“อย่าละเมิดสิทธิหนู” เสียงร้องจากเด็ก-เยาวชน

“อย่าละเมิดสิทธิหนู” เสียงร้องจากเด็ก-เยาวชน 

            การละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนมีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย แถมนับวันก็มักจะมีรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะแม้แต่คนรอบข้างก็ยัง ไว้ใจไม่ได้ ข่าวแล้วข่าวเล่าที่ปรากฏผ่านสื่อ สร้างความสลดให้กับสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีใครทราบว่าที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวนั้นมีอีกมากน้อยเท่าไร แล้วแต่ละภาคในประเทศไทยประสบปัญหาแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ทำให้มีคำถามว่าเราจะมีแนวทางในการช่วยเหลือและป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่

 

             การทำความเข้าใจกับปัญหาดังกล่าว จำเป็นที่สังคมควรเข้าใจถึงความสำคัญของการละเมิดสิทธิเด็ก โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศนั้นก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก และมีผลต่อเนื่องถึงครอบครัวและสังคม นำไปสู่วงจรอุบาทว์ของปัญหาสังคมที่ไม่สิ้นสุด

 

            ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดประชุมประชาพิจารณ์ร่างรายงานเรื่องสิทธิเด็กฉบับเด็ก ในหัวข้อเรื่อง “การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการป้องกันการละเมิด” เพื่อจัดทำเป็นรายงานนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ตามกรอบการดำเนินงานของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยมีคณะทำงานด้านเด็ก สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย

 

             ซึ่งว่าที่ร้อยตรีศรันย์ สมานพันธ์ รองผู้อำนวยการ สท. ได้ออกมาบอกว่า ร่างรายงานเรื่องสิทธิเด็กฉบับเด็กเป็นการระดมความคิดเห็นจากเวทีสิทธิเด็กทั้งระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ สรุปสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน ผลกระทบและข้อเสนอแนะในการแก้ไขออกเป็น 10 ปัญหา ประกอบด้วย การถูกละเมิดทางเพศ ความรุนแรง การศึกษา ยาเสพติด การใช้แรงงาน การปิดกั้นทางความคิด สื่อ เด็กไร้สัญชาติ ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ และการละเมิดทางวาจา

 

             เป็นข่าวดีที่หลังจากผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ครั้งนี้แล้ว สท.จะจัดแปลรายงานเรื่องสิทธิเด็กฉบับเด็กเป็นภาษาอังกฤษใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน จากนั้นผู้แทนเด็กและเยาวชนจะเป็นผู้มอบรายงานให้แก่กระทรวงการต่างประเทศเพื่อส่งมอบต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งจะช่วยพัฒนาเรื่องสิทธิเด็กของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากลต่อไป

 

แล้วปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในแต่ละภาคเป็นอย่างไร

 

             เริ่มต้นที่ภาคเหนือโดยมีนายณัฐกมล ตุ้มแปง คณะทำงานที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชน จ.พะเยา เล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนจากข้อมูลของสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) พะเยา ปี 2551 พบว่า เด็กพะเยาติดเชื้อเอชไอวีเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย และเป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ เป็นปัญหาที่

น่าห่วงอย่างยิ่ง และสถิติในปี 2550 พบเด็กพะเยาที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมีอายุเพียง 11 ปีเท่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุที่น้อยลง ส่งผลให้เด็กต้องออกจากการเรียนกลางคัน เกิดปัญหาสังคมมากมาย การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษานั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่สังคมยังมองเรื่องดังกล่าวเป็นการส่งเสริมเรื่องการมีเพศ

ทั้งที่เป็นเรื่องของสุขภาวะทางเพศที่ต้องดูแลในทุกช่วงวัย

 

             ทั้งนี้นายวัลลภ แก้วพนม คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชน จ.เพชรบูรณ์ ตัวแทนจากภาคเหนือตอนล่างได้บอกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาเรื่องสื่อว่า สื่ออยู่กับเด็กตลอด 24 ชั่วโมงและมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ของเด็ก โดยเฉพาะสื่อที่ไม่เหมาะสมที่แอบแฝงในโฆษณา สื่อออนไลน์ เยาวชนต้องใช้วิจารณญาณในการรับสื่อ และรณรงค์การผลิตสื่อสร้างสรรค์

