‘ออกกำลังกาย’ ตัวช่วยหนึ่งของผู้อยากเลิกบุหรี่

          “การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละ 50,710  คน  และเป็นสาเหตุของภาระโรคอันดับที่สองของคนไทย โดยทำให้คนเสียเวลาแห่งชีวิตจากการตายก่อนเวลา  628,061  ปี  และสูญเสียสุขภาวะจากการเจ็บป่วยหนัก 127,184  ปี  ในแต่ละปี  ทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย  52,200  ล้านบาท” นพ.นพพร  ชื่นกลิ่น  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้ในงานแถลงข่าว “บุหรี่: ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด” เมื่อไม่นานมานี้


/data/content/24500/cms/e_efhinopwx168.jpg


          จากสถิติดังกล่าว น่าจะเป็นข้อมูลที่เราทุกคนควรตระหนักให้มากขึ้นว่า ควรแล้วหรือที่จะให้พิษภัยจากการสูบบุหรี่ทำร้ายชีวิต  ทั้งๆ ที่การ “เลิกสูบบุหรี่” เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ และให้คุณประโยชน์กับเรามากกว่า


         เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย หนึ่งกระบวนการสำคัญที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ทุกชีวิตมีสุขภาพดี แต่ยังช่วยให้สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ด้วย ทั้งนี้ งานวิจัยของ ดร.เอเดรียน เทย์เลอร์ ศาสตราจารย์ด้านการออกกำลังกายและสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเอ็กเซ็ตเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้วิเคราะห์รายงาน 12 ฉบับว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างการออกกำลังกายกับการเลิกสูบบุหรี่ พบว่า การออกกำลังกายเพียง 5 นาที ทำให้ผู้ที่ติดบุหรี่อยู่สามารถเอาชนะความอยากบุหรี่ที่เกิดขึ้นได้


/data/content/24500/cms/e_adknpxz24789.jpg


       ด้าน ผศ.ดร. เปรมทิพย์ ทวีรติธรรม รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเสริมว่า สำหรับคนที่อยากเลิกบุหรี่ การหันมาออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ควรทำควบคู่กันไป เนื่องจากการออกกำลังกายประเภท ‘แอโรบิก’ ที่มีความต่อเนื่อง เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ วิ่งทางไกล ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน กระโดดเชือก หรือเต้นแอโรบิก ฯลฯ ทั้งหมดนี้ มีผลวิจัยว่า สามารถช่วยให้คนสูบบุหรี่ สูบน้อยลงจนถึงขั้นเลิกบุหรี่ได้จริง


/data/content/24500/cms/e_cefkmoxz3578.jpg


        “สิ่งสำคัญคือสมรรถภาพปอดของผู้สูบบุหรี่แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ก่อนจะเลือกประเภทการออกกำลังกาย จึงควรจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพของปอดเสียก่อน สำหรับผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว ควรฝึกการหายให้ถูกต้องเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับปอด


        โดยการฝึกหายใจที่ถูกต้องคือ ‘ฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกะบังลม’  โดยหายใจเข้าท่องป่อง หายใจออกท้องแฟบ  เนื่องจากคนที่สูบบุหรี่ กับคนที่เป็นปอดอุดกั้นเรื้อรัง กล้ามเนื้อกะบังลมจะอ่อนแรง การใช้กล้ามเนื้อกะบังลมก็จะไม่ดี การฝึกหายใจจะเข้าไปช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อกะบังลมให้ทำงานได้ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น” ผศ.ดร. เปรมทิพย์ กล่าว


/data/content/24500/cms/e_dhlouwxz2467.jpg


       นอกจากนี้ ผศ.ดร. เปรมทิพย์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุหนึ่งที่คนสูบบุหรี่ ยังไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ นั่นคือความกลัวว่า การเลิกสูบแล้วจะทำให้ ‘อ้วน’ เนื่องจากในควันบุหรี่มีสารที่ชื่อ นิโคติน (Nicotine) ซึ่งเมื่อเข้าสู่สมองจะกระตุ้นให้สมองหลั่ง โดพามีน (Dopamine) หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้ร่างกายลดความเครียด มีความสุขใจ สบายใจขึ้น มีความตื่นตัวมากขึ้น แต่มีผลทำให้ความอยากอาหารลดลง ดังนั้นเมื่อเลิกสูบบุหรี่ ร่างกายจะกระตุ้นให้มีความอยากอาหาร จึงมีแนวโน้มที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วย การออกกำลังกายจึงเป็นวิธีการที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้สูบเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ แต่ยังเป็นวิธีการสำคัญที่ทำให้เราไม่ต้องกังวลกับความอ้วนหลังจากเลิกสูบบุหรี่ด้วย


       เมื่อประโยชน์ของการออกกำลังกายมีมากมายถึงเพียงนี้ วันนี้คุณออกกำลังกายแล้วหรือยัง…


 


 


      เรื่องโดย น.ส.อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th


      ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code