อยู่อย่างมีสุขอย่างไร ในสังคมผู้สูงอายุ

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)


อยู่อย่างมีสุขอย่างไร ในสังคมผู้สูงอายุ thaihealth


ความต่างระหว่างวัยดูจะเป็นปัญหาไม่น้อยในสังคมไทย ที่กำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัยในครอบครัวเดียวกัน ที่บางครั้งคนหนุ่มสาวหรือวัยรุ่นมักจะมองว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่น่าเบื่อ เชื่องช้า และชอบจู้จี้ขี้บ่น นำมาสู่ระยะห่างและความไม่เข้าใจกัน จนมีอัตราผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเพิ่มสูงขึ้น


ทั้งนี้ใน 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุสากล" หรือ "International Day of Older Persons" โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) จากการประชุมขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1990 ( พ.ศ. 2533)


ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับวัยสูงอายุเป็นอย่างมาก และมีการกำหนดวันเพื่อเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงคุณงามความดีของผู้สูงอายุ อย่างเช่น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" (National Grandparents Day) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีวันให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุเช่นกัน (Respect for the Aged Day) ซึ่งตรงกับวันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี


สำหรับในประเทศไทยเอง ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุเช่นกัน โดยได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ของไทย เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ตลอดจนมีการจัดตั้ง “มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)” โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า “Foundation of Thai Gerontology Research and Development institute (TGRI)”  เพื่อศึกษาวิจัยและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดำเนินการด้านผู้สูงอายุสำหรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และวิทยาการเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้แก่สังคมโดยรวม


นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ให้ข้อมูลว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ( Complete Aged Society) โดยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 16 และปี 2574 ก็จะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super AgedSociety) ซึ่งแนวทางรับมือสังคมสูงวัยมี 4 ประการ ได้แก่ 1. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างทั้งในบ้านและนอกบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิต เช่น ปรับเปลี่ยนพื้นที่ในห้องน้ำให้เหมาะสม 2. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี สนับสนุนให้กลุ่ม/ชมรมผู้สูงอายุมีบทบาทและความเข้มแข็ง 3. เสริมสร้างสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ จัดระบบบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมกับการให้บริการผู้สูงอายุ และ4. ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน


อยู่อย่างมีสุขอย่างไร ในสังคมผู้สูงอายุ thaihealth


นพ.บรรลุ ยังกล่าวอีกว่า การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุในด้านคุณภาพชีวิต สิทธิที่พึงได้ต่าง ๆ เป็นจุดพื้นฐานของการดูแลผู้สูงอายุในสังคม แต่การสร้างความเข้าใจ และปรับทัศนคติในการอยู่ร่วมกันที่มีต่อผู้สูงอายุก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากต้นทางในการรับมือสังคมผู้สูงอายุที่แท้จริงนั้นคือ “ความเข้าใจ” ของคนในสังคม


และล่าสุด มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายจัดงานเสวนา “ต่าง GEN ไม่ต่างใจ” ดูหนัง-ฟัง- คุย เพื่อคนทุกวัย เพื่อสร้างความเข้าใจและทัศนคติใหม่ในการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุในทุกๆ มิติ  โดยมี อ.ประมวล เพ็งจันทร์ นักเขียน และปรัชญา ร่วมให้แนวคิดเรื่องการสร้างความเข้าใจผู้สูงอายุ


อ.ประมวล บอกว่า อายุและช่วงวัยของคนเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ เพราะในแต่ละช่วงวัยเราจะพบกับประสบการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน หลายคนในสังคมกลัวความแก่ เนื่องจากไม่อยากจะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง และมองว่าความแก่เป็นสิ่งที่นำพาตัวเราไปเป็นบุคคลที่ไร้ค่า และรอความตายเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความคิดที่เกิดจากความไม่เข้าใจและไม่เห็นคุณค่าของความสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต


หากถามว่าจะทำอย่างไร? ให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสภาวะของความต่างวัยนี้ได้ คือ การมี “พื้นที่ของความเข้าใจ” ให้แก่ผู้อื่น ถ้าเป็นผู้สูงอายุก็ต้องมีพื้นที่ให้กับวัยอื่น เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น อย่ามองว่าตนเองไม่มีศักยภาพที่จะทำอะไรได้อีก ขณะที่วัยอื่นก็ต้องมีพื้นที่ให้กับผู้สูงอายุ ให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุ และช่วยให้ท่านมีความภาคภูมิใจ เช่น เวลามีปัญหาอาจไปขอคำปรึกษาจากท่าน ไม่ดูถูกเหยียดหยามท่าน ให้การเลี้ยงดูและดูแลท่าน คอยถามไถ่เวลาท่านไม่สบายพาไปหาหมอ ช่วยดูแลจนหายจากเจ็บไข้ ท่านจะได้รู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญต่อครอบครัวยังมีคนห่วงใยคอยดูแลอยู่ทำให้ท่านรู้สึกอบอุ่นใจ และสามารถที่จะต่อสู้กับชีวิตในวัยสูงอายุได้ดีและมีความสุข”อ.ประมวล กล่าว


ทั้งนี้ในงาน เสวนา “ต่าง GEN ไม่ต่างใจ” ดูหนัง-ฟัง- คุย เพื่อคนทุกวัย ยังได้เปิดตัวหนังสั้น 4 เรื่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม โดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยได้แก่ 1 “Relations Chick” กำกับการแสดงโดย ศิวัชญา ศิวโมกษ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 2. “Tester” กำกับการแสดงโดย กฤติน ทองใหม่ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและ  3. “ภาพหน้าร้อนที่หายไป” กำกับการแสดงโดยมนธิการ์ คำออน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 4. "สุดไกลตา" กำกับการแสดงโดย “พัฒนะ จิรวงศ์” ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นมือรางวัล


โดยสำหรับผู้ที่สนใจรับชมภาพยนตร์ชุดทั้ง 4 เรื่อง จะมีการเผยแพร่อออกอากาศทางไทยพีบีเอสในรายการ Talk to Films ซึ่งออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 14.00 น. ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2561


Shares:
QR Code :
QR Code