข้ เพราะเป็นความปรารถนาของเขา ว่าเขาต้องการจากไปในสภาพเช่นไร" ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บทสัมภาษณ์รายการกรองสถานการณ์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ในหนังสือตายอย่างมีศักดิ์ศรี


ทัศนะของศาสนาเกี่ยวกับความตายจำแนกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ แบบแรก มองความตายว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิตจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง ทัศนะเช่นนี้เป็นความเชื่อที่แพร่หลายในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ในมุมมองของพุทธ ชีวิตประกอบด้วยส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เรียกโดยรวมว่าเบญจขัณฑ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความตายคือการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบทั้งหมดที่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ ตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัยหรือมีเชื้ออยู่ ชีวิตก็ยังมีอยู่ เมื่อตายแล้วก็เกิดใหม่ได้ แต่จะเกิดใหม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหรือกรรม คือ การกระทำซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดีของแต่ละคน ตามหลักแล้วการเกิดใหม่สามารถจะมีได้ไม่รู้จบตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น จะไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อเมื่อเหตุปัจจัยดับสิ้นไม่มีเหลือ ในทางพุทธหมายถึงการดับกิเลสทั้งมวลจนบรรลุพระนิพพานแล้ว


ทัศนะอีกแบบหนึ่งคือ คนเรามีชีวิตในโลกนี้ได้ครั้งเดียว ตายแล้วก็จบ ไม่มีโอกาสกลับมาเกิดใหม่ในโลกนี้อีก เมื่อตายแล้วต้องรอวันที่พระเจ้าจะพิพากษาว่าจะได้ไปสวรรค์หรือไปนรกตามระดับความดีความชั่วที่ตนทำไว้ โลกนี้เป็นเรื่องชั่วคราว แต่มีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่จะบอกว่าชีวิตในโลกหน้าซึ่งเป็นสิ่งนิรันดร์นั้นจะได้ไปสู่สวรรค์ในดินแดนของพระเจ้าหรือไปนรก ความเชื่อนี้แพร่หลายอยู่ทั่วไปในกลุ่มศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว เช่น ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม


ทัศนะการแพทย์แบบตะวันตกหรือการแพทย์สมัยใหม่ เป็นเรื่องของการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อให้คนมีสุขภาพดีและมีชีวิตอยู่ได้นานที่สุด เพื่อต่อสู้กับความตาย ทัศนะเช่นนี้มีคุณูปการอย่างยิ่ง เพราะได้ช่วยให้การแพทย์เจริญก้าวหน้า ทำให้ชาวโลกทั่วไปมีอายุยืนยาวขึ้น ที่สำคัญคือกระบวนทัศน์การแพทย์สมัยใหม่ตรงกับธรรมชาติของคนทั่วไป คือการรักชีวิตและกลัวความตาย แม้จะรู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ก็ตาม ดังนั้นการยื้อชีวิตเอาไว้ด้วยกระบวนการรักษาจึงเป็นสิ่งที่วงการแพทย์สมัยใหม่แทบจะไม่ตั้งคำถามถึงผลข้างเคียงเลย ประชาชนส่วนมากก็พร้อมที่จะยอมรับการยืดชีวิตเอาไว้ หรือจำต้องยอมรับอยู่แล้ว แม้จะเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานจากกระบวนการรักษาเพียงใดก็ตาม ทั้งนี้เพื่อแลกกับคามหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป


