อย.เข้มโรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยว

อย.ออกมาตรการ กำกับดูแลโรงงานก๋วยเตี๋ยวผลิตตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี เพื่อผลักดันให้เป็นโรงงานต้นแบบ หากฝ่าฝืนกฎหมายพร้อมดำเนินการขั้นเด็ดขาด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ แนะผู้บริโภคที่จะซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวมาทำอาหารเอง ควรเลือกซื้อเส้นแห้ง และเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีฉลากปลอดภัยที่สุด

นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย คุ้มค่า และสมประโยชน์ กรณีเส้นก๋วยเตี๋ยวซึ่งเป็นอาหารที่ผู้บริโภคนิยมบริโภคและมีผู้ประกอบการ 160 ราย ซึ่งอันตรายที่อาจพบในเส้นก๋วยเตี๋ยว อาทิ วัตถุเจือปนอาหารประเภทวัตถุกันเสีย หรือสารกันบูด ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งน้ำมันทาเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีสารโพลาร์เกินมาตรฐาน ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคก๋วยเตี๋ยว

ทั้งนี้ อย.กำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อกำกับดูแลหลายมาตรการ เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร, สารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ฉลาก และภาชนะบรรจุ รวมทั้งได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดวิธีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร หรือจีเอ็มพี (gmp) โดยมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2554

ส่วนมาตรการทางกฎหมายร่วมด้วยโดยห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีฝ่าฝืน อย.จะดำเนินคดีตามกฎหมายจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีโรงงานผลิตก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ที่ทำจากเส้นแป้งข้าวเจ้าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน จีเอ็มพี มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีฉลากไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และเรื่องของคุณภาพเส้นก๋วยเตี๋ยว หากตรวจพบวัตถุกันเสียเกินมาตรฐานมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

“ควรเลือกเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และสังเกตฉลากที่ระบุ ชื่อผลิตภัณฑ์นอกจากนี้ ควรซื้อเส้นเห้งมาบริโภคเนื่องจากสามารถเก็บได้นาน กรณีซื้อเส้นสดมาเพื่อบริโภคไม่ควรเก็บไว้นาน” 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code