อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

ที่มา : ทีมชีวามิตร


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข thaihealth


WORK SHOP "อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข" โดย สสส และ บ. ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม วันที่ 27 มกราคม 2561 ห้องอาศรม อาคารศูนย์เรียนรู้ สสส.


ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564) ประชากร 1 ใน 5 ของสังคมไทย จะเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุในสังคมไทยสูงติดอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซีย สังคมไทยจึงไม่อาจปฏิเสธการจมดิ่งสู่วิกฤตสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ที่ไม่เพียงแต่บั่นทอนประสิทธิภาพกำลังการผลิตที่ตกต่ำ จนเกิดสภาพเศรษฐกิจที่ชะงักงัน (Economic Stagnation) แต่ยังสร้างปัญหาและภาระทางสังคมตามมาได้ หากไม่มีการวางแผนระบบบริการ การดูแลและรักษา เพื่อบริหารจัดการคุณภาพชีวิตในระยะท้ายที่ดีเพียงพอ (สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล, 2559)


ในสถานการณ์ที่โครงสร้างทางประชากรในสังคมไทย มีอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุ (Old-age dependency ratio)  เข้าใกล้ระดับวิกฤต โดยในปัจจุบันอัตราการพึ่งพิงอยู่ที่ระดับ วัยแรงงาน  4.33 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน และอีกเพียง 4 ปีข้างหน้า อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุจะอยู่ที่ระดับวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ภาระการดูแลในที่นี้ จึงเป็นปัญหาที่หนักหน่วงทั้งในระดับปัจเจกและในระดับประเทศ ซึ่งยังคงไม่ได้รับการแก้ไขหรือวางโครงสร้างการดูแล เพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่จะช่วยผดุงสังคมไทยให้มีคุณภาพไว้ได้


ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมถึงปัญหาทางการแพทย์ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคเรื้อรังในผู้ป่วยระยะท้ายที่อยู่ในสภาวะผู้ป่วยติดเตียงที่มีจำนวนสูงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ (กระทรวงสาธารณสุข,2559) และปัญหาการขาดองค์ความรู้และความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลใกล้ชิดอย่างมาก และสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่มีต้นทุนที่สูงถึง 6 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2580) จะเพิ่มขึ้นเป็น เกือบ 2 แสนล้านบาท


ความต้องการทางจิตใจของผู้ป่วยระยะท้าย เป็นอีกมิติหนึ่งที่ผู้ดูแลยังไม่ให้ความตระหนัก ในขณะที่ผู้ดูแลพยายามมุ่งยื้อชีวิตของผู้ป่วย ที่การรักษาไม่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิต ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว ผู้ป่วยยังคงมีความรู้สึกและความต้องการไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป อาทิ ต้องการความรักและการเอาใจใส่จากบุคคลอันเป็นที่รักอย่างใกล้ชิด ต้องการสิทธิในทางเลือกที่เป็นไปได้ ต้องการความเคารพตามสถานภาพของตนเอง ต้องการปราศจากความเจ็บปวด และการแทรกแซงด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนปราศจากการทะเลาะกันของคนรักที่เกี่ยวเนื่องกับตนเอง (สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย)


จากความตระหนักในการมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี ในโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  จึงร่วมมือกันเพื่อผลักดันคนไทย ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้ และบริการสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพให้เกิดคุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อชีวิตปลายทางที่มีทางเลือกอย่างเหมาะสม พอดี สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำหรับทุกคนในทุกมิติ  เพื่อการพัฒนาเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาแก่ผู้สูงวัย อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมการรับมือสังคมผู้สูงวัยของภาคประชาชนโดยรวมอีกด้วย โดยการจัด work shop เผยแพร่องค์ความรู้และความเข้าใจในการจัดการในด้านต่างๆ ให้แก่สังคม โดยเลือกใช้วิธีสื่อสารผ่านกลุ่มนักสื่อสารที่มีอิทธิผลในสังคมไทย (Influencers/Opinion Leaders) เพราะคนกลุ่มนี้มีผู้ติดตามประจำเป็นจำนวนมาก  “Influencers/Opinion Leaders” จึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการสร้างความตระหนักให้เข้าถึงสังคมในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้ายได้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม


บ.ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม และ สสส. ขอเรียนเชิญ influencer  (opinion leader) บุคคลผู้มีอิทธิพลทางความคิด เข้าร่วม WORK SHOP "อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข" วันที่ 27 มกราคม 2561 เวลา 0900 – 1600 น. ณ ห้องอาศรม อาคารศูนย์เรียนรู้ สสส

Shares:
QR Code :
QR Code