มนุษย์เราควรมีโอกาสได้ตายดี เช่นเดียวกับโอกาสที่จะดำรงอยู่อย่างสุขสบายตามอัตภาพเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ความตายทำให้เกิดการสูญเสีย พลัดพราก และเป็นสิ่งที่เจ็บปวดน่าหวาดกลัวมิใช่หรือ เช่นนี้แล้วการตายดีจะเป็นไปได้อย่างไร ความตายที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นความสูญเสียและเป็นสิ่งที่น่ากลัวนั้นสามารถจะทำให้กลายเป็นการจากไปที่ดี ให้เป็นความตายที่สงบ หรือแม้แต่เป็นความตายที่สว่างได้ด้วย แม้ยังไม่ตายเราก็ยังมีโอกาสใช้ความตายเป็นเครื่องเตือนสติให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท หมั่นทำความดี แก้ไขสิ่งที่ผิด และตั้งมั่นอยู่ในทางที่ชอบ เพื่อว่าเมื่อวันสุดท้ายของชีวิตมาถึงจะได้จากไปอย่างสงบและเป็นธรรมชาติ คือ ตายดี ตายแล้วก็ขอให้ได้ขึ้นสวรรค์หรือได้เข้าสู่ดินแดนแห่งพระผู้เป็นเจ้าก็ถือว่าเป็นการตายที่ดี ขณะเดียวกันผู้ตายก็ต้องเตรียมชีวิตให้พร้อมที่จะได้ไปสวรรค์ตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่


ออกแบบการตาย ให้จากไปอย่างสงบ thaihealth


ในสมัยอดีตกาลนั้น แม้ว่าคนไทยจะไม่มีระบบสุขภาพที่มาช่วยให้มีชีวิตที่สะดวกสบายและยืนยาวได้เท่าทุกวันนี้ แต่คนจำนวนมากให้ความสำคัญแก่การได้ตายอย่างมีศักดิ์ศรีในสภาพที่ร่างกายไม่ต้องถูกกระทำจากกระบวนการรักษาที่เกินความจำเป็น ท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อต่อความสงบทางจิตใจและจิตวิญญาณ ในวาระสุดท้ายเรายินดีให้แพทย์ทำทุกอย่างเพื่อยื้อชีวิตไว้ แม้จะรู้อยู่ว่าจะทำให้เจ็บปวดทรมานและมีค่าใช้จ่ายมากเท่าไรบางคนก็ยอม ทั้งที่รู้ว่าแทบไม่มีโอกาสที่จะคืนสู่สภาพชีวิตที่มีคุณภาพตามควรแก่อัตภาพ


เป็นเรื่องดี ถ้าเราออกแบบการตายของตัวเองโดยแสดงความจำนงไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ยังแข็งแรงและมีสติสัมปชัญญะทุกประการ เมื่อเจ็บป่วยจนถึงวาระสุดท้าย เราจะไม่ขอรับการรักษาเพียงเพื่อยื้อชีวิตเอาไว้ แต่จะขอจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ เตรียมพร้อมสำหรับความตายที่จะมาถึงเมื่อใดก็ได้ด้วยการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท เพื่อวาระสุดท้ายของชีวิตจะได้จากไปด้วยดี


คนไทยจำนวนมากเจ็บป่วยจนถึงขั้นสุดท้ายของชีวิตแล้วก็ไม่ได้จากไปโดยสงบอย่างเป็นธรรมชาติ แต่จากไปหลังจากกระบวนการรักษาพยาบาลได้ทำให้ร่างกายบอบช้ำโดยไม่จำเป็น ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนไม่น้อยที่มีฐานะดีและเป็นคนดังในสังคม ดังนั้นการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยืดเวลาความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยออกไปโดยไม่ได้ทำให้ชีวิตสามารถคืนสู่สภาพที่มีคุณภาพได้ เป็นสิ่งที่เรามีสิทธิ์ปฏิเสธได้ และควรปฏิเสธโดยการแสดงความจำนงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมสร้างความเข้าใจและการยอมรับของญาติมิตรที่ใกล้ชิดและคนรอบข้าง โดยการเตรียมชีวิตไว้ให้พร้อม เมื่อถึงวันนั้นจะได้จากไปอย่างสงบโดยไม่ฝืนธรรมชาติของชีวิต


