อย.แนะจับพิรุธสินค้าปลอม

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ


อย.แนะจับพิรุธสินค้าปลอม thaihealth


แฟ้มภาพ


อย.แนะแก้ปัญหาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ตรงจุด เร่งสร้างความรู้ให้ผู้บริโภค พร้อมความร่วมมือทั้งผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และดารานักแสดง พร้อมไอเดียตั้งกองทุนใช้สำหรับตรวจสินค้าผิดกฎหมาย


ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมาย ที่ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาแบบถูกจุดและไม่ใช่การแก้ไขปัญหาปลายเหตุนั้น ควรจะหันกลับมาส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ ไม่เชื่อถือการโฆษณาหรือบุคคลที่มารีวิวสินค้า ซึ่งหากจะดูแลสุขภาพของตนเองควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากได้ใช้ระยะเวลาการศึกษามานานและมีความรู้ที่แท้จริงมากกว่า เพราะแม้ว่าจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาควบคุม เชื่อว่าผู้ที่ต้องการกระทำความผิดจะสามารถหาช่องทางในการกระทำผิดได้เสมอ


"ต้องถามว่าเรากำลังแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดไหม เพราะการสุ่มตรวจสินค้าเพื่อสินค้าที่ทำผิด ได้หมดต้องมีเงินมาซัพพอร์ต ต้องเพิ่มงบประมาณเท่าไรต้องสุ่มตรวจหมด ปัจจุบันอย. มีบุคลากรที่จำกัด รวมถึงงบประมาณที่ได้รับแต่ละปีประมาณ 800 ล้านบาท กรณีการตรวจหายาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้ จะต้องใช้เงินในการตรวจรายการละ 9,000 บาท งบประมาณที่อย.ได้ไม่เพียงพอ แนวทางที่เคยมีการพูดคุยกัน คือการตั้งกองทุนขึ้นมา โดยให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตสินค้าใส่เงินเข้ามา และเมื่อจะตรวจหาสารต่างๆ ก็นำเงินกองทุนส่วนกลางมาใช้ แต่ยังไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจอย. ในการจัดตั้งกองทุน คงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย"


ขณะเดียวกันอย. ยังประสบปัญหาด้านบุคลากรที่มีปริมาณจำกัด จึงทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายควรใช้กับผู้ที่จงใจกระทำความผิดอย่างแท้จริง แต่แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด คือ การร่วมมือกันในหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่จะต้องมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สื่อมวลชนจะต้องไม่เผยแพร่หรือรับโฆษณาสินค้าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงดารา นักแสดงจะต้องรู้เท่าทันผู้ที่กระทำความผิดด้วย และที่สำคัญผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร


อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น โดยเฉพาะการโฆษณาสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการตรวจเว็บไซต์ที่มีการโฆษณาสินค้าผิดกฎหมายที่ได้ร่วมกับผู้ประกอบการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตจำนวน 20 ราย เพื่อระงับเว็บไซต์ที่พบว่ามีการกระทำความผิด ซึ่งอย.ได้เริ่มส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 6 คนมาร่วมทำงานกับกสทช. ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากก่อนหน้าที่ส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 6 คน มาตรวจสอบโฆษณาผิดกฎหมายที่เผยแพร่ผ่านช่องทางทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และวิทยุชุมชน

Shares:
QR Code :
QR Code