อย่าปล่อยให้ลูกอยู่กับ ‘สื่อ’ ตามลำพัง

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


อย่าปล่อยให้ลูกอยู่กับ 'สื่อ' ตามลำพัง thaihealth


แฟ้มภาพ


"จริงๆ พ่อแม่สำคัญมากเพราะเป็นคนหยิบยื่นอุปกรณ์มือถือให้ลูก แต่เรารู้ยุคสมัยนี้ มันต้องเข้าถึงอยู่แล้วเทคโนโลยีดิจิทัล ตามสังคมโลก มันต้องไป"


"ปลดกระดุมสองเม็ดได้ 3,000 ไลค์ ถ้าถอดเสื้อได้ 10,000 ไลค์นะ"เลี้ยงลูกยุคดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย  ทุกวันนี้ มีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่บ้าน


จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2560 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พบคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่าวันละ 6 ชั่วโมง นับว่า เป็นสถิติที่สูงไม่น้อย


ถึงสื่ออินเทอร์เน็ตจะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ก็มีหลายข้อที่น่ากังวลเช่นกัน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายงานวิจัยทั่วโลกล้วนตอกย้ำว่าเด็กที่อยู่กับสื่อมากๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสติปัญญาและวุฒิภาวะทางอารมณ์


วารสารด้านสื่อต่างประเทศฉบับหนึ่งยังชี้ว่า เด็กวัย 8-11 ปี ที่ดูสื่อโฆษณาทางทีวีเป็นประจำมักมีความพอใจในชีวิตที่ต่ำกว่าและมีความเป็นวัตถุนิยมสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้ ดูทีวีเป็นประจำ


เมื่อก่อนพ่อแม่ต้องกังวลเรื่อง สื่อโทรทัศน์จะส่งผลกระทบต่อลูกๆ แต่วันนี้ "อินเทอร์เน็ต" กำลังเป็นโจทย์ใหม่ ที่ทั้งมาไวและปัญหากำลังเริ่ม "ใหญ่" มาก เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ต เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 35.9  (ในปี พ.ศ. 2553) กระโดดมาเป็นร้อยละ 61.4 ในปี 2559 โดยในกลุ่มเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 51.6 มีการใช้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และร้อยละ 47.4 ใช้ทุกวัน


ภัยใกล้ตัว


การเติบโตที่รวดเร็วของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในมือถือ ตามมาติดๆ กับความรวดเร็วของการรับสื่อ จึงทำให้ยากที่จะ คัดกรองหรือแยกแยะสื่อสร้างสรรค์และ สื่อที่ไม่เหมาะสมออกจากกันได้ ดังนั้นการปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อ ตามลำพัง อาจเปรียบเสมือนปล่อยให้ ลูกหลานอยู่กับคนแปลกหน้าตลอดเวลา


จะเห็นจากข่าวล่อลวงผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศปรากฏให้เห็นและเริ่มทวีความรุนแรงมาก เช่นกรณีล่าสุดที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่อง  9 ศพในประเทศญี่ปุ่น ก็พบว่าเกิดจาก การรู้จักและชักชวนนัดพบกันผ่านทางออนไลน์ หรือหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Cyberbullying ที่อาจพอจำกัดความได้ว่า เป็นการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์กำลังเป็นอีกผลิตผลจากสื่ออินเทอร์เน็ต ที่กำลังเป็นปัญหาซึมลึกส่งผลต่อปัญหาสังคมทั่วโลก ในเวลานี้


เห็นแต่หน้า ไม่รู้ใจ


"จริงๆ การโพสต์ภาพลามกเด็ก  ไม่ใช่มองแค่สื่อลามกนะ แต่เป็นเรื่องของอาชญากรรม ในประเทศไทยปัจจุบันยังมี การแก้กฎหมายแยกออกเป็น มาตรา 287 ว่า หากผู้ใดครอบครองภาพลามก อนาจารเด็ก จะต้องมีความผิดด้วย ในต่างประเทศ ก็เช่นกันมองว่าการครอบครองภาพเด็กลามก เป็นอาชญากรรม"


ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ ผู้ก่อตั้งบริการสายด่วนอินเทอร์เน็ตไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) เล่าต่อว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ถูกละเมิดเป็นระดับประถม อย่างข้อมูลในต่างประเทศบางทีมีระดับ เด็กทารก


"ซึ่งเรื่องภาพลามกเด็กและเยาวชน มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเรามีการทำงานกับ เครือข่ายต่างประเทศ ปีหนึ่งๆ เขารวบรวมสถิติผู้แจ้งจากประเทศมีสมาชิกทั่วโลก ก็มีประมาณเป็นแสนการรายงาน