 

            ส่วนปัญหาในภาคอีสานนางสาวผัสชา พาชื่น ประชาสัมพันธ์สภาเด็กและเยาวชน จ.สุรินทร์ เล่าว่า ปัจจุบันพบปัญหาเกี่ยวกับการศึกษามักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอนและสาธารณูปโภคไม่เพียงต่อผู้เรียน ขณะเดียวกันพบปัญหาจากตัวครูที่มีการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก มีการใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น เด็กอยากเพิ่มเกรดต้องทำงานให้ครูหรือมีเพศสัมพันธ์ ตัวอย่างใกล้ตัวที่ตนทราบจากบิดา พบเจอเหตุการณ์ครูชายโรงเรียนมัธยมบางแห่งใน จ.สุรินทร์ บังคับมีเพศสัมพันธ์กับเด็กผู้ชาย หรือแม้แต่ครูผู้หญิงกับเด็กผู้หญิงก็เคยรับทราบข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหรือการบอกเล่าจากเพื่อนๆ  ลักษณะการใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแม้จะไม่ปรากฏจำนวนว่ามีมาก แต่รูปแบบที่เกิดขึ้นน่าวิตกอย่างยิ่ง เรื่องนี้อยู่ที่จรรยาบรรณครูผู้สอนที่ต้องเข้มงวด ขณะที่เด็กผู้ถูกกระทำต้องหาช่องทางป้องกันและฟ้องร้องผู้ใหญ่

 

             นายอำนาจ เสียงสวัสดิ์ รองประธานสภาเด็กและยาวชน จ.นครสวรรค์ ตัวแทนจากภาคกลาง บอกว่า ความยากจนทำให้เด็กต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหารายได้ด้วยอายุที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เป็นโอกาสให้ผู้ใหญ่แสวงหาผลประโยชน์ หรือเกิดการมั่วสุม จึงอยากเสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนส่งเสริมอาชีพให้เด็กที่เหมาะสม ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมนายจ้าง สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนายจ้างและลูกจ้างเรื่องแรงงานเด็ก และส่งเสริมให้เด็กมีรายได้ช่วงปิดภาคเรียน

 

             ปิดท้ายที่ภาคใต้ซึ่งนายสอลาหุดดีน ใบหาด กรรมการสภาเด็กและเยาวชน จ.สตูล บอกว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็ก การบิดเบือนคำสอน การว่างงานที่ทำให้ถูกชักจูงไปกระทำผิดได้ง่าย จึงอยากให้ภาครัฐและเอกชนเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างเด็ดขาด ให้การศึกษาอย่างทั่วถึง สร้างครอบครัวและชุมชนให้เข้มแข็ง ปลูกฝังคำสอนทางศาสนาที่ถูกต้อง และรัฐบาลต้องสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่

 

             ต่อไปอนาคตของเด็กและเยาวชนจะเป็นอย่างไร คำตอบนั้นย่อมอยู่ที่ ความรับผิดชอบของสังคมและคนรอบข้าง แน่นอนว่าการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดีกว่าการปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ไข แต่หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะเอาจริงเอาจังออกมาใช้ รวมทั้งหลายๆ ฝ่าย หลายๆ องค์กรพยายามช่วยรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา การมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มแข็งน่าจะช่วยป้องกันปัญหาในระยะยาวได้อย่างแน่นอน

 

             …..อย่าละเมิดสิทธิหนู…. เสียงเรียกร้องที่ยังคงรอคอยความหวังจากสังคมอยู่ ซึ่งหากวันนั้นมีอยู่จริงเราคงจะได้เห็นแววตาและรอยยิ้มจากเด็กเหล่านี้อีกครั้ง….        

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

 

 

 

Update 19-05-52

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด   

Shares:
QR Code :
QR Code