อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลสู่เป้าหมายการปฏิรูป


โศกนาฏกรรมที่จังหวัดมิยากิ ของกรุงโตเกียว บนเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น จากมหันตภัยของธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ  เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554น่าจะกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงความสำคัญอันยิ่งยวดในกระบวนการตรวจสอบ ทบทวน ศึกษา หาข้อมูลต่างๆ เพื่อการป้องกันและแก้ไขเหตุอันไม่พึงปรารถนาที่อาจจะเกิดจากความไม่แน่นอนของลมฟ้าอากาศในโลกปัจจุบันและอนาคตไม่มากไม่น้อยแตกต่างกันไป  ขึ้นอยู่กับภาระ หน้าที่และความรับผิดชอบ


สำหรับผมแล้ว…ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นอันเกิดจากธรรมชาติ นอกจากทำให้เราเห็นภาพความน่ากลัวของคลื่นยักษ์ที่กวาดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าราบคาบพนาสูรแบบไม่บันยะบันยังว่าเป็นรถยนต์ เรือยอร์ช เครื่องบิน บ้านเรือนอย่างสดๆ ร้อนๆ เพราะความรวดเร็วและทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารสาธารณะในยุคดิจิตอลนี้แล้ว ผมอดไม่ได้ที่ต้องนึกถึงคำปาฐกถาของ อาจารย์ประเวศ วะสี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปภายใต้หัวข้อ “เทศาภิวัฒน์ : ปฏิรูปการบริหารประเทศ” เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมาในเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย


ทุกเวทีอาจารย์หมอประเวศตอกย้ำเสมอว่า..การปฏิรูปประเทศคือการจัดประเทศเสียใหม่ให้มั่นคงยั่งยืน..แล้ววันนั้น อาจารย์ก็เชียร์อัพหรือปลุกให้ทุกฝ่ายลุกขึ้นปฏิวัติการคิดและการทำงานที่เคยเอา “กรม” เป็นที่ตั้ง ให้มาเป็นเอา “พื้นที่” มาเป็นตัวกำหนด เพราะพื้นที่เป็นความจริงของชีวิตและการอยู่ร่วมกัน มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คน วัฒนธรรม ศาสนา องค์กรและสถาบันต่างๆมากมาย แต่กรมเป็นการรวมศูนย์อำนาจจากข้างบน ทำให้ประเทศไทยง่อนแง่นขาดความมั่นคง


 “การพัฒนาใดๆ ถ้าไม่เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้งจะผิดพลาดเสมอ” เป็นคำกล่าวของอาจารย์ประเวศที่เน้นย้ำ แต่ที่ผมบอกว่า เห็นภาพที่ญี่ปุ่นแล้วนึกถึงคำของประธานสมัชชาปฏิรูปนั้น เพราะตอนหนึ่งท่านระบุว่า “การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลคือเป้าหมายร่วม”


ขยายสาระใจความได้ดังนี้ …


การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับธรรมชาติแวดล้อม คือเรื่องใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ วิกฤติการณ์ทั่วโลกขณะนี้คือวิกฤติการณ์แห่งการอยู่ร่วมกัน ทั้งระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม เพราะการพัฒนาเอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้ง เช่นเอาอำนาจเป็นตัวตั้ง เอาเงินเป็นตัวตั้ง เอาทฤษฎีหรือทิฐิเป็นตัวตั้ง เมื่อไม่ได้เอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง จึงเกิดวิกฤติการณ์การอยู่ร่วมกัน


อะไรที่สมดุลก็จะสงบ เป็นปรกติ และยั่งยืน


ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีปัญหาขาดความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และมองข้ามความจริงไม่ได้ว่า วิกฤติปัญหาของประเทศเรานั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาการอยู่ร่วมระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน


แล้วประเทศไทยล่ะ!?! ควรหรือไม่กับการที่จะนำเอาปัญหาและประสบการณ์ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาตินี้มาเป็นอุทาหรณ์ เพื่อที่จะได้ร่วมมือร่วมใจกันหาทางออก หรือป้องกันมิให้ธรรมชาติเกิดความไม่พึงพอใจ กระทั่งต้องประท้วง ประทุ ออกมาซึ่งความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว หรือเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ                    