ส่วนคนไทยพ่อแม่ยังไม่ได้ตื่นตัวมาก บางทีพ่อแม่ก็ไม่รู้ มารู้อีกทีก็สายแล้ว  ที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยมีคนที่เป็นพ่อแม่มาแจ้ง แต่คนที่เห็นคือผู้ที่มาแจ้ง ซึ่งสถิติที่แจ้งมาในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีภาพลามกเด็กที่มีสูงขึ้นทุกปี อย่างปีนี้สิบเดือนแรก ก็มีแล้ว 1,200 กรณี จากปีที่แล้วมี 700 กว่าราย ซึ่งแต่ละเว็บหรือแต่ละยูอาร์แอล (URL) ที่แจ้งมามันไม่ได้มีแค่ภาพเดียว  บางที่มีเป็นพัน หรือเป็นโฟลเดอร์ทั้งหมดเลยที่มีภาพเด็กว่าร้อยภาพ"


ปัญหาเด็กไทยที่มีภาพอนาจารส่วนหนึ่งเกิดจากการถูกล่อลวงจากผู้ใหญ่ แต่ก็มี ส่วนหนึ่งที่ทำกันเองหรือยอมรับการกระทำ ดังกล่าวก็มี เช่น มีการยอมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติถ่ายรูปแลกกับเงินเพื่อเอาไปเล่นเกม ก็พอใจแล้ว หรือบางทีเด็กชุดนักเรียนมีการถ่ายคลิปกันเอง เพื่อแลกเปลี่ยน แล้วที่สุด ก็มีคนรวบรวมอัพขึ้นเว็บไซต์ก็มี


"เราต้องยอมรับว่ายุคนี้เป็นยุคที่ผู้ใช้เป็นผู้อัพโหลดเนื้อหาเอง เพราะฉะนั้นมีเด็กกลุ่มที่ขาดการดูแลจากพ่อแม่ หรือมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ทำเรื่องเหล่านี้ขึ้น อย่าลืมว่า "เด็กทุกคนมีกล้อง"


เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองไทยยังมือใหม่กับการรับมือปัญหาอินเทอร์เน็ต ไทยฮอตไลน์ จึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่ช่วยกัน สอดส่องดูแลเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและเนื้อหาที่เป็นอันตราย (Harmful Content) เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเว็บโฮสติ้ง องค์กรทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก ฯลฯ เพื่อให้ดำเนินการกับเนื้อหาเหล่านั้น ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลาย สร้างความเสียหายรุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก  ซึ่งไทยฮ็อตไลน์เป็นอีกหนึ่งกลไกการ เฝ้าระวังทางสังคมที่ประชาชนทุกคน มีส่วนร่วม


"เราจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจว่าสิ่งที่คุณแจ้งมาผิดตรงไหน อย่างไร ควรดำเนินการอย่างไร เราก็จะส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ  เจ้าหน้าที่กระทรวงดีอี เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย รวมถึงประสานกับ ผู้โพสต์ภาพหรือเนื้อหา  ให้ลบข้อความหรือภาพนั้น  หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันการเผยแพร่ต่อ หรือบางคนติดต่อเข้ามา ทำหน้าเฟสปลอมแล้วเอารูปหรือโปรไฟล์ เราไปขายบริการเขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร  เราก็จะมีคำแนะนำเบื้องต้นให้ว่าเขาควร เก็บหลักฐาน แจ้งที่ไหนหรือ ติดตามผล อย่างไร แต่ความยากของปัญหานี้ เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเด็กชาติไหน อยู่ที่ไหน จะช่วยเหลือ ได้อย่างไร"


ส่วนถ้าเป็นภาพที่โพสต์ในต่างประเทศ ดร.ศรีดายืนยันว่าไม่อยากให้เป็นการปิดบล็อก เพราะบล็อกเป็นเพียงแค่การปิดตาไม่รับรู้ แต่ภาพเด็กก็ยังอยู่ตรงนั้น


"สิ่งที่ถูกต้องแจ้งตำรวจให้ไปจับ คนที่อัพโหลดและเว็บนั้น รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายคนที่ครอบครองภาพ  ซึ่งจากการที่เราเป็นสมาชิกของสมาคมสายด่วนอินเทอร์เน็ตสากล หรือ INHOPE (www.inhope.org)ที่ปัจจุบันมีสมาชิก สายด่วนอินเทอร์เน็ต 52 แห่ง ใน  48 ประเทศ จึงประสานงานให้เขา แจ้งประเทศสมาชิกเครือข่ายออนไลน์ ในประเทศนั้นๆ ให้เขาส่งเจ้าหน้าที่ไป ตรวจจับหรือปิดหน้าเว็บ"


ปิดไม่ได้ แต่ป้องกันได้


เมื่อถามว่าพ่อแม่ควรรับมืออย่างไร เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว ดร.ศรีดา เอ่ยว่า "จริงๆ พ่อแม่สำคัญมากเพราะเป็นคนหยิบยื่นอุปกรณ์มือถือให้ลูก แต่เรารู้ยุคสมัยนี้มันต้องเข้าถึงอยู่แล้วเทคโนโลยีดิจิทัลตามสังคมโลกมันต้องไป แต่อยากให้พ่อแม่ สอดส่องดูพฤติกรรมลูกว่าให้ไปแล้วเขาใช้มากน้อย ใช้ทำอะไร คุยกับใครบ้าง  มีผลกระทบต่อการเรียน ติดเกมไหม  ง่วงนอนในห้องเรียน และต้องดูในห้องลูก ต้องดูว่ามีอะไรผิดปกติไหม หรือดูในฮาร์ดดิสค์มีรูปโป๊หรือเปล่า