การตายทันทีเพราะหัวใจวายเฉียบพลันเป็นการตายที่ดีหรือไม่ การตายดีคือการตายจากการได้พลีชีพเพื่อชาติหรือเพื่ออุดมการณ์ที่ตนยึดถือ การตายที่ได้ขึ้นสวรรค์หรือได้เข้าสู่ดินแดนแห่งพระผู้เป็นเจ้าถือว่าเป็นการตายที่ดี การตายที่ดีควรเป็นการตายตามธรรมชาติโดยไม่ต้องฝืนเมื่อวาระสุดท้ายมาถึงก็ตายตาหลับได้โดยไม่ต้องห่วงกังวล จากไปในบรรยากาศที่อบอุ่น ในสภาพจิตเป็นอิสระ สงบ โปร่งเบา และปล่อยวางจากความยึดมั่นทั้งปวง


การตายดีนั้นฉันใด ก็คือ 1.ตายตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องฝืน ความตายเกิดขึ้นกับเราอยู่ตลอดเวลา ในทางชีววิทยา เซลล์ในร่างกายที่เติบโตเต็มที่แล้วก็ตายไป เม็ดเลือดแดงมีอายุ 120 วัน หลังจากนั้นก็สลายไปที่ตับ เม็ดเลือดแดงใหม่ที่สร้างจากไขกระดูกก็เกิดมาแทนที่ ทดแทนหมุนเวียนกันไป เราจึงเกิดทุกวันและตายอยู่ทุกวัน แม้ยังมีลมหายใจอยู่ 2.ตายตาหลับโดยไม่มีความหวาดกลัวหรือห่วงกังวล ในขณะที่ใกล้สิ้นลมอาจเกิดนิมิตคือภาพที่ปรากฏในใจอย่างใดอย่างหนึ่ง การกระทำที่ฝังใจอยู่ไม่รู้ลืมมีทั้งดีและไม่ดี ที่ไม่ดีคือบาปกรรมที่เคยทำกับคนหรือสัตว์อื่น หนี้สินที่ยังไม่ได้ชำระ ความผิดหรือการล่วงเกินต่อผู้อื่นที่ยังไม่ได้จัดการให้เรียบร้อย หรือยังไม่ได้ขออโหสิกรรมให้เลิกแล้วกัน ภาพการกระทำที่ไม่ดีอาจจะทำให้เกิดความหวาดกลัวทุรนทุรายขณะที่จิตกำลังจะดับ


พระไพศาล วิสาโล มีประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตมามาก ยิ่งผู้ป่วยใกล้ตายจิตใจไม่สงบและกระวนกระวายมากเท่าใดก็จะมีความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยมากเท่านั้น ตรงกับข้ามกับผู้ป่วยที่มีใจสงบ จะมีสติรู้ทันความเจ็บปวดและสามารถควบคุมอาการเจ็บปวดได้ดีกว่าคนที่วิตกกังวลมากๆ และขาดสติ สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต การรักษาทางแพทย์จะต้องควบคู่ไปกับการช่วยให้เกิดความผ่อนคลายทางจิตใจ เพื่อให้เขาพร้อมที่จะเข้าสู่การตายได้อย่างสงบและเป็นธรรมชาติที่สุด


3.ตายในบรรยากาศที่อบอุ่น คือผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ตนรัก สมาชิกครอบครัว ญาติ มิตรได้อย่างเป็นปกติเท่าที่สภาพของเขาจะมีได้ 4.ตาย ด้วยจิตที่เป็นอิสระจากสิ่งยึดมั่นทั้งปวง ผ่อนคลาย สงบ และปล่อยวาง ไม่ยึดติดในตัวกูของกู นับได้ว่าเป็นการตายดี


ท่านพุทธทาสภิกขุสอนไว้ว่า "ไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดีอย่างไร ถ้าอยากจะตายดีแล้ว ในนาทีสุดท้ายต้องตั้งสติให้ได้ และปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ดับความเป็นตัวกูของกูให้หมดสิ้น แล้วก็จะตายดีได้"

Shares:
QR Code :
QR Code