อสม.ปทุมธานี ชูนวัตกรรมช่วยเลิกบุหรี่
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ และแฟ้มภาพ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งสำคัญในการเลิกบุหรี่ คือจิตใจที่เข้มแข็งของผู้ที่จะเลิกเป็นหลัก แต่ในหลายกรณีพบว่า หากผู้ที่ต้องการเลิกมีจิตใจแน่วแน่ และได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ จะทำให้เลิกได้เร็วและถาวรมากขึ้น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความพยายามเข้ามาร่วมสนับสนุนและรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีต่าง ๆ เพื่อดำเนินการชวนและช่วยเลิกบุหรี่ โดยมุ่งหวังให้คนเลิกสูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด ผ่านกลไกสำคัญ อย่าง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. เป็นแกนกลางสำคัญในการสนับสนุนให้ อสม. ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ได้ พร้อมกับการนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วย ล่าสุดได้ร่วมมือกับ อสม. ตำบลบ้านใหม่ จังหวัดปทุมธานี คิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยเลิกบุหรี่
นางอำนวย สุทัตโต ประธาน อสม. ตำบลบ้านใหม่ จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “แรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ คือ อยากใช้ประสบการณ์ที่มีมาชวนช่วยให้คนในชุมชนเลิกบุหรี่ แต่การทำงานในช่วงแรกก็พบปัญหา เพราะคนที่สูบบุหรี่มานานไม่พร้อมจะเลิกและต่อต้าน จึงหารือร่วมกับ แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.บ้านใหม่ และ อสม.ในพื้นที่ ได้ข้อสรุปตรงกันว่า ต้นแบบในการลด ละ เลิกบุหรี่ ก็คือ อสม. เพราะใกล้ชิดคนในชุมชน อีกทั้งถ้า อสม.และครอบครัวเลิกบุหรี่ได้ คนในชุมชนก็จะใช้เป็นต้นแบบในการเลิกบุหรี่เช่นกัน จากนั้นจึงประชุมร่วมกันเพื่อคิดค้นหาแนวทางและนวัตกรรมในการช่วยเลิกบุหรี่ ประกอบด้วย
โครงการกระดาษแผ่นเดียว เป็นกิจกรรมเชิญชวนให้เขียนข้อความสั้นสร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ โดยให้คนในครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่ คิดสโลแกนที่โดนใจขึ้นมา และมีป้ายห้ามสูบบุหรี่ พร้อมรูปที่มีผลต่อจิตใจ เพื่อให้สะท้อนไปที่จิตใต้สำนึกว่าคนในครอบครัวจะได้รับโทษจากควันบุหรี่ที่สูบด้วย ซึ่งการทำงานของ อสม.จะไม่เข้าไปที่ตัวผู้สูบบุหรี่โดยตรง เพื่อป้องกันการถูกต่อต้าน แต่จะเข้าทางญาติพี่น้อง สามี หรือ ภรรยา เพื่อที่จะให้ดึงให้เข้ามาร่วมโครงการ ต่อมาคือการแนะนำให้รับประทาน พืชผักสุมนไพร ผลไม้ในครัวเรือน อาทิ ผลไม้รสเปรี้ยว ที่หาง่ายในครัวเรือน เพื่อลดความอยากสูบบุหรี่ลงได้ เช่น มะนาวฝานบาง ๆ พร้อมเปลือก เพราะเปลือกจะทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป ลิ้นจะชา ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ และ ใบชาหญ้าดอกขาว มีสรรพคุณในการช่วยเลิกบุหรี่ ทำให้รู้สึกชาลิ้นหรือลิ้นฝาด ไม่รับรู้รสชาติ ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่ เหม็นกลิ่นบุหรี่ รวมถึงยังได้คิดค้นนวัตกรรใหม่ ลูกอมหญ้าดอกขาว ที่ทำจากหญ้าดอกขาวที่มีให้หมู่บ้าน เพื่อใช้สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ อมแล้วจะลดความอยากสูบบุหรี่ลงได้ ซึ่งลูกอมนี้จะให้กับกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น
นอกจากนี้ ทางกลุ่ม อสม. ยังได้ประดิษฐ์ หน้ากากอนามัย เพื่อคนที่คุณรัก ซึ่งเป็นหน้ากากอนามัยติดโลโก้ห้ามสูบบุหรี่ เป็นสัญลักษณ์ป้องกันควันบุหรี่ โดยจะแนะนำให้เด็กใช้ปิดปาก เวลาที่พ่อแม่สูบบุหรี่ เพื่อกระตุ้นจิตใต้สำนึกว่า บุหรี่เป็นโทษต่อครอบครัว และสุดท้าย คือ หมวก เป็นเสมือนการประเมินผลการทำงานของ อสม.ว่าประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยจะให้กับบุคคลที่เข้าร่วมโครงการและประสบผลสำเร็จ ใส่แล้วจะเหมือนเป็นการประกาศว่าเลิกบุหรี่ได้แล้ว และยังเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้หันกลับไปสูบบุหรี่อีก
