อยู่อย่างเข้าใจ “เอชไอวี” เราอยู่ร่วมกันได้
เรื่องโดย : ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th
ให้สัมภาษณ์โดย : ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และป๊อป (นามสมมติ) ผู้ที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ข้อมูลบางส่วนจาก : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, แผ่นพับให้ความรู้ โดยสภากาชาดไทย และหนังสือ สิ่งที่เธอต้องรู้ สิ่งที่เขาต้องรู้ โดย สสส.
ภาพประกอบโดย : นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่มีสุขภาพที่ไม่ต่างไปจากผู้ที่ไม่มีเชื้อ อันเนื่องมาจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ตามสิทธิด้านสุขภาพที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิบัตรทอง ผู้ติดเชื้อที่เข้าถึงการรักษาจึงสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี
“ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีที่กินยาต้านไวรัสเกิน 6 เดือนขึ้นไป และตรวจไม่เจอพบเชื้อไวรัสในเลือด คน ๆ นั้นจะไม่สามารถส่งต่อเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้” ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในทางการแพทย์เรียกกระบวนการนี้ว่า U = U โดย U ตัวแรกมาจาก Undetectable (ตรวจไม่พบ) ส่วน U ตัวที่สองมาจาก Untransmittable (ไม่ถ่ายทอด) ดังนั้น U = U จึงหมายความว่า เมื่อตรวจไม่เจอ (เชื้อเอชไอวี) ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ได้เก็บข้อมูลจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กินยาต้านไวรัสเป็นประจำจนตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือด และมีคู่ที่ไม่ติดเชื้อ โดยที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งแบบสวมถุงยางอนามัยและไม่สวมถุงยางอนามัยกับคู่ พบว่า
- ไม่พบการติดเชื้อเพิ่มจากคู่ที่ใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำ
- ไม่พบการติดเชื้อเพิ่มจากคู่ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยแต่กินยาต้านเป็นประจำ
- พบการติดเชื้อของคู่ที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่รู้ผลเลือด ซึ่งหมายถึงไม่ได้ติดเชื้อจากคู่ที่เป็นผู้ติดเชื้อที่กินยาต้านไวรัสเป็นประจำ
“คนที่ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนใหญ่ติดมาจากคนที่ไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อ และไม่ได้ป้องกัน” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ เพิ่มเติมว่า “การที่ผู้ติดเชื้อกินยาต้านไวรัสเป็นประจำ ทำให้พวกเขาเหล่านี้ปลอดภัยยิ่งกว่าคนที่ไม่เคยตรวจเลือดและไม่รู้ผลเลือดตนเอง ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่คนในสังคมจะรังเกียจผู้ติดเชื้อ แต่ควรสนับสนุนให้ทุกคนไปตรวจเลือดมากกว่า”
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์
- เอชไอวี (HIV Human Immunodeficiency Virus) หมายถึงเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปทำลายเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย หากมีไวรัสเอชไอวีในปริมาณที่มาก ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะน้อยลง ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- เอดส์ (AIDS ย่อมาจาก Acquired Immune Deficiency Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจาก ระบบภูมิต้านทานของร่างกายเสื่อมลง เนื่องจากได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย โดยจะไม่เกิดอาการเจ็บป่วยในทันที แต่จะทำลายภูมิคุ้มกันไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถควบคุมหรือจัดการกับเชื้อโรคบางอย่าง ทำให้เกิดโรคฉวยโอกาส เช่น วัณโรค เชื้อราเยื่อหุ้มสมอง ฯลฯ ซึ่งทุกโรค รักษาให้หายได้
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หมายความว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย แต่ร่างกายยังแข็งแรง และสามารถใช้ชีวิตได้เช่นคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่กินยาต้านเอชไอวีสม่ำเสมอ และดูแลป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อเพิ่ม
- ผู้ป่วยเอดส์ หมายความว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีความเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส ซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและความเจ็บป่วยเหล่านี้สามารถดูแลรักษาให้หายได้
- ภูมิคุ้มกัน หมายความว่า กลไกการป้องกันตนเอง เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอม โดยระบบการทำงานของเซลเม็ดเลือดขาว
- โรคฉวยโอกาส หมายความว่า โรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนไม่สามารถควบคุมโรคที่โดยทั่วไปจะไม่เกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ เช่น วัณโรค ปอดอักเสบชนิด PCP(Pneumocystis Carinii Pneumonia) หรือเชื้อราเยื่อหุ้มสมอง
