ออกกำลังกาย อย่าลืมฟังเสียงหัวใจ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ออกกำลังกาย อย่าลืมฟังเสียงหัวใจ thaihealth


ใครๆ ก็รู้ว่าการออกกำลังกายเป็นยาสารพัดนึกสำหรับคนอยากมีสุขภาพดี รูปร่างฟิตแอนด์เฟิร์ม แต่การออกกำลังกายที่หักโหม หรือขาดความรู้ บางครั้งก็เหมือนพิษร้ายที่ทำลายสุขภาพของผู้ออกกำลังกายได้เหมือนกัน


หนึ่งในสัญญาณที่จะช่วยชี้วัดว่า การออกกำลังกายที่คุณเลือกหรือทำอยู่นั้น เป็นการทำลายสุขภาพร่างกายตัวเองทางอ้อมอยู่หรือเปล่า คือ การสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) เพราะอัตราการเต้นของหัวใจมีส่วนสำคัญที่จะบอกให้คุณรู้ว่าการออกกำลังกายของคุณนั้นมีความหนักอยู่ที่ระดับไหนนั่นเอง


ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า อัตราการเต้นของหัวใจ หมายถึง จังหวะการบีบตัวของหัวใจเพื่อส่งเลือดแดงที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้าระหว่างหรือหลังการออกกำลังกายพบว่า หัวใจเต้นเร็วเหลือเกิน นั่นหมายความว่า การออกกำลังกายของคุณ ค่อนข้างหนัก ยิ่งหัวใจเต้นเร็ว ก็หมายความว่า หัวใจของคุณกำลังทำงานหนักขึ้น เพราะต้องส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากกว่าปกติ


เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่หันมาดูแลสุขภาพ ด้วยการออกกำลังกายมากขึ้น ฟิตบิท (Fitbit) ผู้ผลิตสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ จึงได้พัฒนานวัตกรรมตัวช่วยใหม่อย่าง ฟิตบิท อัลธ่า เอชอาร์ (Fitbit Alta HR) สายรัดข้อมือฟิตเนสรุ่นเพรียวบาง ที่เพิ่มเทคโนโลยีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจเข้ามาจับอัตราการเต้นของหัวใจตัวเองได้อย่างง่ายดาย


ในงานเปิดตัวยังได้รับเกียรติจาก โค้ชโอ๊ต-ภคพงศ์ วิเศษสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาแนะนำเทคนิคดีๆ ในการออกกำลังกาย โดยโค้ชโอ๊ต บอกว่า หากออกกำลังกายแล้วปล่อยให้อัตราการเต้นของหัวใจมีระดับที่สูงจนเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะเส้นเลือดจะสูบฉีดมาก หัวใจเต้นเร็ว ทำให้ช็อก หมดสติ หรือเส้นเลือดแตกได้ เพราะฉะนั้นถ้าให้ดีระหว่างหรือหลังการออกกำลังกายควรเช็ก "ฮาร์ทเรตโซน" (Heart Rate Zone) หรือระดับอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมในการออกกำลังกายของแต่ละคน


"สูตรง่ายๆ ในการคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจที่พอเหมาะกับช่วงวัยของแต่ละคน คือ นำ 220 – อายุ เพื่อหาค่าสูงสุดของอัตราการเต้นหัวใจ เช่น ถ้าคุณอายุ 32 ก็นำ 220 – 32 จะได้ 188 ซึ่งเป็นค่าสูงสุดของอัตราการเต้นหัวใจ (maximum heart rate) สำหรับคุณ พอได้แล้วให้นำมาคูณด้วยเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของการออกกำลังกาย โดยเฉลี่ยแนะนำให้อยู่ระหว่าง 60-70% ดังนั้นหากผู้ออกกำลังกายคนเดิมต้องการหาค่าเฉลี่ยของฮาร์ทเรตโซน ก็นำ 188 มาคูณด้วย 60% จะได้ 112.8 เท่ากับว่าค่าเฉลี่ยของฮาร์ทเรตของคุณควรอยู่ที่ประมาณ 112.8


อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยดังกล่าวไม่ได้ตายตัวสำหรับทุกคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นความฟิตของร่างกาย คลื่นไฟฟ้าหัวใจ กรรมพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละคนต้องหาจุดที่พอดีของตัวเองให้เจอ"

Shares:
QR Code :
QR Code