ออกกฎหมายบุหรี่ปราบ กำราบสิงห์ขี้ยา
บุหรี่ ไม่ว่ายุคใดสมัยไหนก็ยังคงถือว่าเป็นมัจจุราชร้ายที่คอยจ้องคร่าชีวิตของทั้งผู้สูบเองและคนรอบข้างอยู่ทุกขณะ แต่ถึงแม้คนเราจะรู้ถึงพิษภัยของมันมาอย่างไร แต่แนวโน้มการสูบบุหรี่ของคนไทยก็กลับยังคงสูงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มการเสียชีวิตของผู้สูบก็สูงตามไปด้วย ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องก็ตามที…
จากการเปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาของคณะทำงานภาระโรคและการบาดเจ็บที่เกิดจาก พฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงสาธารณสุข พบว่า มีคนไทย 48,244 คน เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในปี 52 เพิ่มขึ้นจากปี 47 ที่เท่ากับ 41,183 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 40,995 คนและเพศหญิง 7,249 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่นี้ 29.45% หรือ 14,204 คน เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี เมื่อเทียบสัดส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กับจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดซึ่งเท่ากับ 415,900 คนของปี 52 จะเท่ากับ 1: 8.6 หรือในทุก 8.6 คนไทยที่เสียชีวิต หนึ่งคนจะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
โดยหากคิดแยกตามเพศ เพศชายสัดส่วนจะเท่ากับ 1 : 5.7 และเพศหญิงเท่ากับ 1 : 2.4 และหากรวมจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ จากการวิเคราะห์ครั้งแรกที่พบว่ามีจำนวน 41,000 คนในปี 36 จนถึงการศึกษาล่าสุดปี 52 เป็นระยะเวลา 16 ปี จะมีคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 640,000 คน นี้ยังไม่นับรวมผู้ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นอาจบ่งบอกได้ว่า “กฎหมายควบคุมบุหรี่” ในประเทศไทยเรายังล้าหลังก็อาจเป็นได้…. เนื่องจากมีการใช้มานานถึง 19 ปี โดยเฉพาะเรื่องการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงการห้ามการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นการโฆษณาและส่งเสริมการขายทางอ้อม
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการวบคุมยาสูบ (ศจย.) ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จึงร่วมกับสำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และ เครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จัดให้มีการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 10 เรื่อง “FCTC เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย รวมทั้งส่งเสริมการทำงานของประชาชน เพื่อผลักดันให้เกินโยบายสาธารณระ ที่จะส่งผลต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ในอนาคต
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ประเทศไทยได้เร่งดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบของคนไทย ให้เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบโลกหรือกฎหมายควบคุมยาสูบโลกขององค์การอนามัยโลก(WHO Framework Convention on Tobacco Control: FCTC) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 48 ที่มีสมาชิกเข้าร่วมมากกว่า 170 ประเทศ ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยเราด้วย ซึ่งเป็นอนุสัญญาฉบับเดียวของโลกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นไม่ให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่ขยายวงออกไปไปกว่านี้
“โดยในข้อตกลงดังกล่าวได้เสนอมาตรการในการควบคุมยาสูบ โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 5 ประเภท คือมาตรการลดอุปสงค์การบริโภคยาสูบ มาตรการด้านอุปทานเพื่อการลดการบริโภคยาสูบ การควบคุมกำกับสารประกอบในผลิตภัณฑ์ยาสูบ มาตรการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่และช่วยให้ผู้เสพติดเลิกใช้ยาสูบ”รองปลัด สธ.
รองปลัด สธ. กล่าวต่ออีกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เราจำเป็นต้องมีแนวทางการป้องกันแก้ไข โดยในปี 54 นี้ ได้มีการกำหนดแนวทางดำเนินการไว้ 5 ประการ เพื่อลดนักสูบรายเก่า ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ได้แก่ 1.ปรับปรุงกฎหมายคือพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และประกาศต่างๆ ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับกฎหมายโลก 2.เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค 3.ให้ความรู้ เรื่องกฎหมายและการเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ สถานบริการ และประชาชนทั่วไป โดยเน้นหนักในสถานศึกษาและสถานบริการ 4.ผลักดันให้เกิดบริการเลิกบุหรี่ในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ และ5.พัฒนาชุมชนปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกภาค
“แต่ทั้งหมดนี้จะสำเร็จไปไม่ได้หากขาดการร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราต้องร่วมมือกันเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมทีปลอดบุหรี่เสียที” รองปลัดกล่าวทิ้งท้าย
ไม่ว่าแนวทางแก้ไขจะสำเร็จหรือไม่ กฎหมายจะได้รับการแก้ไขให้ทันสมัยขึ้นหรือเปล่า นั้นไม่สำคัญ เราทุกคนต้องช่วยกัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะเอาจริงเอาจังกับการจัดการกับฆาตกรอย่างเจ้าบุหรี่ตัวร้าย ที่ทำลายทั้งผู้สูบและคนรอบข้างอย่างไม่ปราณี หากปล่อยทิ้งไว้ คุณอาจเสียคนที่คุณรักไปโดยไม่ทันตั้งตัวนะคะ
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th