ความพยายามในการนำเสนอปฏิรูปจัดการถือครองที่ดินของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยชุดนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน ร่วมด้วยช่วยกันกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปของอาจารย์ประเวศ ก็นับได้ว่าเป็นบริบทหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความสมดุลในการอยู่ร่วมระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับธรรมชาติ


 


อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดก็มิได้อยู่บนเส้นทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ส่วนใหญ่จะยอมรับว่า ทางออกนี้เป็นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธ หากอยากเห็นประชาชนอยู่ดีกินดีมีสุขภาวะตามเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาล เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า เจ้าของที่ดินหรือแลนด์ลอร์ดกลุ่มใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบในการปฏิรูปการถือครองที่ดินนี้ คือ นักการเมืองผู้มีอำนาจและบริหารศูนย์กลางของอำนาจอยู่


ฉะนั้น ..สมการเพื่อทางออกที่ดีในการสร้างความสมดุลเพื่อการอยู่ร่วมอย่างสันติและมีสุขภาวะ ก็คงต้องเริ่มจาก เทศาภิวัฒน์” หรือการจัดการตนเองในพื้นที่หรือชุมชนให้เข้มแข็งจากล่างเพื่อจะได้มีพลังต่อรองกับอำนาจในส่วนบนต่อไปนั่นเอง


เท่าที่ผมทราบ และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการสร้างพลังชุมชนเข้มแข็งมาบ้าง ผมก็รู้สึกว่า มีหลายพื้นที่ครับที่เขาลงมือสร้างความสมดุลระหว่างชุมชนกับธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่มีข่าวออกสู่สาธารณะน้อยครั้งเท่านั้น เพราะไม่ได้เป็นข่าวอยู่ในความสนใจ นอกจากเป็นวิถีชุมชนปกติ


อย่างน้อย..โครงการจัดการภัยพิบัติ โดยชุมชนท้องถิ่นนั้น ผมก็เห็นว่า เป็นความพยายามในการเรียนรู้ของมนุษย์ที่จะช่วยตัวเองและอยู่ให้ได้กับธรรมชาติแบบสมดุล ไม่ทำร้ายหรือเอาเปรียบกันและกัน อาทิ การจัดการปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ของเครือข่ายลุ่มน้ำคลองละวาน ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ก็เป็นตัวอย่างของความตื่นตัวในชุมชนที่จะรวมพลังกันแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ ที่สร้างความเสียหายอย่างมากมาตลอดหลายปีให้บรรเทาเบาบางลง


ชุมชนในพื้นที่และชุมชนเขตรอยต่อระหว่างตำบลที่นั่น ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเรียกว่า “เครือข่ายพัฒนาลุ่มน้ำครอน-พิชัย” และต่อมามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ สกว. ก็เข้าร่วมสนับสนุน โดยมีการประชุมวางแผน สืบค้นองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม สำรวจเส้นทางการไหลของน้ำ ขับเคลื่อนเครือข่ายเพื่อการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น


การอยู่ร่วมกันให้ได้กับธรรมชาติ ก็คือการสร้างความสมดุลในการมีชีวิตของมนุษย์โลก ความพยายามของเกษตรกรในลุ่มน้ำคลองละวาน คือตัวอย่างเล็กๆ บนพื้นที่โลกใบนี้ เหมือนการเตรียมรับภัยพิบัติของเครือข่ายสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ได้เพียงแต่มีปัญหาภัยจากฝีมือของมนุษย์ แต่เขาต้องประสบกับภัยน้ำท่วมและไฟไหม้ป่าบ่อยครั้ง หรือแม้แต่เครือข่ายในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เคยเจอเหตุการณ์วิปโยคที่กระทูน และคีรีวงมาแล้ว วันนี้เขาก็รวมตัวกันเพื่อการดำรงชีวิตกลมเกลียวและกลมกลืนกับธรรมชาติให้ได้อย่างสงบ และเอื้อประโยชน์กันและกัน


จากจุดเล็กๆของพลังชุมชนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติหรืออยู่ให้สมดุลกับธรรมชาตินี้ หากจุดศูนย์กลางอำนาจ รู้จักเก็บเกี่ยวไปเป็นพลังแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้ เป้าหมายการปฏิรูปก็คงอยู่ไม่ไกล และเหนืออื่นใด เราจะได้ไม่ต้องเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสจากการถูกธรรมชาติลงโทษ เพราะเราพร้อมรับมือตลอดเวลา…จริงไหม!


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code