ออกกำลังกายประยุกต์ ผสมภูมิปัญญาท้องถิ่น

รำไม้พลอง-โนราห์บิค ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ

 

 ออกกำลังกายประยุกต์ ผสมภูมิปัญญาท้องถิ่น

          การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่เพื่อลดความจำเจ และเพื่อให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย เพราะร่างกายไม่เอื้ออำนวยต่อการออกกำลังกายที่หนักเกินวัย

 

          ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีแนวคิดอันน่าสนใจเกี่ยวกับการออกกำลังกาย โดยเข้าไปสนับสนุนให้ชาวบ้านในท้องถิ่นห่างไกลร่วมกันดำเนินโครงการ “หมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพ” เพื่อต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า

 

          พร้อมทั้งนำการออกกำลังกายที่ประยุกต์เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นมาจัดแสดงในงานมหกรรมหมู่บ้านเป็นสุข อยู่อย่างพอเพียง มีขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เพิ่งผ่านพ้นมา

 

          เริ่มด้วยหมู่บ้านแสงเจริญ จ.หนองคาย ที่นำไม้พลองมาประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ

 

          หมู่บ้านสวนพลู จ.พังงา ที่นำท่ารำมโนราห์มาประยุกต์ใหม่ เรียกว่า “โนราห์บิค” เป็นวัฒนธรรมของภาคใต้มาประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุ และหมู่บ้านหนองป่าข้าว จ.เชียงใหม่ ที่นำท่าฟ้อนเจิง ศิลปะการต่อสู้ของชาวล้านนา มาประยุกต์และพัฒนาเป็นกระบวนท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเช่นกัน

 

          รวมทั้งนำทำนองเพลงของแต่ละท้องถิ่นมาประกอบจังหวะได้อย่างเหมาะเจาะ ไม่น่าเบื่อ และทำให้ผู้ที่ออกกำลังกายสนุกสนานเพลิดเพลิน

 

          รศ.ดร.วงศา เลาหศิริวงศ์ ผู้จัดการโครงการติดตามสนับสนุนโครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพ ให้ข้อมูลประกอบว่า การรำไม้พลองของผู้สูงอายุ บ้านแสงเจริญ จ.หนองคาย ลักษณะเด่นของการรำไม้พลอง คือ ช่วยรักษาโรคอาการปวดหลังเรื้อรังในผู้สูงอายุได้อย่างดี

 

          โดยดัดแปลงมาจากป้าบุญมี เครือรัตน์ ที่ป่วยด้วยอาการปวดหลังเรื้อรังมานานหลายสิบปี จนมาวันหนึ่งเห็นเศษท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้จึงลองเอาไม้มาแกว่งไปมา และดัดกับลำตัว ปรากฏว่าวันต่อมาอาการปวดหลังดีขึ้นจึงนำมาออกกำลังกายเป็นประจำ จนคิดท่าต่างๆ จนออกมาเป็นท่ารำไม้พลอง อีกทั้งมีทำนองประกอบการออกกำลังกายเป็นเพลงพื้นบ้านอีสานเข้ากับจังหวะได้อย่างสนุกสนาน

 

          สำหรับการออกกำลังกายโดยใช้ไม้พลองที่ถูกต้องมี 3 ขั้นตอน ได้แก่

 

          1. การเตรียมความพร้อมของร่างกายให้อบอุ่น เพลงทำนองจะช้า เพื่อทำให้กายจิตสมดุล เป็นการฝึกสมาธิโดยกำหนดลมหายใจเข้าลึกๆ ประกอบกับท่า

 

          2. ท่าการออกกำลังกายต่างๆ เช่น ท่าเหวี่ยงข้าง พายเรือ หมุนเอว ตาชั่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น เพลงจะเร็วขึ้นเพื่อให้หัวใจทำงานเร็วขึ้น โดยใช้ไม้พลอง 11 ท่าของป้าบุญมีมาประยุกต์ใช้

 

          3. การปรับร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยนำหลักการของจี้กง คือกำหนดลมหายใจเข้าออกลึกๆ อย่างช้าๆ พบว่า ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น โดยผู้สูงอายุในหมู่บ้านจะรวมกลุ่มออกกำลังกายช่วงเช้ามืด ประมาณตี 4 ถึงตี 5 ครึ่งทุกวัน ก่อนจะหุงหาอาหารและไปทำงาน

 

          ส่วนการออกกำลังกาย “โนราห์บิค” จากบ้านสวนพลู จ.พังงา นั้น รศ.ดร.วงศาอธิบายว่า เป็นการนำหลักการเคลื่อนไหวประกอบเสียงดนตรีมโนราห์มาผนวกกับหลักของโยคะ ที่เป็นการฝึกลมหายใจและการยืดกล้ามเนื้อ เอ็น รวมกับท่าหลักของการรำโนราห์มาผสมผสานออกมาในรูปโนราบิค เริ่มต้นจากท่าพื้นฐาน บท ท่า และแปลงเป็นท่าออกกำลังกาย ขั้นต้น ท่าหลัก และพัฒนาปรับปรุงท่าต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มอายุ

 

          โนราห์บิค เป็นนวัตกรรมใหม่ทางด้านการออกกำลังกาย ที่นำศิลปะการแสดงพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้เป็นท่าในการออกกำลังกายได้ถึง 15 ท่า และเป็นการบริหารทุกส่วนของร่างกายอีกด้วยตั้งแต่แขนและขาลงมา บางท่ามีกรีดนิ้วทำให้ช่วยลงปัญหาข้อติดของผู้สูงอายุได้มาก

 

          ชาวบ้านสวนพลูจะออกกำลังโนราห์บิคทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ช่วงบ่ายโมงของทุกวัน บางครั้งเด็กๆ ในหมู่บ้านก็ยังมาร่วมออกกำลังกายด้วย ทั้งถือเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไปในตัว

 

          ส่วนที่บ้านหนองป่าข้าว จ.เชียงใหม่ ที่นำท่าฟ้อนเจิงมา ประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกายประกอบเพลงกับผู้สูงอายุภาคเหนือ มีเอกลักษณ์คือเป็นท่าที่อ่อนช้อยตามแบบฉบับวิถีชีวิตของชาวล้านนา มีความเข้มแข็งแสดงถึงคุณลักษณะของคนฟ้อน

 

          สำหรับคำว่า “เจิง” คือ ชั้นเชิง การออกกำลังกายประเภทนี้จะบริหารทุกส่วนของร่างกาย มี 16 กระบวนท่า อาทิ ท่ายืนไหว้ เป็นการแสดงออกถึงการนอบน้อมถ่อมตน เป็นการไหว้ครูบาอาจารย์ ท่านี้เป็นการบิดตัว บิดเอว ช่วยคลายกล้ามเนื้อของเอว

 

          ท่านั่งไหว้ที่จะได้ประโยชน์ทั้งข้อเท้า เอว และสะท้อนความสามารถในการทำงานของเข่า หรือท่าเกี้ยวเกล้า เป็นท่าการบริหารข้อมือกับแขน

 

          โครงการที่ดีมีประโยชน์เหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริม และขยายไปอีกหลายหมู่บ้านท้องถิ่นต่างๆ ให้ทั่วถึง

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

update 20-04-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code