อย่ามองข้าม ‘ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ’

แนะพักผ่อนไม่เครียด ออกกำลังกายประจำ

 

 อย่ามองข้าม ‘ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ’

            จากการที่สหพันธ์หัวใจโลก ได้กำหนดให้วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายนเป็น “วันหัวใจโลก” เพื่อให้ประชากรโลกตระหนักถึงภยันตรายจากโรคหัวใจ หลายหน่วยงานจึงออกมาขานรับที่จะช่วยกันให้ความรู้เรื่องโรคหัวใจ และ “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ถือเป็นอีกหนึ่งโรคหัวใจที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เมื่อใดที่เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าหรือเร็วมากเกินไป หรือเรียกว่า “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ”   ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและหาแนวทางรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว

 

            ศ.นพ.เกียรติชัย ภูริปัญโญ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี เผยถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะไว้อย่างน่าสนใจว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อย ส่วนมากพบในผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น หรือเต้นสะดุด บางครั้งมีอาการเหมือนหัวใจหยุดเดินไป 1-2 จังหวะ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการเป็นลมหมดสติและเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

 

            ส่วนการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้หลายวิธี ด้วยวิธีทางการแพทย์ เช่น การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ชนิด ct 64 slice และ cardiac mri รวมทั้งการฉีดสีผ่านสายสวนหัวใจ เป็นต้น

 

            ส่วนการรักษานั้นต้องวินิจฉัยอย่างรอบคอบและรักษาให้ตรงจุด เช่น กรณีที่การเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ ควรรักษาด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) เป็นเครื่องมือขนาด 4 – 5 เซนติเมตร ที่ช่วยส่งพลังงานไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ

 

            ในขณะที่การรักษาผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง ที่ให้ผลดีที่สุดคือการส่งไฟฟ้าพลังงานสูงผ่านหัวใจ เพื่อให้สัญญาณไฟฟ้าหัวใจกลับมาปกติในทันที ซึ่งก็มีเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ชนิดผ่าตัดฝังติดตัวผู้ป่วย ลักษณะคล้ายเครื่อง  pacemaker แต่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เท่า

 

            นอกจากนี้ ยังมีวิธีการจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง วิธีนี้เป็นการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด  โดยผ่านสายสวนหัวใจชนิดพิเศษที่มีขั้วโลหะที่ส่วนปลาย

 

            ศ.นพ.เกียรติชัยยังแนะนำผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยว่า ควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ แอลกอฮอล์ หรือยากระตุ้นบางชนิดที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนรับประทานยา เพื่อไม่ให้จังหวะหัวใจของคุณสะดุดลงก่อนวัยอันควร

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

update 30-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ตาพร่า-ปวดศีรษะ-ชาครึ่งซีก เสี่ยง หลอดเลือดสมองตีบ

เจ็บหน้าอกอาการที่รอช้าไม่ได้

หายใจขัด-แน่นหน้าอกฉับพลันอย่านอนใจ

แนะผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรออกกำลังหลังผ่าตัด

อัมพฤกษ์-อัมพาต โรคเรื้อรังที่ต้องดูแล

กินปลาทูป้องกัน “โรคหัวใจ”

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code