สอง เรื่องข่าวสารอันตรายจากโลกออนไลน์ต่างๆ พ่อแม่ต้องติดตามและนำมาพูดคุยกับลูกเหมือนกันเพื่อให้เขารับรู้ เช่นบอกเล่าว่าเขาโพสต์เหมือนหนูเลย หนูแชร์โลเกชั่นว่าไปกินไอติมร้านไหน มีเด็กที่ถูกล่อลวงมาแล้ว เพราะผู้ร้ายไปดักข้อมูลจากเฟสบุค เวลาลูกทำมือถือหายขึ้นมาถึงเราลบทิ้งไปแล้วเขาก็สามารถกู้ข้อมูลเหล่านี้คืนได้ ดังนั้นอย่าไปถ่ายคลิปหรือรูปพวกนี้ไว้


สุดท้าย เรื่องความรักความอบอุ่นสำคัญมาก ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยเงินด้วยสิ่งของ เด็กก็จะกลายเป็นคนเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเสี่ยงต่อคนเข้ามาล่อลวงด้วยสิ่งของได้ง่าย เป็นเรื่องที่เราต้องปลูกฝังค่านิยมการเห็นคุณค่าในตัวเองให้กับลูกว่ามันอยู่ที่ไหน ไม่ใช่คนที่มากดไลค์ เขามาชมไม่ได้แปลว่าเขาชอบเราจริงๆ แต่เขาหวัง ผลประโยชน์อย่างไร ให้เด็กไม่ติดฟุ้งเฟ้อ ไม่หาเงินจากทางนี้"


สื่อการอ่าน สื่อสีขาว?


แม้จะรู้ว่าสื่ออินเทอร์เน็ตคือลูกอม แฝงภัยร้าย แต่จะให้พ่อแม่อย่างเราคอยควบคุมหรือดูแลลูกตลอดเวลาก็คง เป็นไปไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเสริมภูมิคุ้มกันให้กับลูก โดยหนึ่งในนั้นยังมี "สื่อการอ่าน" ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือ ที่มีประโยชน์มากกว่าโทษ และเหมาะสำหรับพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชนในวัยของเขา


"ฉลาดรู้ทันสื่อดิจิทัล" คืออีกผลงานจาก การสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน  (สสย.) ร่วมกับ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรม การอ่าน และเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์ สังคม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ไอเดียสั้นๆ และตรงประเด็นที่ "ฉลาดรู้ทันสื่อ" ต้องการนำเสนอคือ ความมุ่งหวังให้หนังสือนิทานภาพเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสาร และนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ ด้วยเนื้อหาที่มุ่งให้ผู้อ่านเรียนรู้และตระหนักถึง อิทธิพลของสื่อใหม่แบบอ้อมๆ ไม่ว่าจะเป็น "หมาป่ากับลูกแกะ" ที่บอกเล่าเรื่องของหมาป่าเกเรมาเจอลูกแกะ และอยากกินลูกแกะ จึงคิดหาอุบายต่างๆนานา โดยใช้สื่อออนไลน์ ทั้งการตกแต่งภาพ การปลอมโพสต์ด่าว่า ฯลฯ ซึ่งเป็นฝีมือของโอม รัชเวทย์ ส่วนอีกเรื่อง "ดีลีท" โดย สละ นาคบำรุง การ์ตูนสะท้อนปัญหาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (cyberbullying) ที่มีที่มาจากความแค้นของ "น้องตาล" ที่ต้องการเอาคืนเพื่อน ด้วยการโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสมของเพื่อนๆ ในสื่อออนไลน์ สร้างความวุ่นวายให้กับทุกคนในโรงเรียน หรืออีกผลงานจาก พาณี อิทธิบำรุงรักษ์ กับ "กระต่ายน้อยไม่ตื่นตูม" เรื่องราวของกระต่ายน้อยที่พึ่งรู้จักสื่อจอใสเป็นครั้งแรก ที่มีแต่โฆษณาเร้าใจจนทำให้กระต่ายน้อยอยากได้สินค้าตามโฆษณา  คุณแม่จะมีวิธีอธิบายให้กระต่ายน้อยเข้าใจและรู้ทันได้อย่างไร


หากใครสนใจนิทานภาพและการ์ตูนทั้ง 10 เล่มนี้ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรี ที่เว็บไซต์เท่าทันสื่อของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน www.cclickthailand.com และเว็บไซต์แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน www.happyreading.in.th


ท้ายสุดเมื่อไม่สามารถ "ปิดกั้น" ได้  แต่เราสามารถ "ป้องกัน" ได้ ขอเพียง ผู้ปกครองและคนใกล้ตัวจำเป็นต้องส่งเสริม ให้กับเด็กและเยาวชนมีทักษะชีวิต รู้เท่าทัน ตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม คือภูมิคุ้มกัน ที่แข็งแกร่งในการรับมือกับทุกสื่อและทุกภัยของลูกแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code