- ไวรัสโหลด (Viral load) คือปริมาณไวรัสในเลือด ซึ่งในที่นี้หมายถึงปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด การมีเชื้อเอชไอวีในเลือดมากอาจมีผลให้จำนวน CD 4 ลดลง(CD 4 คือเม็ดเลือดขาวกลุ่มที่จัดระบบภูมิต้านทานการติดเชื้อ) ผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ จะพบว่ามีจำนวนของ CD 4 เพิ่มขึ้นและปริมาณไวรัสลดลง นั่นคือ การทานยาต้านเป็นประจำ จะทำให้เชื้อเอชไอวีในเลือดมีน้อยลง
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 'เอชไอวี' สามารถติดต่อได้เพียง 2 ช่องทางหลักเท่านั้น คือ
- การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศสัมพันธ์ที่มีการสอดใส่โดยไม่ได้ป้องกัน (ด้วยถุงยางอนามัย) ทั้งทางช่องคลอดและช่องทวาร ชายกับหญิง และชายกับชาย (เพราะชายหญิงก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ทางทวารได้)
- ติดต่อทางเลือด ซึ่งมีเพียงการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และการติดเชื้อจากแม่(ที่เป็นผู้ติดเชื้อ)สู่ลูกเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันถ้าแม่ฝากครรภ์และได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีต่อเนื่อง ก็จะทำให้ทารกลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีลงเหลือน้อยกว่า 2%
เอชไอวี ป้องกันได้ เอดส์รักษาได้
การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากเพศสัมพันธ์ ได้แก่
- การใช้ถุงยางอนามัย เป็นวิธีป้องกันที่มีค่าใช้จ่ายน้อย มีประสิทธิภาพสูง และสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น หนองใน ซิฟิลิส รวมทั้งป้องกันมะเร็งปากมดลูก ได้ด้วย
- การกินยาเพร็พ (PrEP ย่อมาจาก Pre Exposure Prophylaxis) ที่สามารถป้องกันเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มผู้ที่ไม่มีเชื้อแต่มีความเสี่ยงสูง แต่ตัวยานี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศโรคอื่น ๆ ได้ (สามารถอ่านเรื่องของยาเพร็พและเป๊ปได้ที่ “เพร็พ-เป๊ป กัน-แก้ เอชไอวี” http://llln.me/CxRYSZn)
- อื่นๆ เช่น การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย การใช้ถุงยางอนามัยสตรี (ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย) เป็นต้น
คำบอกเล่าจากการใช้ชีวิตคู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ป๊อป (นามสมมติ) เผยประสบการณ์ที่รู้ว่าคนรักของตนเองติดเชื้อเอชไอวี โดยตัดสินใจว่า หลังจากที่รู้ก็ตัดสินใจว่าจะลองให้โอกาสคบ เพราะตนเองมองว่า คนทั่วไปเมื่อรู้ว่าแฟนติดเชื้อเอชไอวี อาจไม่ให้โอกาสในการคบต่อ แต่ตนอยากจะให้โอกาสกับแฟน โดยได้เริ่มศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีและตั้งใจจะใช้ชีวิตแบบปกติกับคนรักให้นานที่สุด
“ผมไม่ได้ดูแลอะไรเขาเป็นพิเศษ เพราะเขาเองก็ดูแลตัวเองดี กินยาต้านเชื้ออยู่เป็นประจำ ซึ่งผมมองว่าการทำตัวเป็นปกติและใช้ชีวิตให้ปกติที่สุดเป็นสิ่งที่ทำให้แฟนของผมไม่คิดกังวลมาก”
ป๊อป กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับเอชไอวี หรือปรึกษาปัญหาสุขภาวะทางเพศ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนปรึกษาเอดส์ โทร. 1663 ทุกวันในเวลา 09.00-21.00 น.หรือที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม https://www.facebook.com/1663telephonecsg โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือเว็บไซต์เลิฟแคร์สเตชั่น www.lovecarestation.com ผ่านทางห้องแชท ผู้ที่ต้องการทราบผลเลือดของตนเองสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาและตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยแสดงบัตรประชาชน และสามารถรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ฟรีตามสิทธิ ส่วนเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถรับบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากผู้ปกครอง
‘เราสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้
หากเราเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน’
อ่านบทความเกี่ยวกับโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวีเพิ่มเติมได้ที่
- เราเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีรึเปล่า? – http://llln.me/Hw7bi1R
- เมื่อติดเชื้อเอชไอวี ร่างกายจะเป็นอย่างไร? – http://llln.me/AnQB7rX
- ความจริงเกี่ยวกับ "เอชไอวีและเอดส์" – http://bit.ly/2Kq2hAM
- เพร็พ-เป๊ป กัน-แก้ เอชไอวี – http://llln.me/CxRYSZn
- `เพร็พ` ทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อ `เอชไอวี` – http://llln.me/Cxpt9wd
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ – http://bit.ly/2N0t34r
- Love Care Station กล้ารักกล้าเช็ค – http://bit.ly/2Ivu1Su