“แนวทางและนวัตกรรมทั้งหมด ใช้งบประมาณไม่มาก เพราะเป็นของที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และยังยึดหลักว่า ถ้าประสบผลสำเร็จเดี๋ยวหน่วยงานในพื้นที่หรือใกล้เคียงก็จะเห็นความสำคัญของเราตรงนี้ และก็จะได้รับงบสนับสนุน เพราะหลักคิดของ อสม.บ้านใหม่ คือ เป็นต้นแบบ ทำให้ประสบผลสำเร็จ แล้วเดี๋ยวโครงการต่าง ๆ งบประมาณก็จะมาให้เราเอง”
นางอำนวย กล่าวต่อว่า “ได้ขยายผลการดำเนินงานเข้าไปในหน่วยทหาร ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบกเพราะเป็นหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งผลการตอบรับถือว่าน่าพอใจ มีทหารเข้าร่วมโครงการค่อนข้างมาก”
ด้าน นางนวลอนงค์ หุ่นบัวทอง พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ รักษาการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบ้านใหม่ จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “ผู้ที่สูบบุหรี่ในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงาน ส่วนเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ก็จะมีครูช่วยเฝ้าระวังให้ ซึ่งการทำงานของ รพ.สต.บ้านใหม่ จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนแรกทำงานประสานกับ อสม.ในการลงชุมชน ส่วนที่สอง เป็นการดำเนินงานช่วยเลิกบุหรี่ ผ่านคลินิกเลิกบุหรี่ที่จะเปิดทุกวัน มีหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยและสังเกตกลุ่มเสี่ยง จากนั้นก็จะชักชวนเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ โดยจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากพบว่าประชาชนยังไม่สนใจก็จะใช้วิธีการขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ก่อน จากนั้นจะเริ่มพูดคุยหรือเข้าไปเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามผล
“การที่เรามี อสม. เข้าไปในพื้นที่ทำงานเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนที่อยากเลิกส่วนใหญ่อยู่ในชุมชน และยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องคุยกับใครเพื่อให้เลิกบุหรี่ได้ ดังนั้นการมี อสม. เป็นตัวสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนมาปรึกษาพึ่งพาได้ ตรงนี้ก็จะช่วยให้กลุ่มคนที่อยากเลิก เลิกได้ง่ายขึ้น ส่วนคนที่ไม่ได้คิดจะเลิก ก็เริ่มจะรู้สึกอยากเลิก เพราะการทำงานของ อสม. มีส่วนช่วยให้เขาสามารถเลิกได้ง่ายขึ้นกว่าเลิกเอง”
ร.ต.สุวิทย์ หิรัญพฤกษ์ นายทหารชำนาญงาน (ผู้ที่เลิกบุหรี่สำเร็จ) ระบุว่า สูบบุหรี่มากว่า 10 ปี เหตุผลที่ตัดสินใจเลิก คือ มีปัญหาสุขภาพ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยหอบง่าย และในสังคมก็ไม่ค่อยมีคนสูบบุหรี่กัน จึงมาพูดคุยกับ อสม.และได้รับคำแนะนำวิธีการเลิก แม้ช่วงแรกที่ค่อย ๆ ลด จะมีหงุดหงิดบ้าง แต่ใช้วิธีรับประทานของเปรี้ยวแทน และหลังจากเลิกได้ ก็ได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี ร่างกายแข็งแรงขึ้น ที่สำคัญประหยัดเงิน
“ยอมรับว่าการสูบบุหรี่ เลิกยากมาก เลิกยากยิ่งกว่าเหล้าอีก แต่ผมก็สามารถหักด้ามเลย คือร่างกายเราไม่ดีแล้ว มีอาการหอบเหนื่อย ทำงานก็เหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน จึงตัดสินใจลดมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็เลิกได้”
ทั้งนี้ ข้อมูลเวปไซต์ quiteforking และระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี พบว่า ในปี 2561 มีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการและสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 6 เดือน จำนวน 2,532 คน และในปี 2562 มีผู้ได้รับการบำบัด จำนวน 31,784 คน และสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 6 เดือน จำนวน 1,046 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2562)