อย่าวางใจ“โรคใกล้ตัว”อันตรายถึงชีวิต


 


“โรคภัยไข้เจ็บ” เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ไม่ปรารถนา เพราะเวลาที่เป็นแล้วจะเสียทั้งเวลา เสียทั้งเงินทองในการรักษา บางโรคอันตรายถึงกับชีวิตเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะโรคที่อุบัติขึ้นใหม่ๆ ที่เป็นข่าวคราวใหญ่โต แต่ก็ก็ต้องพึงระวังโรคทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในประชากรกลุ่มหนึ่ง หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคประจำถิ่น” เพราะนั่นก็อันตรายไม่แพ้กัน


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวกับเราว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีอากาศที่หนาวเย็นลง บางพื้นที่ถึงกับเย็นมาก ประชาชนทุกคนจึงควรระมัดระวังในเรื่องของสุขภาพให้มาก เพราะมีโรคประจำในช่วงนี้ที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายโรค เริ่มจาก


โรคไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจ เชื้ออาจจะลามเข้าปอดทำให้เกิดปอดบวมได้อีก ซึ่งอาการที่พบคือ มีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดตามตัวปวดกล้ามเนื้อมาก จะพบมากทุกอายุ โดยเฉพาะในเด็กจะพบมากเป็นพิเศษ แต่อัตราการเสียชีวิตมักจะพบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะหายเอง หากมีอาการไม่มากอาจจะดูแลเองที่บ้าน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยด่วน


โรคปอดบวมคือภาวะปอดซึ่งเกิดการอักเสบ เมื่อเป็นปอดบวม จะมีหนอง และสารน้ำอย่างอื่นในถุงลม ทำให้ร่างกายขาด oxygen และอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยมีอาการน้ำมูกไหล จาม คัดจมูกนำมาก่อน บางรายอาจจะเริ่มด้วยไข้สูง หนาวสั่น หายใจหอบเหนื่อย อาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกตำแหน่งที่เจ็บมักตรงกับบริเวณที่อักเสบ อาการไอ ในระยะแรกมีลักษณะไอแห้งๆ แต่ระยะต่อมาจะมีจำนวนเสมหะเพิ่มมากขึ้น เสมหะเหนียว ทางที่ดีควรพบแพทย์น่าจะดีที่สุด


โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น พบบ่อยในเด็กเล็ก นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้ อาการเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ผื่นที่ระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดงด้วย


โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการไข้และผื่นทั่วตัว ในเด็กส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่เป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะถ้าสตรีมีครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3-4 เดือนแรก เชื้อไวรัสจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการทางหู ตา หัวใจ และสมอง โรคหัดเยอรมัน


โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยมีอาการที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยจะมีตุ่มขึ้นทั่วไปตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและลำคอ ในระยะแรกจะขึ้นเป็นผื่อคัน ตุ่มแดง ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มใส และค่อยๆ เป็นตุ่มหนอง จากนั้นจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หลุดกลายเป็นจุดด่างดำหรือรอยแผลเป็นได้ โดยทั่วไปอาการของโรคอีสุกอีใสจะไม่รุนแรง เป็นเองหายเองได้ แต่จะพบมีอาการแทรกซ้อนจากแบคทีเรียได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังทำให้กลายเป็นหนองและจะมีแผลเป็นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบหน้า ปอดบวม สมองอักเสบ และเยื่อสมองอักเสบนอกจากนี้ในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว จำเป็นต้องดูแลรักษาตามอาการไข้และอาการทางผิวหนัง โดยให้ยาลดไข้ ทำความสะอาดผิวหนังและให้ยาทาแก้คัน นอกจากนี้อาจมีอาการให้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญของ เชื้อไวรัสร่วมด้วย ทางที่ดีผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของแพทย์


สุดท้าย โรคอุจาระร่วง เกิดจากเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป อาการป่วยที่เรียกว่าโรคอุจจาระร่วงนั้น คือ การถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 3 ครั้ง ต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกปนเลือด แม้เพียง 1 ครั้งต่อวัน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วร่างกายจะสูญเสียน้ำ และเกลือแร ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะช๊อค หมดสติ เนื่องจากเสียน้ำ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นรวดเร็ว สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจถึงแก่ความตาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที


รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า โรคที่กล่าวมานี้ดูเหมือนจะเป็นโรคปกติที่ใครๆ อาจมองข้าม แต่ทั้งหมดนี้หากมีอาการรุนแรงอาจถึงแก่ชิวตได้ทั้งสิ้น โดยกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งจะมี 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคทางเดินหายใจ จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้


 “โรคภัยไข้เจ็บมันสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ทางที่ดีเราทุกคนจำเป็นต้องป้องกันด้วยการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ร่างกายอย่างการออกกำลังกายอยู่เสมอ และเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายด้วยการรับประทานอาหารจำพวกแป้ง แต่ก็ควรระมัดระวังสักนิด อย่ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไปเพราะอาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้ อีกทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ก็ไม่ควรรับประทาน และพยายามหลีกเลี่ยงในที่ที่มีคนอยู่มาก รวมถึงการเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายด้วยการใส่เสื้อผ้าหนาๆ มิดชิด”รองอธิบดีฯ กล่าว


รองอธิบดีฯ กล่าวอีกว่า ในหน้าหนาวเช่นนี้สิ่งที่ไม่ควรทำ คือการดื่มสุรา หลายคนเข้าใจผิดว่าการดื่มสุราจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ที่ผ่านมาจากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวจริงๆ เพียง 2 รายเท่านั้น ที่เหลือมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ รวมถึงจากการดื่มเหล้าด้วย อีกทั้งการก่อกองไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นก็จำเป็นต้องเลือกสถานที่ โดยเฉพาะในที่อับไม่ควรก่อกองไฟเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ออกซิเจนเหลือน้อยอาจถึงแก่ชิวิดได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจยิ่งเสี่ยงกว่าบุคคลอื่นๆ


“นอกจากนี้ ขอเตือนผู้ที่ชอบซื้อเสื้อกันหนาวมือสองมาสวมใส่ ควรระมัดระวังในเรื่องของการติดเชื้อ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรซักให้สะอาดและตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค”รองอธิบดีกล่าว


เห็นแล้วว่า ไม่ว่าโรคใดๆ ก็ต้องระวังด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะโรคอุบัติใหม่หรือโรคเก่าๆ เพราะถ้าประมาทก็เสี่ยงต่อชีวิตได้ด้วยกันทั้งสิ้น ทางที่ดีเราควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดังคำที่ว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”


 


 


เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th


 

Shares:
QR Code :
QR Code